Hiroshi Mikitani เดินหน้านำ Rakuten ผนึกกำลัง Japan Post, Tencent และ Walmart - Forbes Thailand

Hiroshi Mikitani เดินหน้านำ Rakuten ผนึกกำลัง Japan Post, Tencent และ Walmart

Hiroshi Mikitani ซีอีโอและประธาน Rakuten อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ในญี่ปุ่น มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มสูง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากหุ้นบริษัทที่ปรับตัวสูงขึ้นราวร้อยละ 35 หลังประกาศเดินหน้าระดมทุน 2.2 พันล้านเหรียญ เพื่อต่อยอดบริการเครือข่ายมือถือ

Hiroshi Mikitani
Hiroshi Mikitani ซีอีโอและประธาน Rakuten

ในที่นี้ Hiroshi Mikitani วางแผนจะขายหุ้นอีก 4.4 ล้านหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนการถือครองหุ้นบริษัทของเขาลดลงจากร้อยละ 39.3 เป็น 34 หลังการทำธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น ขณะที่ปัจจุบัน Mikitani มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 8.6 พันล้านเหรียญ

การลงทุนครั้งใหม่นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่สูงขึ้นของอัตราการเติบโตและผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ของ Rakuten ที่จะถูกเชื่อมโยงกันด้วยบริการเครือข่ายมือถือ พร้อมผนึกพันธมิตรร่วมกับ 3 บริษัทชั้นนำจาก 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ Mikitani กล่าว

ล่าสุด Japan Post หรือไปรษณีย์ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันได้แปรรูปจากหน่วยงานรัฐเป็นเอกชนเรียบร้อยแล้ว จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ Rakuten ในอัตราร้อยละ 8.3 ซึ่งการบรรลุข้อตกลงด้านเงินทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ Rakuten สามารถเข้าถึงฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านรายของธุรกิจเครือข่ายขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ญี่ปุ่น ที่มีจุดให้บริการ 24,000 แห่งทั่วประเทศ

ในทำนองเดียวกัน Rakuten ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยในการปรับรูปแบบการทำงานของไปรษณีย์ญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย และเดินหน้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ด้าน Tencent บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน จะเข้าถือหุ้นใน Rakuten อยู่ราวร้อยละ 3.6 โดยในที่นี้ ทั้ง 2 บริษัทได้มองเห็นถึงศักยภาพของการผนึกกำลังด้านการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์และอี-คอมเมิร์ซของทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ Walmart ห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จะเข้าถือหุ้นที่ร้อยละ 0.9 โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทเคยร่วมโปรเจกต์ตัดส่งสินค้าสดในญี่ปุ่นด้วยกันมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ หากอาศัยความได้เปรียบจากการดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและระบบ internet banking และการให้บริการคอนเทนต์ Rakuten มองว่าในอนาคตจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังการให้บริการเครือข่ายมือถือได้เป็นอย่างดี โดยนับตั้งแต่ปี 2020 ที่เริ่มเปิดให้บริการดังกล่าวก็สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานกว่า 3 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แนวทางการดำเนินธุรกิจของเรามีความเรียบง่ายกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ และเราสามารถต่อยอดการให้บริการจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และผมเชื่อว่าคนไม่ได้สนใจว่าจะเป็น NTT, SoftBank หรือ Rakuten ขนาดนั้น เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การเชื่อมโยง ความสะดวกรวดเร็ว ราคา และการบริการเสริมที่เราสามารถจัดหาให้ Mikitani กล่าว

ทั้งนี้ ความพยายามของ Rakuten ในการขยายการให้บริการไปสู่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเกิดจากการต้องการชิงส่วนแบ่งในตลาดอี-คอมเมิร์ซของญี่ปุ่นจาก Amazon และคู่แข่งรายอื่นๆ

โดยในปี 2020 ที่ผ่าน ยอดขายของ Rakuten เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15.2 คิดเป็นมูลค่า 1.46 ล้านล้านเยน (1.33 หมื่นล้านเหรียญ) ขณะที่ในปีก่อนหน้าทางบริษัทขาดทุนไปกว่า 1.027 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเงินจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไปลงทุนในบริษัทลูก ที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ

หลังจากที่ Mikitani เห็นแนวโน้มการเติบโตของอินเทอร์เน็ต จึงตัดสินใจสร้าง Rakuten เว็บไซต์สำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ขึ้นมาในปี 1997 ร่วมกับ Shinnosuke Honjo (ปัจจุบันไม่ได้ทำงานที่บริษัทแล้ว) โดยในปี 2000 สามารถกวาดรายได้กว่า 30 ล้านเมื่อครั้นนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และล่าสุด ในวันที่ 1 เมษายน 2021 ที่จะถึงนี้ บริษัทวางแผนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “Rakuten Group”

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Japan’s E-Commerce Pioneer Gains $2 Billion After Partnering With Japan Post, Tencent And Walmart เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Dave Baszucki นำ Roblox แพลตฟอร์มเกมออนไลน์เข้าระดมทุนใน NYSE