เจาะลึก ‘ภูฏาน’ แดนสวรรค์เงินดิจิทัล - Forbes Thailand

เจาะลึก ‘ภูฏาน’ แดนสวรรค์เงินดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Apr 2024 | 09:00 AM
READ 6231

"ภูฏาน" ทุ่มงบหลายล้านเหรียญสร้างกิจการขุดบิตคอยน์ของตนเองอย่างเงียบๆ Forbes ได้เปิดเผยที่ตั้งอันเป็นความลับของเหมืองบิตคอยน์ที่รัฐเป็นเจ้าของซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเหล่านี้โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม


    ณ Thimphu เมืองหลวงในเทือกเขาหิมาลัยของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก ตู้คอนเทนเนอร์หลายสิบตู้จอดแอบอยู่หลังแนวเขาทางใต้ของเมือง ด้านในมีเครื่องขุดบิตคอยน์มูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ปัจจุบันภูฏานได้ปรับเปลี่ยนประเทศของตนให้เป็นแดนสวรรค์ของเงินคริปโต บนที่ดิน เงินทุน และพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการซึ่งจัดสรรให้โดยรัฐบาลอย่างเงียบๆ ด้วยความหวังว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่พอมองเห็นเค้าลางได้ในปัจจุบัน

    อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของภูฏานไม่เคยเปิดเผยถึงทำเลที่ตั้งหรือขอบเขตของสถานที่ดังกล่าว และเมื่อภูฏานกลายเป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งเหมืองบิตคอยน์แห่งชาติเมื่อราว 4 ปีก่อน มีผู้คนซึ่งอยู่นอกประเทศภูฏานน้อยคนนักที่ล่วงรู้ความจริงข้อนี้

    รัฐบาลเริ่มพูดถึงการลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัลของตนเองหลังจากที่ Forbes ได้นำเสนอรายละเอียดของพอร์ตมูลค่าหลายล้านเหรียญเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี 2023 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยหลังจากการล้มละลายของผู้ให้กู้เงินดิจิทัลอย่าง BlockFi และ Celsius โดยภูฏานได้ฝากทรัพย์สินดิจิทัลจำนวนมหาศาลไว้กับผู้เล่น 2 รายนี้

    ปัจจุบัน Forbes ได้เปิดเผยบรรดาทำเลที่น่าจะเป็นสถานที่ตั้งของเหมืองบิตคอยน์ 4 แห่ง ซึ่งดำเนินการโดยอาณาจักรมังกรสายฟ้าตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่มีความรู้ในเรื่องการลงทุนในคริปโตของภูฏาน และได้รับการยืนยันผ่านภาพถ่ายดาวเทียมจาก Planet Labs, Satellite Vu และ Google Earth


    ภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านี้แสดงให้เห็นกลุ่มเหมืองบิตคอยน์ที่เรียงตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีความยาว ระบบทำความเย็นของศูนย์ประมวลผลข้อมูล รวมถึงสายไฟฟ้าแรงสูงและหม้อแปลงไฟฟ้า อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนเลย

    แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เหมืองบิตคอยน์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นต้นแบบของการดำเนินกิจการเหมืองบิตคอยน์ของภูฏานตั้งอยู่ใกล้ Dochula Pass ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและการเมือง โดยเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถาน 108 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับนายทหารชาวภูฏานผู้วายชนม์

    ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Planet Labs และ Google Earth แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการปรับพื้นที่ในปี 2020 และการก่อสร้างน่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2022 ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นกลุ่มเหมืองบิตคอยน์สีเขียวพร้อมหลังคาสีขาวซึ่งโอบล้อมด้วยผืนป่าความยาวหลายกิโลเมตร ถึงแม้ว่าจะตั้งอยู่ห่างจากถนนหลวงที่มีการจราจรคับคั่งไปเพียงไม่กี่ก้าว แต่ภาพถ่ายจาก Google Street View ก็แสดงให้เห็นชัดว่าเหมืองบิตคอยน์แห่งนี้ซ่อนตัวอยู่อย่างมิดชิดจากผู้สัญจรผ่านไปมาที่ไม่ทราบถึงการมีอยู่ของสถานที่ดังกล่าว

    เหมืองบิตคอยน์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ใกล้กับ Trongsa เมืองทางตะวันออกของ Thimphu และเป็นวังเก่าของราชวงศ์ Wangchuck ซึ่งปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบัน เหมืองบิตคอยน์แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในป่าทึบในตำบล Dagana ใกล้กับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง


    จุดที่น่าจะเป็นเหมืองบิตคอยน์แห่งที่ 4 และเป็นแห่งที่ใหญ่ที่สุดของภูฏานตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง นั่นก็คือ “เมืองแห่งการเรียนรู้” ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ยักษ์ของรัฐบาลที่มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ โดยโครงการดังกล่าวเป็นความพยายามของภาครัฐในการจัดตั้งศูนย์กลาง “ทางการศึกษาและความรู้” ระดับนานาชาติในภูฏาน ซึ่งท้ายที่สุดก็ประสบกับความล้มเหลว

    โดยโครงการนี้เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง การบริหารงานที่ผิดพลาด และความล่าช้านับครั้งไม่ถ้วนนี้ถูกยกเลิกไปในปี 2014 หากแต่สิ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ได้แก่ ถนน สะพาน น้ำประปา และสายไฟฟ้า ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการก่อสร้างสถานที่ตั้งเหมืองบิตคอยน์

    หน่วยบริหารการลงทุนแห่งชาติของประเทศภูฏาน หรือ Druk Holdings & Investment (DHI) ยืนยันว่า เหมืองบิตคอยน์มีอยู่จริง DHI ให้ข้อมูลกับ Forbes โดยผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นตัวแทนของตนว่า “ที่ตั้งของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการขุดบิตคอยน์ในภูฏานได้รับการเลือกโดยพิจารณาจากสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำเนินงานอย่างเช่น กระแสไฟฟ้าและปัจจัยอื่นๆ อีกหลายต่อหลายอย่าง”

    อย่างไรก็ตาม DHI ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับที่ตั้งของเหมืองบิตคอยน์ โดยกล่าวว่า “DHI จะไม่เปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กร”

    บิตคอยน์เป็นโครงการที่มีโอกาสประสบความสำเร็จน้อย ซึ่งได้รับการเพิ่มเข้าไปในแผนแม่บททางเศรษฐกิจของภูฏาน การเงินของประเทศซึ่งมีที่มาจากรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกไฟฟ้าส่วนเกินจากพลังงานน้ำปริมาณมหาศาลให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียมาเป็นเวลานาน

    แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้รายได้ต่อปีที่ 88.6 ล้านเหรียญซึ่งภูฏาณเรียกเก็บจากค่าธรรมเนียมวีซ่ารายวันในอัตรา 65 เหรียญนั้นหดหาย และทำให้ต้องหาวิธีการรับมือกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

    ข้อมูลจากหลายแหล่งที่มาระบุว่าเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลภูฏานเริ่มเปิดการเจรจากับนักขุดบิตคอยน์และซัพพลายเออร์ในปี 2020

    DHI ซึ่งกำกับดูแลธุรกิจบิตคอยน์ของภูฏานให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง The Bhutanese ว่า ตน “เริ่มเข้าวงการขุดบิตคอยน์” ในตอนที่สกุลเงินดิจิทัลนี้มีราคาอยู่ที่ 5,000 เหรียญ (บิตคอยน์มีราคาอยู่ในระดับนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน ปี 2019 แต่มูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 36,000 เหรียญ) (เรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ใน Forbes Asia ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2023)

    ข้อมูลการนำเข้าและภาพถ่ายดาวเทียมของภูฏานเองชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการขุดบิตคอยน์ของภูฏานเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในปี 2020 ในเดือนพฤษภาคมเมื่อ Forbes ขอให้ DHI ยืนยันถึงกำหนดเวลาดังกล่าว โฆษกของกองทุนกล่าวเพียงว่า การลงทุนในบิตคอยน์เริ่มต้นขึ้น “ภายในปี 2019” โดยเสริมว่า “มูลค่าทรัพย์สินดิจิทัลสุทธิของเราในปัจจุบันยังคงเป็นบวก” ราคาบิตคอยน์ตกลงอย่างฮวบฮาบจาก 69,000 เหรียญในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 จนเหลือไม่ถึง 17,000 เหรียญในเดือนธันวาคมปี 2022

    แหล่งข่าวหลายรายในภูฏานให้ข้อมูลกับ Forbes ว่า ปัจจุบันเหมืองบิตคอยน์เป็นความลับที่เปิดเผย ถึงแม้ว่าทั้งรัฐบาลภูฏานและ DHI จะไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเหมืองบิตคอยน์เหล่านี้มีอยู่จริง โดยในอีเมลถึง Forbes หลายต่อหลายฉบับ DHI ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับขอบเขตหรือเงินทุนของธุรกิจเงินดิจิทัลของตนมาโดยตลอด

    อย่างไรก็ดีรัฐบาลภูฏานได้ทิ้งร่องรอยให้ตามสืบหาความจริงได้ ข้อมูลการค้าซึ่งเก็บรวบรวมโดย Observatory of Economic Complexity แพลตฟอร์มเปิดซึ่งแสดงภาพรูปแบบการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นชี้ให้เห็นว่า มีการขนส่งชิปมูลค่ากว่า 220 ล้านเหรียญที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์จากจีนไปยังภูฏานในช่วงปี 2021- 2022 โดย DHI ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับชิปดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็น “สัญญารักษาความลับกับคู่สัญญา”



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Sunnova และสารพัดปัญหาเดือด ในวงการโซลาร์ติดหลังคาบ้าน

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine