Forbes Asia นำเสนอสุดยอดบริษัท 200 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มียอดขายต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ประจำปี 2021 แต่น่าจับตามองในแง่ของการเติบโตของยอดขาย กำไร และอัตราผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้รับมือได้ดีเพียงใดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
สำหรับในปีนี้ ธุรกิจที่ให้บริการดูแลสุขภาพมีความโดดเด่นไม่แพ้บริษัทด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ ซึ่งต่างได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเครือข่ายอี-คอมเมิร์ซทั่วโลก
พบกับ 8 สุดยอดบริษัทจากทำเนียบ
"Forbes Asia's Best Under a Billion" ที่เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาด (รายชื่อเรียงตามลำดับอักษร)
Kilpest India
ประเภทธุรกิจ: เคมีภัณฑ์
ประเทศ: อินเดีย
มูลค่าตลาด: 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้ว่าในปีที่แล้วธุรกิจเคมีเกษตรของบริษัทจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ชุดตรวจแอนติเจนแบบทราบผลเร็ว (Rapid Antigen Test) ของบริษัทลูก ได้มีส่วนข่วยให้ยอดขายของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรในอินเดียแห่งนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12
ทั้งยังเป็นชุดตรวจจากบริษัทอินเดียแห่งแรกที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา
Mega Lifesciences
ประเภทธุรกิจ: ยา
ประเทศ: ไทย
มูลค่าตลาด: 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 402 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รายรับของบริษัทยาในไทยแห่งนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เป็น 402 ล้านเหรียญในปี 2020 โดยได้รับอานิสงส์จากความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และวิตามินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาด นอกจากนี้ในปีที่แล้ว บริษัทยังได้เข้าซื้อกิจการ Futamed Pharmaceuticals ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Mega Lifesciences Indonesia
Optim
ประเภทธุรกิจ: ซอฟต์แวร์
ประเทศ: ญี่ปุ่น
มูลค่าตลาด: 945 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การทำงานจากที่บ้านในช่วงโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการในเครื่องมือทำงานระยะไกลของ Optim เป็นผลให้กำไรสุทธิของบริษัทญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 10 เท่าเป็น 12 ล้านเหรียญสำหรับปีงบประมาณ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนการทำงานทางไกลแล้ว กล้อง AI ของบริษัทยังได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีในปีที่แล้ว ซึ่งใช้สำหรับติดตามพื้นที่แออัด เช่น โรงอาหารของพนักงาน
Prodia Widyahusada
ประเภทธุรกิจ: เฮลท์แคร์
ประเทศ: อินโดนีเซีย
มูลค่าตลาด: 494 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 129 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Prodia Widyahusada เป็นบริษัทเอกชนรายแรกในอินโดนีเซียที่ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยให้รัฐบาลดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Rapid Antigen Test ได้ดียิ่งขึ้น
กำไรสุทธิของบริษัทห้องปฏิบัติการทางคลินิกในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 มาอยู่ที่ 18 ล้านเหรียญ จากการเปิดตัวบริการใหม่ เช่น บริการ Drive-in และ Teleconsultation
Riverstone Holdings
ประเภทธุรกิจ: เฮลท์แคร์
ประเทศ: สิงคโปร์
มูลค่าตลาด: 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 435 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รายรับของบริษัทในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 สู่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 435 ล้านเหรียญ จากยอดขายถุงมือ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เทคโนโลยี และภาคส่วนอื่นๆ
โดยยอดขายถุงมือคลีนรูมสูงขึ้นร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดขายถุงมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เนื่องจากความต้องการในช่วงโควิด-19
Vincent Medical Holdings
ประเภทธุรกิจ: เฮลท์แคร์
ประเทศ: ฮ่องกง
มูลค่าตลาด: 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รายได้ในปี 2020 ของผู้ผลิตอุปกรณ์ช่วยหายใจในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 149 ล้านเหรียญ เนื่องจากยอดขายจากธุรกิจระบบทางเดินหายใจเติบโตมากถึงร้อยละ 286 ในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยในปีที่แล้ว บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิต 3 เท่าในช่วง 2 เดือน และเพิ่มจำนวนพนักงานอีก 2 เท่า
Wisetech Global
ประเภทธุรกิจ: ซอฟต์แวร์
ประเทศ: ออสเตรเลีย
มูลค่าตลาด: 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 288 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านลอจิสติกส์ในออสเตรเลียแห่งนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ในปี 2020 เป็น 288 ล้านเหรียญ เนื่องจากอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ได้รับแรงหนุนจากวิกฤตโควิด-19
แพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของบริษัทมีลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นบริษัทขนส่งสินค้าชั้นนำระดับโลก อาทิเช่น DHL Global Forwarding และ Yusen Logistics
WuXi Biologics
ประเภทธุรกิจ: ยา
ประเทศ: จีน
มูลค่าตลาด: 5.64 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยอดขาย: 813 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปีที่แล้ว ธุรกิจผลิตวัคซีนของ WuXi Biologics ได้ลงนามในสัญญามูลค่ากว่า 3.2 พันล้านเหรียญ ขณะที่รายรับของปี 2020 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 41 เป็น 813 ล้านเหรียญ เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อพัฒนาการรักษาและวัคซีนใหม่สำหรับโรคโควิด-19
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Forbes Asia’s Best Under A Billion 2021 เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
3 มหาเศรษฐีญี่ปุ่น ที่ธุรกิจทะยานท่ามกลางสถานการณ์โควิด