ภาคธุรกิจธนาคารของอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความท้าทาย จากอัตราการเติบโตสินเชื่อลดจาก 20% เหลือเพียงมากกว่า 10% เล็กน้อย และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4%
ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้
Kartika Wirjoatmodjo ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของ
PT Bank Mandiri (Persero) มีงานสำคัญรออยู่ ซึ่งก็คือการนำธนาคารซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเงินกู้รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่ม Market Cap. ของ Bank Mandiri ให้มากขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 (ต้นเดือนกุมภาพันธ์ Market Cap. ของธนาคารอยู่ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญโดยประมาณ)
Kartika หรือที่รู้จักกันในชื่อ
Tiko ปัจจุบันอายุ 43 ปี เป็นผู้นำที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่ธนาคารเคยมีมา Tiko ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริหารของธนาคาร
มีผู้ตั้งคำถามว่าทำไมพนักงานที่เพิ่งเริ่มทำงานกับธนาคารไม่นานนักจึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญมากขนาดนี้ Tiko ตอบว่า “โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกเดือน และปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องคิดวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาด้วยแนวคิดใหม่เพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดและเติบโตได้ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้ เราต้องการคนที่มีมุมมองแปลกใหม่อย่างแท้จริง”
สองปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ Bank Mandiri ประสบกับความยากลำบากเหล่านี้ ซึ่งทำให้ Tiko ต้องเร่งจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำใหม่
- ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นน้อยเพียง 2.3%
- NPL เพิ่มจาก 2.6% ในปี 2015 มาเป็น 4% ในปี 2016
- ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 20% แต่เทียบกับคู่แข่งสำคัญคือ BankCentral Asia (BCA) ที่เพิ่มขึ้น 40% แสดงให้เห็นความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อ Bank Mandiri
Tiko ตั้งข้อสังเกตว่าอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทุกๆ 8 ปี เริ่มตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 1997 ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2006 และวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แต่เขารู้สึกว่าวงจรของวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีความแตกต่างจากในอดีต โดยครั้งนี้เป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที
Tiko กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ธุรกิจเกือบทุกภาคส่วนจะมีผลประกอบการดี แต่ในปัจจุบันธนาคารจำเป็นต้องวิเคราะห์พอร์ตการลงทุนของตนเองอย่างรอบคอบ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบาง เพราะมักจะมีหนี้สินซึ่งกู้ยืมมาเพื่อการลงทุนมากและศักยภาพการชำระคืนเงินกู้น้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น
สำหรับมาตรการเร่งด่วน Bank Mandiri ได้ตั้งหน่วยประเมินผลพิเศษเพื่อรับมือกับ NPL ที่เกิดขึ้นใหม่และหาวิธีลด NPL ดังกล่าวให้น้อยลง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประนอมหนี้และการเรียกเก็บทรัพย์สินด้อยคุณภาพ ในระยะยาว Bank Mandiri เริ่มที่จะปรับพอร์ตการลงทุนโดยลดการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบางให้น้อยลง
รายงานจากนักวิเคราะห์ระบุถึงการปรับตัวของ Bank Mandiri สรุปในเดือนกันยายน ปี 2016 ได้แก่
- กลับมาเน้นการให้สินเชื่อกับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ทั้งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะบริษัทเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งสินเชื่อเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 27% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
- นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นในกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภค
- ยืนหยัดสนับสนุนสินเชื่อรายย่อย แม้ NPL จะเพิ่มขึ้น ด้วยจุดแข็งที่ธนาคารมีจุดให้บริการสินเชื่อรายย่อยมากกว่า 2,200 แห่ง
Handi Huta Jaya นักวิเคราะห์จาก
Bahana Securities มีความเห็นว่าหลังจากที่ฝ่ายบริหารดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและมีการจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้นแล้ว ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากและ NPL ในปีนี้ก็น่าจะลดลง เขากล่าวว่า
“Bank Mandiri จะมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 46% ในปี 2017 คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในภาคธุรกิจธนาคาร ถึงแม้ว่าจะเปรียบเทียบกับฐานกำไรที่ต่ำ เราคาดว่า Bank Mandiri จะเป็นหนึ่งในธนาคารซึ่งมีบัญชีที่ขาวสะอาดที่สุดตามที่เรามีข้อมูลอยู่ในปีหน้า” พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงเชิงลบซึ่งได้แก่ คุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลง และผลกำไรจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีแนวโน้มลดลง
อีกสิ่งหนึ่งที่ Bank Mandiri ได้ดำเนินการคือการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร เมื่อปีที่แล้ว Bank Mandiri ได้จัดสรรรายจ่ายฝ่ายทุน (capital expenditure) ประมาณ 1.7 ล้านล้านรูเปีย โดยงบกว่าสามในสี่นำไปใช้ลงทุนใน
ระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (e-banking)
Bank Mandiri คาดว่าจะย้ายธุรกรรมของลูกค้าธนาคารเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปรากฏว่า ไตรมาสแรกของปี 2016 ธนาคารมีมูลค่าธุรกรรมผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซรวม 1 ล้านล้านรูเปีย เพิ่มขึ้นสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2015
ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของเทคโนโลยี Bank Mandiri ตั้งเป้าหมายที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าการเป็นธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ธรรมดาๆ ด้วยการตั้งบริษัทย่อยเป็น venture capital ชื่อว่า
PT Mandiri Capital Indonesia เมื่อต้นปีที่แล้ว บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัท VC แห่งแรกในภาคธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซีย ซึ่งมีเงินลงทุนขั้นต้น 500 ล้านรูเปีย และทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค)
Mandiri Capital ซึ่งมีหุ้นส่วนคือ
Telkom Indigo ยังได้ทำโครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ เช่น
Limakilo บริษัทอี-คอมเมิร์ซจำหน่ายสินค้าเกษตร
Iwak ตัวกลางระหว่างนักลงทุนกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา และ
Bulp ซึ่งนำเสนอแพลตฟอร์มระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์
“Mandiri Capital มองหาสิ่งที่แตกต่างเพื่อมาเติมเต็มพอร์ตผลิตภัณฑ์ของบริษัทในการจับตลาดธุรกิจสตาร์ทอัพ เราหวังจะได้ไอเดียที่ไม่ซ้ำใครและมุมมองใหม่ๆ มาปรับใช้กับธุรกิจของเรา”
Tiko กล่าว
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของธนาคาร Tiko กล่าวว่า Bank Mandiri ต้องการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดในภูมิภาค เนื่องจากกำไรของภาคธุรกิจธนาคารในประเทศลดลง ทางธนาคารจึงกำลังมองหาโอกาสใหม่ในตลาดต่างประเทศ โดยเน้นที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา
แต่ Bank Mandiri เลือกใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างไปจากเดิม คือแทนที่จะเปิดสาขาในลักษณะเต็มรูปแบบเหมือนในอดีต Tiko กล่าวว่าการขยายสาขาแบบ inorganic จะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดย Bank Mandiri สามารถเข้าซื้อกิจการหรือเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินในท้องถิ่นที่ประกอบธุรกิจต่างๆ เช่น ประกัน บัตรเครดิต และไมโครไฟแนนซ์ การขยายธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นภายในสองปีนี้
“อินโดนีเซียในอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ดังนั้น Bank Mandiri จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น ผมคิดว่าธนาคารของเราจะยังคงให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิมซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เช่น การให้บริการทางการเงินกับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ แต่เราน่าจะคว้าโอกาสใหม่ๆ ในสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจการธนาคารส่วนบุคคลและเทคโนโลยี” Tiko กล่าว