"Archireef" เทคโนโลยีรักษ์โลกจากสตาร์ทอัพวิทยาศาสตร์ชีวภาพ - Forbes Thailand

"Archireef" เทคโนโลยีรักษ์โลกจากสตาร์ทอัพวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

FORBES THAILAND / ADMIN
17 May 2023 | 03:00 PM
READ 6723

Vriko Yu เปิดตัวสตาร์ทอัพหลังจบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตอนนี้เธอคือซีอีโอของ Archireef ธุรกิจเทคโนโลยีรักษ์โลกซึ่งกำลังดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอันแสนเปราะบางด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการปรินต์สามมิติและดินเผาที่อาจจะดูเก่าเชยแต่ไม่เคยหยุดเก๋า


    แนวปะการังซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของสัตว์ทะเลในการขยายพันธุ์ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเติบโตเต็มที่ Vriko Yu ตื่นตระหนกเป็นอย่างมากเมื่อเธอพบว่ากลุ่มแนวปะการังในฮ่องกงทยอยตายลงในเวลาเพียงสองเดือน

    “มันน่าตกใจจริงๆ” Yu นักศึกษาปริญญาเอกวัย 30 ปีด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าว “ฉันตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอดแต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันเกิดขึ้นเร็วขนาดที่ฉันสามารถเป็นสักขีพยาน (การตายของแนวปะการัง) ในเวลาสั้นแค่นี้”

    ในการทำงานร่วมกับ David Baker ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเลและเหล่านักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง พวกเขาทดลองวิธีการอันแตกต่างหลากหลายต่างเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลาย อาทิ การปลูกชิ้นส่วนปะการังบนตาข่ายโลหะและบล๊อกคอนกรีต แต่พวกเขาพบว่าตัวอ่อนปะการังมักจะหลุดออกมาแล้วก็ตาย

    ท่ามกลางความผิดหวังที่ก่อตัวสูงขึ้น ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบคำตอบนั่นคือปะการังเทียมในรูปแบบของกระเบื้องดินเผาทำจากเครื่องปรินต์สามมิติซึ่งได้รับการออกแบบอย่างละเอียดบรรจงมีรอยพับซ้อนไปมาและรอยแยกลึกช่วยให้ชิ้นส่วนปะการังสามารถเกาะติดกับพื้นทะเล เพื่อที่พวกมันจะสามารถมีชีวิตรอดและเติบโตได้ Yu บอกว่าปะการังที่ได้รับการปลูกลงบนกระเบื้องดินเผาเหล่านี้มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 98 เปอร์เซ็นต์

    เมื่อมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบในมือกอปรกับความจำเป็นต้องระดุมทุนเพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงาน Yu และ Baker จึงตัดสินใจเริ่มต้นสร้างสตาร์ทอัพขึ้นจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ทั้งสองร่วมก่อตั้ง Archireef ในปี 2020 ในฐานะผู้เสนอทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย Yu ดำรงตำแหน่งซีอีโอ

    Archireef ได้รับการจัดเข้า Forbes Asia 100 to Watch หรือบริษัทสตาร์ทอัพน่าจับตามองในเขตเอเชียแปซิฟิกในปีที่ผ่านมา และขณะนี้พวกเขากำลังอยู่ระหว่างภารกิจซ่อมแซมระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)

    “พอพูดถึงเทคโนโลยีรักษ์โลก คนส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยคาร์บอน” Yu กล่าวในการสัมภาษณ์ ณ สำนักงาน Archireef ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง “อย่างไรก็ตาม ฉันอยากจะเน้นให้เห็นว่า แม้การจัดการกับต้นตอของปัญหาจะเป็นอะไรที่ถูกจุดและมีความจำเป็น การกระตุ้นการฟื้นฟูก็สำคัญเช่นกัน เพราะกว่าธรรมชาติจะเยียวยาตัวเองได้นั้นใช้เวลานาน และอาจไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

    แนวปะการังปกคลุมเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใต้ทะเล แต่กลับมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล กว่าหนึ่งในสี่ของปลาทะเลพึ่งพาแนวปะการังในการหาอาหารและหลบภัยในช่วงใดช่วงหนึ่งของวงจรชีวิต ซึ่งปลาเหล่านี้เป็นทั้งแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของประชากรมนุษย์อีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลก คาดคะเนผลประโยชน์ที่ได้รับจากแนวปะรังสูงถึง 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย 3.6 หมื่นล้านเหรียญเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว

    อย่างไรก็ตาม แนวปะการังมีความอ่อนไหวอย่างมากต่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ปะการังต้องพึ่งพาสาหร่ายที่คอยสังเคราะห์แสงให้ธาตุอาหาร แต่ปะการังจะสูญเสียสาหร่ายเหล่านี้ไปเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เนื่องมาจากว่าปะการังนั้นไม่มีสี สีสันของปะการังที่เห็นนั้นมาจากสาหร่ายนั่นเอง


สามปีภายหลังการนพปะการังเทียมในรูปแบบของกระเบื้องดินเผาทำจากเครื่องปรินต์สามมิติ


    อ้างอิงจากรายงานของ Global Coral Reef Monitoring Network เมื่อปีที่ผ่านมา โลกของเราสูญเสียแนวปะการังไปแล้วถึง 14 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2009 ถึงปี 2018 โดยรายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change(IPCC) คณะทำงานฝ่ายวิชากรระดับโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผยว่า แนวปะการังบนโลกนี้ “แทบทั้งหมด”(มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์) จะตายหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

    Archireef ใช้ระบบเก็บค่าสมาชิก ลูกค้าที่เป็นบริษัทและหน่วยงานของรัฐบาลจะมีการจ่ายค่าบริการสม่ำเสมอซึ่งครอบคลุมการบำรุงรักษาและตรวจสอบดูแลโครงการฟื้นฟูปะการังเป็นเวลาอย่างน้อยสามปี กลับกัน Achireef จะเตรียมรายงานพร้อมรายละเอียดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการลงทุนขององค์กรที่เป็นลูกค้า โดยพวกเขาสามารถนำมันไปใช้ประกอบรายงาน ESG และสื่อการตลาดได้

    Yu บอกว่า Archireef สามารถทำกำไรได้ และมีลูกค้ามากมายซึ่งรวมถึงบริษัทต่างๆ ในฮ่องกง เช่น ธุรกิจเครื่องประดับ Chow Sang Sang และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Sino Group ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของมหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ Robert Ng

    “พวกเราใส่ใจเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างมาก” Melanie Kwok ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความยั่งยืนของ Sino Group บอกในการสัมภาษณ์ที่โรงแรม The Fullerton Ocean Park Hotel Hong Kong ซึ่งทางบริษัทเป็นเจ้าของ “เรามีบทบาทในการปกป้องมหาสมุทรอย่างจริงจัง”


Melanie Kwok ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปด้านความยั่งยืนของ Sino Group


    โรงแรม The Fullerton Ocean park เป็นหนึ่งในหกอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมที่ครอบครองโดย Sino Land บริษัทย่อยที่ดูแลอสังหาริมทรัพย์ของ Sino Group ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทางโรมแรมเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคมปี 2022 ห้องธรรมดาและห้องสวีทรวมทั้งหมด 425 ห้องมีวิวทะเล

    “ก็อย่างที่คุณเห็น ทุกห้องของเราหันเข้าหามหาสมุทร” Kwok กล่าว “เราจึงมีบทบาทต้องทำ เรามีหน้าที่ให้ความรู้แก่บรรดาลูกค้าและผู้ถือหุ้นถึงความสำคัญของการดูแลรักษามหาสมุทร เพื่อที่เราจะได้เห็นและชื่นชมภาพอันงดงามนี้ด้วยกันต่อไป”

    ล่าสุดปะการังเทียมดินเผาของ Archireef ถูกติดตั้งกระจายไปทั่วบริเวณราว 100 ตารางเมตรของน่านน้ำฮ่องกง หลังวางรากฐานการเติบโตในฮ่องกงแล้ว Yu มีวิสัยทัศน์ในการขยับขยายไปยังต่างประเทศ และเธอก็เริ่มที่อาบูดาบีเมืองหลวงอันร่ำรวยด้วยน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งตั้งเข้าจะเพิ่มความหลากหลายของเศรษฐกิจก่อนสิ้นสุดยุคเฟื่องฟูของน้ำมันเชื้อเพลิง

    Archireef กล่าวว่าพวกเขากำลังทำงานร่วมกับกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ADQ ในการฟื้นฟูพื้นที่ใต้ทะเล 40 ตารางเมตรใกล้กลับเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งอนุบาลชิ้นส่วนปะการังกว่า 1,200 ชิ้น ในปีที่ผ่านมา Achireef ได้สร้างโรงงานขนาด 400 ตารางเมตรในอาบูดาบีหลังได้รับเงินทุนจำนวนหนึ่ง (ไม่มีการเปิดเผยตัวเลข) จาก ADQ โรงงานดังกล่าวจะเป็นกำลังสำคัญของบริษัทในการขยายสู่ระดับนานาชาติผ่านการผลิตปะการังเทียมจำนวนมาก

    รัฐบาลอาบูดาบีประกาศเมื่อปี 2021 ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่วางเป้าหมายเช่นนี้ ความตั้งมั่นในการมุ่งสู่ความยั่งยืนของรัฐบาลอาบูดาบีจุดประกายให้ Yu เริ่มต้นการดำเนินงานในต่างประเทศครั้งแรกของ Archireef ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP23) ปลายปีนี้

    “เมื่อเราวางแผนขยับขยายออกไปนอกฮ่องกง เราคิดว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถเป็นหนึ่งในตลาดที่แข็งแกร่งที่สุดได้ ไม่ใช่แค่เพราะผลการดำเนินงานด้านการเงิน แต่ยังรวมถึงการผลักดันเพื่อความยั่งยืน” Yu กล่าว

    Yu ยังบอกว่าจุดมุ่งหมายของ Archireef หาได้จำกัดแค่เพียงคืนชีพให้กับแนวปะการังต่างๆ พวกเขายังยุ่งกับการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเพิ่มประชากรเหล่าสปีชีส์อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยตัวอย่างของสปีชีส์เหล่านี้ ได้แก่ ต้นโกงกางและหอยนางรม



    ในขณะเดียวกันนั้น Yu ก็กำลังเร่งดำเนินการขยาย Archireef และกระจายปะการังเทียมดินเผาไปทั่วโลกซึ่งรวมถึงในมหาสมุทรแอตแลนติก อินเดีย และแปซิฟิก เธอกำลังแข่งกับเวลาเพื่อพิทักษ์แนวปะการัง “เราสูญเสียแนวปะการังไปแล้ว 50% ทั่วโลกตั้งแต่ปี 1950 และหากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น เราจะเสียเพิ่มถึง 90% ก่อนปี 2050” เธอกล่าว “ดังนั้นหากฉันสามารถพูดอะไรได้อย่างหนึ่งในเวลานี้ ฉันจะบอกว่า ได้โปรดพยายามคว้าโอกาสสุดท้ายในการกอบกู้ความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ให้ดี”


แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Meet The Marine Biologist-Turned-Entrepreneur Restoring Coral Reefs Using 3D Printing And Clay ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: ปลดล็อกจินตนาการสู่ความเป็นจริงของ Metaverse