รายงาน Google, Temasek and Bain e-Conomy SEA 2021 ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ระบุว่า อินโดนีเซียมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่ 21 ล้านคนนับตั้งแต่การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 โดยกว่าร้อยละ 72 เป็นผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
ด้วยสัดส่วนของชนชั้นกลางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ 274 ล้านคน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะเห็น 6 ธุรกิจอินโดนีเซีย มีรายชื่อปรากฎในทำเนียบ Forbes 30 Under 30 Asia จากอุตสาหกรรมค้าปลีกและอี-คอมเมิร์ซ
หนึ่งในนั้น คือ Aplikasi Super บริษัทโซเชียลคอมเมิร์ซซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2018 เพื่อลดช่องว่างของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเมืองเล็กๆ และพื้นที่ชนบทในอินโดนีเซียซึ่งโดยปกติแล้วจะมีราคาสูงกว่าในเมืองใหญ่ด้วยการพัฒนาซึ่งเชื่อมเครือข่ายผู้ค้าปลีกที่สนใจรับคำสั่งซื้อของผู้บริโภคในพื้นที่ที่เข้าถึงเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจากการที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง
ปัจจุบัน Super ให้บริการใน 30 เมืองในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของอินโดนีเซีย และเมื่อไม่นานมานี้ก็กวาดเงินระดมทุนกว่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Alpha JWC Ventures, B Capital, Y-Combinator, Softbank, แร็ปเปอร์ Jay-Z และกรรมการผู้จัดการธนาคารโลก Mari Elka Pangestu
"ตั้งแต่ฉันยังเป็นเด็ก ครอบครัวของฉันมักพาฉันไปเยี่ยมเยียนพื้นที่ชนบท ซึ่งทำให้ฉันเห็นถึงความแตกต่างของระดับราคาในท้องตลาด นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันสนใจที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้" Debeasinta Budiman ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ Super ซึ่งเคยทำงานที่ Google ในตำแหน่งนักวิเคราะห์และมีพื้นฐานครอบครัวในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งธุรกิจ
โดยเธอได้พบกับ Steven Wongsoredjo อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง ขณะที่ทั้งคู่กำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม Super ในปี 2019 “Aplikasi Super ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 แต่พวกเขาไม่มีทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฉันจึงเข้ามาเติมเต็มในจุดนั้น" Budiman กล่าว
ด้าน Koeswandi ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจต่างๆ ก่อนที่จะเข้าร่วม Super ในปี 2018 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายปฏิบัติการ "เราสังเกตเห็นว่าคนในชนบทมีกำลังซื้อ สิ่งที่พวกเขาไม่มี คือ การเข้าถึง (ผลิตภัณฑ์) ดังนั้นเราจึงเข้ามาอำนวยความสะดวกในส่วนนี้" Koeswandi กล่าว พร้อมอธิบายถึงการสร้างความร่วมมือกับผู้ขายในท้องถิ่น ไปจนถึงบริษัทขนส่งในท้องถิ่นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดส่งสินค้าในวันถัดไป แทนการพึ่งพาบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เสริมจากค่าคอมมิชชั่น เมื่อพวกเขาสามารถขายสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกหรือลูกค้าในละแวกใกล้เคียง
"ฉันได้รับ 1.5 ล้านถึง 2 ล้านรูเปียห์ (100-125 เหรียญ) ต่อเดือนจาก Super จากการขายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกที่เป็นซุ้มขายของ” Moch Chairizal Usman Gozaly หนึ่งในตัวแทนของ Super ในหมู่บ้าน Gamping กล่าว หลังเธอตัดสินใจเข้าร่วมแพลตฟอร์ม Super ในเดือนพฤศจิกายน และใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันไปเยี่ยมร้านค้าปลีก 20 แห่งเพื่อรวบรวมความต้องการในสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากลูกค้าของเขาไม่มีสมาร์ทโฟน
ทั้งนี้ นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตโดยบริษัทแล้ว Super ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ผลิตในท้องถิ่นภายใต้ฉลากของตนเอง โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อติดตามความชอบและรสนิยมของลูกค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ราคาจับต้องได้เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว โดย Budiman กล่าวว่า มีโอกาสมหาศาลสำหรับผลิตภัณฑ์ฉลากส่วนตัวของ Super ซึ่งเธอวางแผนที่จะเพิ่มเป็น 2 เท่า ในขณะที่ Koeswandi วางแผนที่จะขยายไปยังเมืองอื่นๆ
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Indonesian Firms Lead The Under 30 Asia Startups Fueling Regional E-Commerce เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: จับตาสตาร์ทอัพจิ๋วแต่แจ๋วในเอเชียแปซิฟิก จากทำเนียบ ‘100 to Watch’ ตอนที่ 1ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine