5 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ธุรกิจทะยานท่ามกลางสถานการณ์โควิด - Forbes Thailand

5 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ธุรกิจทะยานท่ามกลางสถานการณ์โควิด

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Nov 2021 | 07:18 AM
READ 3693

เศรษฐกิจของสิงคโปร์หดตัว 5.8% ในปี 2020 และในปีนี้ได้เข้าสู่การฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีการเติบโต 4-6% แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะยังมีความไม่แน่นอน แต่ดัชนี Straits Times Index ก็ปรับขึ้น 26% นับตั้งแต่วันที่เราประเมินทรัพย์สินครั้งล่าสุด จึงช่วยให้ทรัพย์สินรวมของผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 1.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 2.08 แสนล้านเหรียญ

  พบกับ ไฮไลท์ "5 มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ที่สามารถพาธุรกิจทะยานท่ามกลางสถานการณ์โควิด"  

GOH CHENG LIANG

อายุ: 94 ปี

อันดับ 3

มูลค่าทรัพย์สิน: 1.86 หมื่นล้านเหรียญ

แหล่งที่มา: NIPPON PAINT HOLDINGS

ทรัพย์สินของเจ้าพ่อสีทาบ้าน Goh Cheng Liang เพิ่มขึ้นเป็น 1.86 หมื่นล้านเหรียญ หลังจากบุตรชายของเขา Goh Hup Jin ได้ทำข้อตกลงธุรกิจด้วยหุ้นและเงินสดมูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งได้ช่วยให้บริษัทเอกชน Wuthelam Holdings ของ Goh มีอำนาจควบคุม Nippon Paint บริษัทผลิตสีทาบ้านใหญ่อันดับ 4 ของโลกเมื่อวัดจากยอดขาย และทำให้ Goh มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 3.8 พันล้านเหรียญ Hup Jin วัย 68 ปี ประธานกรรมการของ Nippon Paint และกรรมการผู้จัดการของ Wuthelam กล่าวว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นก้าวหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติระหว่างพันธมิตรที่เป็นหุ้นส่วนกันมานาน และเป็นการ “ช่วยกำจัดโครงสร้างองค์กรที่เทอะทะและซับซ้อนโดยไม่จำเป็น” เมื่อข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2020 Wuthelam ได้เข้าถือหุ้นเพิ่มใน Nippon Paint ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo จากเดิม 39.6% เป็น 58.7% ส่วน Nippon Paint ก็ซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัทร่วมทุนที่ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งร่วมกันในเอเชีย และได้เข้าซื้อธุรกิจของ Wuthelam ในอินโดนีเซียด้วยราคา 2 พันล้านเหรียญ --Jessica Tan  

KUOK KHOON HONG

อายุ: 71 ปี

อันดับ 12

มูลค่าทรัพย์สิน: 3.8 พันล้านเหรียญ

แหล่งที่มา: WILMAR INTERNATIONAL

โรคระบาดทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจการเกษตร Wilmar International ซึ่งมีรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 5.1 หมื่นล้าน และ 1.5 พันล้านเหรียญตามลำดับ Kuok Khoon Hong ประธานกรรมการและซีอีโอกล่าวผ่านอีเมลว่า “อาหารคือธุรกิจใหญ่ที่สุด” ในจีนและอินเดีย ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทของเขาซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เร่งขยายธุรกิจในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกทั้งสองประเทศนี้ และ Kuok มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.8 พันล้านเหรียญ Wilmar ซึ่งราคาหุ้นของบริษัทขึ้นไป 7% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งตลาด 45% ในตลาดน้ำมันสำหรับบริโภคของจีน โดยมีแบรนด์หลักคือ Arawana เป็นตัวผลักดัน และเมื่อเดือนตุลาคม Wilmar ก็นำบริษัทย่อยในจีนชื่อ Yihai Kerry Arawana ที่ Kuok ก่อตั้งร่วมกับ Robert Kuok อาของเขาผู้รวยที่สุดในมาเลเซียเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ Shenzhen โดยมีมูลค่าการเสนอขายหุ้น IPO 2.2 พันล้านเหรียญของบริษัท ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ และหุ้นตัวนี้ได้พุ่งขึ้น 47% แล้วนับตั้งแต่เข้าตลาดฯ เพราะได้แรงส่งจากตลาดขายอาหารแบบซื้อครั้งละมากๆ ฟื้นตัว และจากคนทำอาหารเองในบ้านมากขึ้น --Anuradha Raghunathan  

SHI XU

อายุ: 57 ปี

อันดับ 24

มูลค่าทรัพย์สิน: 1.8 พันล้านเหรียญ

แหล่งที่มา: NANOFILM TECHNOLOGIES INTERNATIONAL

นักวิชาการผู้ผันมาเป็นผู้ประกอบการ Shi Xu เข้ามาติดทำเนียบเป็นครั้งแรกด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.8 พันล้านเหรียญ นับตั้งแต่ Nanofilm Technologies International บริษัทของเขาได้เสนอขายหุ้น IPO ผลิตภัณฑ์คาร์บอนเคลือบผิวป้องกันการสึกหรอ ซึ่งได้กลายเป็นของที่ต้องมีในสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไหล่รถยนต์ เลนส์แว่นตา และสมาร์ทโฟน Shi Xu วัย 57 ปี คือผู้ก่อตั้งบริษัทพร้อมกับนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เขาระดมทุนได้กว่า 470 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (349 ล้านเหรียญ) ถือเป็นการระดมทุนครั้งใหญที่สุดของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในรอบ 4 ปี (ไม่รวม REITs) นับแต่นั้นมาหุ้นของบริษัทยังคงเติบโตอีกราวอีกเท่าตัว เนื่องจากจากรับรู้ถึงรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาดของ Nanofilm เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ กลายเป็นเงินก้อนโตเข้ากระเป๋านักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งรวมถึง Venezio Investments หน่วยธุรกิจหนึ่งของ Temasek ของสิงคโปร์ ในปี 2020 Nanofilm มีกำไรสุทธิ 58 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 61% จากปีก่อนหน้าด้วยรายได้ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 53% มาอยู่ที่ 218 ล้านเหรียญสิงคโปร์ บริษัทมีลูกค้าอย่าง Fuji Xerox, Huawei และ Microsoft มีพนักงาน 1,400 คน กระจายอยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม --Jonathan Burgos  

YAO HSIAO TUNG

อายุ: 81 ปี

อันดับ 41

มูลค่าทรัพย์สิน: 1.03 พันล้านเหรียญ

แหล่งที่มา: HI-P INTERNATIONAL

Yao Hsiao Tung ขยับอันดับขึ้น 6 ขั้นมาอยู่ที่ 41 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.03 พันล้านเหรียญ หลังจากนำ Hi-P International ออกจากตลาดหลักทรัพย์ส่งผลให้เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมบริษัทผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสิงคโปร์แห่งนี้ ที่ผลิตอุปกรณ์สายเทคโนโลยีที่ใช้กับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ทำให้บริษัทของเขามีมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ (1.2 พันล้านเหรียญ) เมื่อเดือนเมษายน Yao ซึ่งเป็นทั้งประธานกรรมการบริหารและซีอีโอเข้าซื้อหุ้น Hi-P ที่เหลืออยู่ 16.5% ที่เขายังไม่ได้เป็นเจ้าของ หลังจากทำข้อเสนอแบบไม่มีเงื่อนไขไปตั้งแต่ปีที่แล้วในราคา 2 เหรียญสิงคโปร์ต่อหุ้น เกินกว่าราคาซื้อขายสุดท้ายถึง 13.6% ในเวลานั้น Yao บอกว่า เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนจากตลาดอีกต่อไป และการออกจากตลาดหลักทรัพย์ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ แม้จะต้องเผชิญวิกฤตโรคระบาดแต่ Hi-P ทำกำไรสุทธิ 87 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9% จากรายได้ที่เติบโตถึง 17% มาอยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความต้องการผลิตภัณฑ์สายเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก Yao วัย 81 ปี กลายเป็นผู้ประกอบการในปี 1980 ด้วยเงินลงทุน 50,000 เหรียญสิงคโปร์ในบริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์รายหนึ่งของสิงคโปร์ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในเวลานั้น บริษัทแห่งนี้มีชื่อเรียกในตอนนั้นว่า Hi-P Tool & Die ไม่เกิน 3 ปี เขาขึ้นรับหน้าที่บริหารบริษัท และอีก 10 ปีต่อมาก็ขยายกิจการไปยังประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตของ Hi-P ตั้งอยู่ 5 แห่ง เมื่อครั้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในปี 2003 บริษัทสามารถระดมทุนได้ 83 ล้านเหรียญ --Anuradha Raghunathan  

ANTHONY TAN

อายุ: 39 ปี

อันดับ 47

มูลค่าทรัพย์สิน: 790 ล้านเหรียญ

แหล่งที่มา: GRAB HOLDINGS

Anthony Tan ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ซูเปอร์แอปพลิเคชันบริการเรียกรถ เข้าติดทำเนียบผู้ประกอบการด้านเทคโนฯ ผู้ร่ำรวยของสิงคโปร์ที่กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลังจากทรัพย์สินของเขาเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดได้ทำให้ธุรกิจการส่งอาหาร การซื้อสินค้าออนไลน์ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเติบโตขึ้น แผนของ Grab ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้ระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO แต่ผ่านการควบรวมกิจการกับ Altimeter Growth ในรูปแบบของ SPAC ที่กำลังอยู่ระหว่างการอนุมัติ ซึ่งได้ประเมินมูลค่าของบริษัทจากสิงคโปร์แห่งนี้อยู่ที่เกือบ 4 หมื่นล้านเหรียญ และนี่ได้ช่วยดันให้ Tan เข้าติดทำเนียบในอันดับที่ 47 โดยนักธุรกิจผู้เป็นทั้งพลเมืองและผู้พักอาศัยในสิงคโปร์วัย 39 ปีคนนี้ มีทรัพย์สินสุทธิ 790 ล้านเหรียญ ก่อนหน้านี้เขาได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลเซีย ที่ซึ่งเขาได้เริ่มต้นธุรกิจ Grab เมื่อปี 2012 ตั้งแต่นั้นมา Grab ได้ดึงดูดนักลงทุนชั้นนำมากมาย อาทิ Microsoft และ SoftBank ของ Masayoshi Son โดยว่ากันว่าแผนการควบรวมกับ Altimeter ซึ่งได้ชะลอจากเดือนกรกฎาคมออกไปถึงไตรมาสที่ 4 เป็นเพราะว่า Grab กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบบัญชีของบริษัทในขั้นตอนสุดท้าย กล่าวได้ว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการในรูปแบบ SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้คาดว่า Grab จะสามารถระดมทุนได้ 4 พันล้านเหรียญจากการเข้าตลาดฯ ครั้งนี้ และนี่ยังทำให้นักลงทุนระดับโลกได้เข้ารับรู้ถึงเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายงานของ Bain, Google และ Temasek เมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้จะขยายตัว 3 เท่าไปเป็น 3 แสนล้านเหรียญตามมูลค่าสินค้ารวมภายในปี 2025 ขณะเดียวกัน Grab ได้จับมือกับ Singtel เตรียมเปิดตัวธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์ภายในช่วงต้นปีหน้า ทั้งคู่ยังมีแผนจะขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารดิจิทัลในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอีกด้วย --Jonathan Burgos   ภาพประกอบ: COURTESY OF NIPSEA HOLDINGS INTERNATIONAL, WILMAR INTERNATIONAL /MEMPHIS WEST PICTURES, FORBES ASIA, NICKY LOH/BLOOMBERG, WEI LENG TAY/BLOOMBERG อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine