“เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

“เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 ตอนที่ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Nov 2020 | 07:03 PM
READ 3227

การจัดลำดับมหาเศรษฐีใจบุญครั้งที่ 14 ประจำปี 2020 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รวมรวมรายชื่อผู้ใจบุญจำนวน 15 คน ที่บริจาคทรัพย์สินส่วนบุคคลมูลค่าสูงที่สุด เพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

เช่นเดียวกับในปีที่ผ่านๆ มาที่ Forbes Asia ไม่ได้คำนวณการบริจาคในนามการระดมทุน  องค์กรไม่แสวงหาผลกําไร หรือในนามบริษัท นอกเสียจากว่าบริษัทนั้นๆ เป็นบริษัทเอกชน ที่บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ทั้งนี้ เหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 ได้ทำให้มหาเศรษฐีจำนวนมากต่างพร้อมใจกันสร้างโรงพยาบาล จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย และสนุบสนุนเงินทุนให้กับศูนย์วิจัยทางการแพทย์เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น Li Ka-shing มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ที่บริจาคเงินกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านทางมูลนิธิของเขา เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิเช่น  การบริจาคให้กับชุมชนในเมืองมณฑลอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดในจีนราว 12 ล้านเหรียญ ขณะที่ Tadashi Yanai ประธานบริษัทค้าปลีกบริจาค 105 ล้านเหรียญ ให้กับมหาวิทยาลัย 2 แห่งในญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19

อย่างไรก็ดี การเยียวยาและลดผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเพียงด้านหนึ่งของยอดบริจาคที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ เพราะในทำนองเดียวกัน ก็มีมหาเศรษฐีจำนวนมากที่บริจาคเงิน เพื่อสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา อันได้แก่ Pham Nhat Vuong มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเวียดนามได้ร่วมบริจาคเงินส่วนตัวจำนวน 77 ล้านเหรียญ ผ่านทางมูลนิธิของเขา เพื่อสมทบทุนในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 รวมไปถึงการมอบทุนการศึกษาและสนับสนุนโครงการเพื่อสุขภาพต่างๆ ภายในประเทศ

Pham Nhat Vuong

วัย 52 ปี

ประธาน Vingroup

เวียดนาม

Pham Nhat Vuong ก่อตั้งมูลนิธิ Kind Heart Foundation ในปี 2006 และได้บริจาคเงินกว่า 77 ล้านเหรียญตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งก่อตั้งมูลนิธิได้เพียง 9 เดือนแรก โดยเป็นการบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในเวียดนาม และมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนสนับสนุนการรักษาสุขภาพโดยไม่เสียค่าบริการให้กับบุคคลไม่มีกำลังทรัพย์ นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังสร้างบ้าน ศูนย์สุขภาพ ห้องสมุด และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับชุมชนที่มีรายได้ต่ำ อีกทั้งยังบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติตลอดมา

ในทำนองเดียวกันธุรกิจ Vingroup ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และบริษัทด้านเทคโนโลยีของเขา ก็ได้บริจาคเงินกว่า 55 ล้านเหรียญ เพื่อเยียวยาและลดผลกระทบจากโควิด-19 อาทิเช่น การจัดหาเครื่องช่วยหายใจ พร้อมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้แก่องค์กรสุขภาพ

Pramod Bhasin

วัย 68  ปี

ประธาน Clix Capital

อินเดีย

ในเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา Bhasin ได้ให้สัตยาบันต่อมูลนิธิ LivingMyPromise ของชาวอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 94 คน ที่สัญญาร่วมกันว่าจะบริจาคเงินอย่างน้อยร้อยละ 50 ของทรัพย์สินที่มีอยู่ให้แก่ทางองค์กร 

สำหรับ Bhasin แรงจูงใจในการเข้าร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทางมูลนิธิดังกล่าว มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้แรงงานอพยพชาวอินเดียจำนวนมากต้องตกงาน อินเดียเป็นประเทศที่มีความแตกต่างระหว่างฐานะชัดเจนมาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล หากคนที่มีมากกว่าจะไม่ทำอะไรเพื่อสังคมเลย เขากล่าว

ในช่วงที่ผ่านมา Bhasin บริจาคเงินกว่า 2 ล้านเหรียญให้กับ Plaksha University มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาพันธุศาสตร์และเทคโนโลยี และโรงพยาบาล Medeor ที่ตั้งอยู่ในเมือง Gurgaon เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

Bhasin คือ อดีตผู้บริหารของ General Electric (GE) บริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกสัญชาติอเมริกัน ที่เริ่มเอาต์ซอร์สไปยังอินเดียด้วยการจัดตั้งบริษัท GE Capital ร่วมกับธุรกิจท้องถิ่นใกล้เมือง Delhi ในปี 1996 ก่อนที่จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2007 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น GenPact

Robert NG

วัย 68 ปี

ประธาน Sino Group

สิงคโปร์

Philip NG

วัย 62 ปี

ซีอีโอ Far East Organization

สิงคโปร์

ในปีนี้ มูลนิธิ Ng Teng Fong Charitable ในฮ่องกงของพี่น้องมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ความสำคัญกับการบริจาคเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด  เป็นมูลค่ากว่า 7.4 ล้านเหรียญในเดือนมีนาคม แก่ Tsinghua University ในจีน เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยโควิด-19 และในขณะเดียวกันก็บริจาคหน้ากากอนามัย 7 ล้านชิ้น อาหาร 60,000 มื้อ ชุดดูแลสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่ 4,200 ชุด เครื่องช่วยหายใจ 20 เครื่อง และเครื่องผลิตหน้ากากอนามัย 2 เครื่องในฮ่องกง สิงคโปร์ และสถานที่ต่างๆ

มากกว่านั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิยังได้มอบเงินกว่า 258 ล้านเหรียญให้แก่การพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมพัฒนาสังคมและการศึกษา อันได้แก่ ทุนการศึกษาจำนวน 3,000 ทุน สำหรับนักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยในจีนและฮ่องกง

Li Ka-shing

วัย 92 ปี

ที่ปรึกษาอาวุโส CK Asset Holdings and CK Hutchison Holdings

ฮ่องกง

ในปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงผู้นี้ ได้บริจาคเงินกว่า 129 ล้าน ให้กับกองทุนที่ให้การช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาด

ล่าสุด มูลนิธิ Li Ka-shing รายงานว่า เงินบริจาคทั้งหมดได้ถูกนำไปกระจายให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 28,000 บริษัท ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก และภาคการท่องเที่ยว และนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา ทางมูลนิธิได้ใช้เงินมากกว่า 250 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อจัดหาหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ความปลอดภัย สำหรับผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และผู้ด้อยโอกาส

แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Heroes of Philanthropy เผยแพร่บน forbes.com อ่านเพิ่มเติม: 10 อันดับ มหาเศรษฐีจีนหน้าใหม่ ประจำปี 2020