Bang Jun-Hyuk เซียนธุรกิจ เกมมือถือ Netmarble กลายเป็นเศรษฐีพันล้านรายล่าสุดของเกาหลีใต้ แม้ชายหนุ่มผู้ร่ำรวยรายนี้จะออกจากโรงเรียนมัธยมกลางคัน แต่เขานั้นนับว่าเป็นผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีที่หาตัวจับยากเลยทีเดียว
Netmarble บริษัทเกมออนไลน์บนอุปกรณ์สื่อสารที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ มักเปรียบเทียบผู้ก่อตั้งของตนอย่าง
Bang Jun-Hyuk กับ
Steve Jobs ด้วยความที่ประวัติชีวิตคล้ายคลึงกัน ทั้งคู่เดินออกจากบริษัทเทคโนโลยีที่ตัวเองก่อตั้ง จากนั้นทั้งสองบริษัทก็เกือบพังจนต้องยกเครื่องใหม่ และสามารถฟื้นขึ้นมาเดินหน้าได้อย่างสง่างาม
แม้การเปรียบเทียบนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ความสำเร็จของ เกมมือถือ Netmarble นั้นไร้ข้อกังขา วันนี้ Bang นั่งอยู่เหนือธุรกิจเกมที่มีการแข่งขันสูง เกม Marvel Future Fight ซึ่งเป็นเกมต่อสู้ที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ เช่น Iron Man และ Captain America ของ Netmarble ติดหนึ่งในสิบอันดับแรกของแอพพลิเคชั่นยอดนิยมใน 118 ประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ในปีที่ผ่านมา
App Annie บริษัทที่ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาด iOS และ Google Play รายงานว่า ยอดขายของ NetMarble สูงเป็นอันดับ 8 ของยอดขายแอพฯทั่วโลก และรายได้ของบริษัทในช่วงเก้าเดือนแรกปี 2016 มีมูลค่า 896 ล้านเหรียญ พุ่งขึ้น 39% ด้านกำไรสุทธิเมื่อปี 2015 พุ่งขึ้นเป็น 149 ล้านเหรียญ หรือ 300% จากปี 2014
ปัจจุบัน Netmarble เป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับสองในตลาดเกมออนไลน์ของเกาหลีใต้ แซงหน้า NCSoft และเป็นรองเพียง Nexon ผู้ครองอันดับหนึ่งในตลาดมาอย่างยาวนานเท่านั้น ด้วยสัดส่วนการถือครอง 32% ของหุ้นใน Netmarble ทำให้ Bang เข้าอันดับเศรษฐีพันล้านเป็นครั้งแรกด้วยวัย 47 โดย
Forbes Asia ประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิไว้ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญ
เกม Marvel Future Fight ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 50 ล้านครั้งทั่วโลก
ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ตัวเลขทั้งหมดนี้เสริมสร้างให้ Bang หนุ่มใหญ่ผู้เรียนไม่จบมัธยมและพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องคนนี้มีความมั่นใจที่จะก้าวไปสู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคย เขาบินไป Los Angeles เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเพื่อร่วมงาน E3 Gaming Expo และสำรวจเทรนด์ล่าสุดของเกมเพื่อเตรียมตัวสยายปีกเข้าสู่ตลาดแถบตะวันตก และต่อมา Netmarble ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Jam City บริษัทเกมสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ใน Los Angeles ด้วยเม็ดเงินลงทุน 130 ล้านเหรียญ
การลงทุนใน Jam City เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความทะเยอทะยานของ Bang ปีนี้เขาเตรียมยื่นจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เกาหลี และเขาจะนำทุนที่ระดมได้ไปลงทุนในบริษัทเกมออนไลน์ในสหรัฐฯซึ่งสื่อเกาหลีใต้ประเมินว่ามูลค่าบริษัทจะสูงถึง 8.5 ล้านเหรียญ และ Bang จะยังถือครองหุ้นอยู่ 24%
บรรดาเจ้าของบริษัทเกมในเกาหลีใต้อาจนิยมอวดปริญญาบัตรกัน ยกเว้น Bang เขาไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย ตรงกันข้าม เขาเติบโตในครอบครัวยากจนห่างจากกรุง Seoul และเรียนไม่จบเกรด 11 เพราะเหนื่อยหน่ายในระบบการศึกษาแบบท่องจำ
“ผมเลิกเรียนเพราะผมอยากศึกษาสิ่งที่ผมสนใจให้ลึกซึ้ง” Bang เล่าโดยพัฒนาจากความสนใจในภาพยนตร์และเริ่มต้นธุรกิจแรกคือบริการภาพยนตร์ออนไลน์ในช่วงปลายยุค 90s แต่บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศยังล้าหลังทำให้ธุรกิจของเขาต้องพับไปในเวลาสองปี

จากนั้น Bang ก็เบนความสนใจมาที่เกม ขณะนั้นเกมออนไลน์เริ่มเบ่งบาน อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตขนานใหญ่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ
Bang สร้าง Netmarble ในปี 2000 ร่วมกับพนักงานแปดคนและเงินทุน 88,000 เหรียญที่ระดมมาจากนักลงทุน โดยวางเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้หญิงและเด็กด้วยการผลิตเกมที่เล่นได้ง่าย สามปีต่อมาเมื่อต้องการเงินมาขยายธุรกิจ
Bang จับมือร่างข้อตกลงที่แหวกแนวในยุคนั้นกับบริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับภาพยนตร์ Planus Entertainment ถ้า Netmarble ทำกำไรสุทธิได้ไม่ถึง 4.4 ล้านเหรียญภายในสิ้นปี Bang จะส่งมอบหุ้นบางส่วนของบริษัทที่เขาถืออยู่ 49% แต่ถ้าประสบความสำเร็จ Planus จะให้กำไรพิเศษแก่ Netmarble อีก 30%
จากแรงผลักดันดังกล่าว Netmarble กลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกโมเดลเกมเล่นฟรีที่อาศัยการทำธุรกรรมเพื่อช่วยให้ผู้เล่นทำคะแนนได้ดีขึ้น เช่น การซื้ออาวุธที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปีบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 14 ล้านเหรียญ
ความเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นที่สนใจของ CJ Group กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ Bang ได้พบกับ Lee Jay-Hyun ประธานของ CJ Group ในปี 2004 และตกลงควบรวมกิจการโดยเปลี่ยนชื่อจาก Netmarble เป็น CJ Internet Co. “แรกทีเดียวผมไม่สนใจดีลนี้มากนัก แต่ผมตระหนักว่าดีลนี้น่าจะให้โอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจ” Bang กล่าว
หลังจากการควบรวมกิจการ เขาช่วยสร้างผลงานเกมยิงสุดฮิตอย่างเกม Sudden Attack ให้แก่บริษัท Nexon รวมทั้งยังเดินหมากก้าวสำคัญอย่างการเริ่มเข้าสู่ตลาดมือถือที่เพิ่งเป็นรูปเป็นร่าง แต่ในปี 2006 เขาก็ต้องตัดสินใจออกจากเกมธุรกิจนี้ เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

แต่หลังเขาหันไปสวมบทนักลงทุนหุ้นเขาก็ยังมีความคิดสร้างบริษัทเกมขึ้นใหม่ “หลังจากพักไปสามปีผมก็เตรียมที่จะเริ่มต้นธุรกิจเกมใหม่อีกครั้งแต่ทาง CJ Group ขอให้ผมกลับไปเพราะบริษัทมีปัญหามาก” บริษัทรายงานว่าเกมส่วนใหญ่จากทั้งหมด 32 เกมของ Netmarble ในช่วงปี 2007-2011 “ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง” เนื่องจากซีอีโอไร้ประสบการณ์ด้านธุรกิจเกมจึงปรับตัวตามเทรนด์ได้ช้ามาก
เมื่อกลับมานำทีมอีกครั้ง Bang ก็ได้หันไปให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนและถอยออกจากตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่อิ่มตัวไปแล้ว เขามองเห็นการเปลี่ยนไปใช้สมาร์ทโฟนที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างรวดเร็วและคิดว่า
“นี่จะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของทุกคน เพราะมันจะเป็นมากกว่าโทรศัพท์” และปัจจุบันกล่าวได้ว่า รายได้ทั้งหมดของบริษัทล้วนมาจากตลาดแอพฯ
แต่โลกแห่งแอพฯประเภทเกมก็มีความท้าทายใหม่ App Annie เผยสถิติว่าจุดอิ่มตัวของเกมใหม่ลดเหลือเพียง 17 สัปดาห์เท่านั้น เทียบกับค่าเฉลี่ย 50 สัปดาห์เมื่อปีก่อนหน้า และเมื่อสามปีก่อนเคยใช้เวลานานกว่านี้ถึงสิบเท่า ทำให้ความสำเร็จของแอพฯเกมจำเป็นต้องมีวงจรพัฒนาที่สั้นขึ้นภายในสี่เดือน และมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
นี่คือหนึ่งในบรรดาอุปสรรคที่ Bang ต้องเอาชนะให้ได้ “เราต้องการพัฒนาขึ้นเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด...และรุกลงทุนในบริษัทระดับโลกเพื่อ (สร้างความมั่นคง) ด้านการพัฒนาเกมใหม่ๆ” Bang กล่าว “เราต้องการก้าวไปให้ (ไกลกว่า) ความสำเร็จของเราในเอเชียและเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ถ้าคุณประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ ก็จะแผ่อิทธิพลครอบคลุมซีกโลกตะวันตกได้ทั้งหมด”
เรื่อง: Grace Chung
เรียบเรียง: อรวรรณ แมคคอลีย์
คลิกอ่านฉบับเต็ม "เซียนธุรกิจเกมมือถือ" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560
