หลังคว้าสิทธิแปรสภาพ OSIM International ให้เป็นบริษัทเอกชนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Ron Sim ก็วางตัวเงียบๆ โดยกระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมและมีข้อเสนอเบื้องต้นอยู่ที่ 1.32 เหรียญสิงคโปร์ต่อหุ้น ก่อนที่เขาจะเพิ่มราคาเป็น 1.39 เหรียญในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ผู้ถือหุ้นยังมองว่า จำนวนเงินที่ได้รับยังน้อยเกินไป เนื่องจากข้อเสนอครั้งสุดท้ายยังมีมูลค่าไม่ถึงครึ่งของราคา OSIM ที่ทะยานแตะ 2.90 เหรียญต่อหุ้นเมื่อปี 2014 ด้วยซ้ำ (หาก Sim เข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายสิงคโปร์กำหนดเมื่อไร ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะต้องขายหุ้นทั้งหมดทันที)
มหาเศรษฐี Ron Sim บอกว่า เขาต้องการแปรสภาพ OSIM ให้เป็นบริษัทเอกชนเพื่อที่จะขยายตัวได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ เขายังไม่ต้องแบกรับความกดดันจากนักลงทุนในด้านผลประกอบการของบริษัทอีกต่อไป หลังจากที่ผลประกอบการในระยะหลังๆ ไม่ค่อยน่าพิศมัยนัก ในปี 2015 บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากความต้องการเก้าอี้นวด อาหารเสริม GNC (ซึ่ง OSIM ถือสิทธิ์แฟรนไชส์อยู่ในหลายภาคส่วนของทวีปเอเชีย) และชาชั้นดีอย่าง TWG ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีนนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า รายได้และกำไรของบริษัทจะลดลงไปอีก เนื่องจาก margin ที่ลดลง จำนวนร้านค้าก็น้อยลง ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานกลับเพิ่มสูงขึ้น “OSIM ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากแล้วครับ” Gregory Yapนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ Maybank กล่าว โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาถึงกับแนะนักลงทุนให้ขายหุ้นออกไปให้หมดด้วยซ้ำ Yap บอกว่า สถานการณ์ของ OSIM น่าจะดีขึ้นหากพวกเขากลายมาเป็นบริษัทเอกชน “พวกเขาต้องมีใครสักคนที่พร้อมจะฝ่าฟันช่วงเวลาทั้งดีและร้ายของธุรกิจนี้ นั่นก็มีเพียงผู้ก่อตั้งบริษัทเท่านั้นแหละครับ”
ก่อนหน้าที่จะเป็น Sim บุคคลที่ติดโผการจัดอันดับเศรษฐีสิงคโปร์คนอื่นๆ ต่างเคยนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นกันมาแล้วเช่นกัน เมื่อเดือนมิถุนายน Wee Kit Tang (อันดับ 18) กับพี่ชายของเขา เพิ่งจะนำเครือห้างสรรพสินค้า C.K. Tang เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทเอกชนของตนเองที่มีชื่อว่า Tang Holdingsหลังจากที่นำ C.K. Tang ออกจากตลาดหุ้นเมื่อปี 2009 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ C.K. Tangดึงดูดข้อเสนอซื้อหุ้นประมาณ 2% ของที่เหลืออยู่ซึ่งมีนักลงทุนถือหุ้นร่วมกันราว 500 คน ในปี 2013 Simon Cheong นำ SC Global บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับสูงออกจากตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน หลักๆ แล้วก็เพื่อเลี่ยงบทลงโทษแสนสาหัสของรัฐบาล ซึ่งบริษัทจดทะเบียนที่มีนักลงทุนเป็นชาวต่างชาติจำเป็นต้องจ่าย โดยคำนวณจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์หน่วยที่ยังขายไม่ออกนั่นเอง
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์กำลังตกต่ำอยู่นี้เองเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทจะแปรสภาพมาเป็นเอกชน หนึ่งในบรรดาตัวเต็งเวลานี้คือ CWT บริษัทโลจิสติกส์ที่กำลังเปิดเจรจาขายหุ้นวาระพิเศษกับ HNA Group กลุ่มธุรกิจจีน สำหรับผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม CWT คือ C&P Holdings ที่มี Loi Kai Meng (อันดับ 47) เป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันตลาดยังกำลังจับตามอง Wing Tai บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของ Cheng Wai Keung (อันดับ 37) และ Ho Bee Land ของ Chua Thian Poh(อันดับ 23) ด้วยเช่นกัน — เรื่อง: Jane A. Peterson
มหาเศรษฐีสิงคโปร์อันดับที่ 27: Ron Sim 57 ปี
มูลค่าทรัพย์สิน: 1.11 พันล้านเหรียญ
แหล่งที่มาของรายได้: ค้าปลีก
สถานภาพ: สมรส บุตร 3 คน
ผู้ก่อตั้ง OSIM International
คลิ๊กอ่าน "Singapore's 50 richest" เพิ่มเติมได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016