องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ว่า มีเด็กมากกว่า 40 รายถูกปลิดชีพแล้วจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะที่จำนวนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ “มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
Save the Children องค์การช่วยเหลือเด็กที่ดำเนินงานเพื่อสิทธิเด็กทั่วโลกระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี จำนวน 15 คนที่เสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เด็กวัย 13 ปีที่ “ถูกยิงขณะกำลังวิ่งเล่นอยู่บนถนน” ในนครย่างกุ้ง ขณะที่เหยื่ออายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 1 ขวบเท่านั้น โดยถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตาข้างขวา
ด้าน
Free Burma Rangers หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เด็กชายชาวกะเหรี่ยงวัย 5 ขวบ เสียชีวิตจากการที่กองทัพเมียนมาบุกโจมตีทางอากาศทิ้งระเบิดลงที่หมู่บ้านวันปูโน ในเขตปาปุนของรัฐกะเหรี่ยง ขณะที่เด็กหญิงวัย 12 ปี ได้รับบาดเจ็บบนใบหน้าจากเศษกระสุนในสถานการณ์เดียวกัน
นอกจากนี้ สำนักข่าว
BBC รายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน ครอบครัวของเด็กหญิงวัย 7 ปีในมัณฑะเลย์ได้ออกมาเปิดเผยว่า บุตรสาวเสียชีวิตในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากการที่ทหารและตำรวจเปิดฉากยิงแบบสุ่มในที่อยู่อาศัย ขณะที่เธอกำลังวิ่งกลับไปหาพ่อที่บ้าน
ทั้งนี้
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา (APPA) อัพเดทตัวเลขผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 31 มีนาคม ว่ามีจำนวนทั้งหมด 536 คน และมีผู้ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่อีก 2,729 คน
“เด็กผู้ไร้เดียงสาถูกพรากอนาคตไปอย่างโหดร้ายโดยไม่จำเป็น” Save The Children กล่าวผ่านทางแถลงการณ์
“ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเด็กๆ ที่ต้องเห็นพี่น้องของตนเสียชีวิตไปต่อหน้า ต่างต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและการสูญเสียที่เกินกว่าจะจินตนาการได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเมียนมาไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอีกต่อไป”
นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส
Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา เข้าจับกุม
Aung San Suu Kyi ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รวมถึงประธานาธิบดี
U Win Myint และแกนนำคนสำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเมียนมา และ
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี
โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลของเมียนมา ภายใต้การนำของ Aung San Suu Kyi ล้มเหลวในการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไป ที่มีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นเธอสามารถคว้าชัยได้เป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนถล่มทลายร้อยละ 83 ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งและมีประชาชนบางส่วนถูกตัดสิทธิ์การลงคะแนนเสียง
ทั้งนี้ ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างทหารและตำรวจที่เข้าปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหารมาตลอด 2 เดือนอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันกองทัพเมียนมา เป็นวันที่เกิด
เหตุการณ์นองเลือดมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 114 รายทั่วประเทศ
ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
Dominic Raab รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ได้ออกมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา เพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการก่อรัฐประหารของกองทัพ
“ทหารเมียนมาจมดิ่งสู่จุดต่ำสุดใหม่ด้วยการสังหารผู้บริสุทธิ์รวมถึงเด็กๆ”
ด้านสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี
Joe Biden ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการค้าทุกรูปแบบกับเมียนมา พร้อมระบุว่า
“สถานการณ์ในเมียนมามีความรุนแรงเป็นอย่างมาก และจากการรายงานที่ผมได้รับ มีผู้คนจำนวนมากถูกฆ่าตายโดยไม่จำเป็น”
แปลและเรียบเรียงจากบทความ At Least 43 Children Killed By Myanmar Military Forces, Humanitarian Group Reports เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
รัฐบาลทหารเมียนมาปิด Facebook ชั่วคราว อ้างก่อให้เกิดความไม่มั่งคง