รัฐบาลทหารเมียนมาปิด Facebook ชั่วคราว อ้างก่อให้เกิดความไม่มั่งคง - Forbes Thailand

รัฐบาลทหารเมียนมาปิด Facebook ชั่วคราว อ้างก่อให้เกิดความไม่มั่งคง

รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งการให้บริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมในประเทศปิด Facebook ชั่วคราว เพื่อลดโอกาสในการชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร

Aung San Suu Kyi
พลเอกอาวุโส Min-Aung-Hlaing ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา และผู้ก่อรัฐประหารในปี 2021

กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของเมียนมามีคำสั่งให้ระงับการให้บริการของ Facebook ชั่วคราว จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ โดยอ้างว่าเพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพภายในประเทศ

ปัจจุบัน Facebook แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมในเมียนมามีผู้ใช้บริการกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรภายในประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อและรับรู้ข่าวสาร ได้ถูกนำมาใช้ในการนัดแนะชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

โดยส่วนหนึ่งของข้อความในหนังสือคำสั่งระบุว่า “Facebook ได้ถูกใช้เพื่อแพร่กระจายข่าวปลอมและข้อมูลที่ผิดๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ผู้คน และอาจนำมาซึ่งการก่อการจราจลภายในประเทศ

ด้าน Facebook ได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหานี้ และได้เปิดเผยกับ Forbes ว่าเราขอเรียกร้องให้ทางการฟื้นฟูการเชื่อมต่อ เพื่อให้ชาวเมียนมาสามารถสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน ตลอดจนเข้าถึงข้อมูลสำคัญต่างๆ ได้

ทั้งนี้ นอกจาก Facebook แล้ว ธุรกิจอื่นๆ ในเครือของบริษัทก็โดนระงับการให้บริการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Messenger, WhatsApp หรือ Instagram

ในที่นี้ Telenor Group บริษัทโทรคมนาคมท้องถิ่น ผู้ระงับการให้บริการดังกล่าว ได้แสดงความกังวลอย่างมากและเปิดเผยกับ Reuters ว่า "แม้คำสั่งจะอิงพื้นฐานทางกฎหมายตามกฎหมายเมียนมา แต่ Telenor ไม่เชื่อว่าคำขอนั้นมีความจำเป็นและสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาจับกุม Aung San Suu Kyi ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รวมถึงประธานาธิบดี U Win Myint และแกนนำคนสำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเมียนมา และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลของเมียนมา ภายใต้การนำของ Aung San Suu Kyi ล้มเหลวในการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไป ที่มีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นเธอสามารถคว้าชัยได้เป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนถล่มทลายร้อยละ 83 ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งและมีประชาชนบางส่วนถูกตัดสิทธิ์การลงคะแนนเสียง

Aung San Suu Kyi

ทั้งนี้ ในปี 2018 Facebook ตระหนักว่า ทางบริษัท “สามารถหรือควร” ที่จะ “ป้องกันการใช้แพลตฟอร์มในการปลุกระดมความรุนแรง” ในพม่า หลังจากที่ New York Times ได้ออกมาเปิดเผยว่า ผู้นำทหารได้พยายามใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน หลายชาติทั่วโลกทั้งในเอเชียและชาติตะวันตกได้ออกมาประณามกองทัพเมียนมาที่ก่อการรัฐประหาร แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) องค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ดำรงรักษาสันติภาพและความปลอดภัยแก่ประเทศสมาชิกกลับเผชิญเสียงคัดค้านจากจีนและรัสเซียในการออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าว

ด้าน Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากจะออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมตัวผู้นำประเทศและการเข้ายึดอำนาจแล้ว ยังยุติความช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีให้แก่รัฐบาลเมียนมาทั้งหมดทันที เว้นแต่เพียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ซึ่งถือเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จะยังคงดำเนินต่อไป พร้อมทิ้งท้ายว่า “สหรัฐฯ จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทุกประเทศที่ประชาธิปไตยถูกคุกคาม”

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Myanmar’s Military Blocks Access To Facebook After Overthrowing Government เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Ant Group เตรียมปรับโครงการธุรกิจเป็น “บริษัทโฮลดิงด้านการเงิน”