เมื่อมาเร็วและแรงราวพายุ ก็ย่อมต้องถูกจับตาและตั้งคำถามเป็นธรรมดา ว่าวันเวลาอันยิ่งใหญ่ของ Xiaomi จะยืนยาวอีกนานสักแค่ไหน
ความสำเร็จของสมาร์ตโฟน Xiaomi ถือเป็นปรากฎการณ์ เมื่อกิจการที่ก่อตั้งโดย Lei Jun มหาเศรษฐีอันดับ 8 ของจีน สามารถเบียด Samsung ขึ้นเป็นผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่สุดในประเทศจีน ด้วยเวลาเพียง 4 ปี ด้วยความสำเร็จแบบก้าวกระโดด ทำให้ Xiaomi ยังก้าวขึ้นแท่นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนลำดับ 3 ของโลกประจำปี 2014 อีกด้วย แต่หากพิจารณาในเชิงปริมาณ ตัวเลขผลประกอบการของ Xiaomi กลับไม่สดใสนัก ประกอบกับปัญหาทางข้อกฎหมายในอินเดีย ทำให้เกิดคำถามถึงความยั่งยืนทางธุรกิจของสมาร์ตโฟนที่มาแรงแบรนด์นี้ขึ้นมา สำนักข่าว Reuters อ้างตัวเลขว่าบริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2013 อยู่ที่ 56 ล้านเหรียญ จากรายรับรวม 4.28 พันล้านเหรียญ มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขาย (operating margin) เพียงแค่ 1.8% เท่านั้น นับว่าต่ำมากหากเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Apple ที่มี 28.7% และ Samsung ที่มี 18.7% โดยตัวเลขดังกล่าว Reuters อ้างจากรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท Midea Group ที่ Xiaomi ถือหุ้นอยู่ 1.3% ต่างไปจากที่ The Wall Street Journal เคยรายงานว่ามีรายได้ถึง 566 ล้านเหรียญ ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่บริษัทนำเสนอต่อสถาบันการเงิน เพื่อขอสินเชื่อขยายกิจการไปยังต่างประเทศ โฆษกของ Xiaomi Kaylene Hong ชี้แจงว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นของ Xiaomi Inc. หนึ่งในบริษัทในเครือ Xiaomi ที่เข้าไปลงทุนใน Midea Group จึงมิใช่ผลประกอบการของ Xiaomi ทั้งหมด ทว่าผลกำไรที่ต่ำเช่นนี้ กลับดูสมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาเทคนิคในการทำ "สงครามราคา" ที่ Xiaomi ใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคทิ้ง Samsung หันมาใช้โทรศัพท์และแทบเล็ตตระกูล Mi ซึ่งราคาถูกกว่า นอกจากนี้ Xiaomi ยังต้องเผชิญข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดนอกบ้านเกิดที่สำคัญที่สุด เมื่อ Ericsson บริษัทสัญชาติสวีเดน ฟ้องร้องกล่าวหาว่าบริษัทจีนล่วงละเมิดสิทธิบัตรถึง 8 อย่าง เช่น 3G, EDGE และเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆ โดยศาลสูง Delhi ได้มีคำสั่งระงับ ไม่ให้มีการจำหน่ายและนำเข้าสินค้าของ Xiaomi ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Mi India เพื่อให้สะดวกปากคนท้องถิ่น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่บริษัทต้องเร่งจัดการแก้ไข Xiaomi จะดำรงรักษาการเติบโตอันน่าตื่นตาตื่นใจต่อไปได้หรือไม่ เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง Teng Bingsheng ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Cheung Kong Graduate School of Business กล่าวว่า Xiaomi จะยังคงโดดเด่นต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ด้วยการวางรากฐานทางธุรกิจที่รอบคอบและแข็งแรงของ Lei Jun ตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั่นเอง การกระจายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ช่วยลดต้นทุน การสื่อสารผ่านสื่อสังคมช่วยสร้างการผูกพันกับผลิตภัณฑ์ จนทำให้จำหน่ายจนเกลี้ยงได้ในเวลาไม่กี่นาที "Xiaomi ยังได้เปรียบต่อไปในอนาคตอันใกล้ แต่หลังจากสามปีข้างหน้า อาจต้องถูกบีบให้ทุ่มงบโฆษณามากขึ้น เพื่อหนีแบรนด์อื่นๆ ที่กำลังไล่หลังมา" สมาร์ตโฟนรายอื่นที่จ่อกระชั้นเข้ามาก็คือ Huawei และ Oppo ซึ่งหันมาประยุกต์ใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อลดต้นทุนเช่นเดียวกัน สมาร์ตโฟนของ Huawei ขายในราคาเริ่มต้นที่ 1,999 หยวน ซึ่งเป็นราคาเดียวกับรุ่นเรือธง Mi4 หน้าจอ 5 นิ้วของ Xiaomi และทาง Huawei ยังประกาศอีกว่าจะใช้ไลน์การผลิตสมาร์ตโฟนตระกูล Honor เพื่อกรุยทางสู่จุดสูงสุดของตลาดสมาร์ตโฟนในจีน ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยวันนี้ Huawei มีส่วนแบ่งตลาดในจีน 11% ขณะที่ Xiaomi มี 14% "เมื่อมีคู่แข่งขันมากรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาลอกเลียนแบบโมเดลออนไลน์ของ Xiaomi ย่อมทำให้มูลค่าของ Xiaomi ในตลาดออนไลน์เสื่อมลงเป็นธรรมดา" Linda Sui นักวิเคราะห์จาก Strategy Analytics กล่าว Xiaomi ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดว่ามีแผนการรับมือ Huawei และคู่แข่งขันรายอื่นๆ อย่างไร มีเพียงคำแถลงของ Lei Jun ว่า "ศักยภาพของ Xiaomi คือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาร์จิ้นที่ต่ำ ซึ่งเป็นเวทีพิสูจน์ที่แท้จริงในการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพระดับสูง" ในฐานะนักธุรกิจแห่งปี 2014 ของ Lei Jun การพา Xiaomi ให้มีอนาคตยืนยาว และก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องท้าทายในทุกๆ ปี เรียบเรียงจาก -Xiaomi May Lose Luster In Three Years As Huawei, Oppo Catch Up -It May Be Crushing Samsung In China, But Xiaomi Barely Makes A Profitข่าวอื่นๆ