การบริหารที่ดีขึ้นของ Hitachi - Forbes Thailand

การบริหารที่ดีขึ้นของ Hitachi

FORBES THAILAND / ADMIN
05 May 2016 | 01:20 PM
READ 2996
เรื่อง: ROSA TRIEU เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา เมื่อ Hiroaki Nakanishi เอ่ยถามเหล่าพนักงานของ Hitachi ในการประชุมปี 2011 ว่าบริษัทมีพนักงานทั้งหมดกี่คน ปรากฏว่าทั่วทั้งห้องเงียบกริบ ไม่มีใครสามารถตอบคำถามพื้นๆ ทั่วไปของ CEO ได้ (จำนวนพนักงานอยู่ที่ประมาณ 336,000 คน) หากพิจารณาลึกลงไป ไม่ใช่เรื่องยากที่จะบอกว่าทำไมไม่มีใครตอบได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่าบริษัทมีจำนวนพนักงานเท่าไหร่ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา Hitachi ฝ่าฟันผ่านพ้นภัยพิบัติแผ่นดินไหว ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำและสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัทได้ขยายอาณาจักรธุรกิจจนมีบริษัทในเครือกว่า 900 บริษัทในหลากหลายภาคธุรกิจ และมีชื่อเสียงในด้านการเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมากมายออกสู่ตลาด ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจใน 11 ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานทดแทน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ระบบการป้องกันประเทศ การเงิน สื่อดิจิทัลและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ Hitachi สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ แต่บริษัทกลับขาดเสน่ห์ที่จะดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลเหมือนดังบริษัทเทคโนโลยีหน้าใหม่ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีมูลค่า 2.4 หมื่นล้านเหรียญ แต่ Hitachi ตระหนักว่าความสำเร็จไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ที่จริงแล้วราคาหุ้นในปัจจุบันร่วงลงมาอยู่ระดับเดียวกับที่ซื้อขายกันในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา “สิ่งที่ทำให้เราก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้จากเมื่อ 100 ปีก่อนจะไม่ช่วยให้เราเติบโตไปได้ถึง 100 ปีข้างหน้า เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” Levent Arabaci รองประธานบริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Hitachi กล่าว และอุปสรรคสำคัญที่บริษัทต้องเผชิญคือเรื่องเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้วยความไม่สอดคล้องในการดำเนินงาน Arabaci กล่าวว่า Hitachi ก่อตั้งขึ้นด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักบุกเบิก ซึ่งบริษัทให้อิสระพนักงานริเริ่มโครงการของตนเอง ทัศนคติดังกล่าวนำไปสู่การตั้งบริษัทย่อยนับพันบริษัทและต่างก็ดำเนินงานโดยที่ไม่มีการแบ่งปันข้อมูลด้านพนักงานระหว่างกัน แล้วมีวิธีการบริหารบุคลากรแตกต่างกันไป สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการที่ประชากรในญี่ปุ่นมีจำนวนลดลงและ Hitachi ตระหนักว่าหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งพนักงานขัดกับแนวทางมุ่งสู่นวัตกรรมที่บริษัทยึดมั่น อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น “คุณต้องทุ่มเททำงานเกือบ 40 ปีกว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโส ผู้จัดการหรือตำแหน่งอื่นๆ วัฒนธรรมการบริหารงานแบบดั้งเดิมใช้ไม่ได้ผลแล้วที่ญี่ปุ่น” Arabaci กล่าว ซึ่งเขาชื่นชมและเห็นด้วยกับการที่ Nakanishi ประกาศแผนต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการที่จะยกเครื่องระบบ “การบริหารทรัพยากรบุคคล” ของ Hitachi Arabaci และ Imtiaz Shaikh ซึ่งนั่งตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลทั่วโลกจึงเดินหน้าเสาะหาซอฟต์แวร์สำหรับบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาระบบการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่ง ทั้งนี้ผู้บริหารทั้งสองคนประจำอยู่ที่สำนักงานใน San Francisco Bay Area ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ในช่วงเวลา 4 ปี Hitachi ปรับเปลี่ยนทีมบริหารทรัพยากรบุคคลจากที่เคยมีเพียงสัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 100% มาเป็นทีมบริหารหลากหลายเชื้อชาติจากทั้ง 8 ประเทศ บริษัทจะย้ายฐานข้อมูลพนักงาน 250,000 คนไปยังโปรแกรมซอฟต์แวร์จาก Workday ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า นับตั้งแต่ Hitachi ปรับโครงสร้างภายในองค์กรครั้งใหญ่บริษัทสามารถดึงดูดผู้สมัครงานกว่า 190,000 คน มีสัดส่วนรายได้จากประเทศอื่นๆ นอกญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจนแตะ 50% ในปี 2015 และติดอันดับที่ 38 ในการจัดอันดับบริษัทสุดยอดนวัตกรรมของโลกของ Boston Consulting Group ขณะที่บริษัทอื่นใช้กลยุทธ์ดำเนินการแตกธุรกิจเป็นบริษัทย่อยเพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น (เช่น Hewlett-Packard) ทว่า Hitachi มองหาหนทางให้บริษัทภายในเครือร่วมมือกันเพื่อเพิ่มศักยภาพ ด้วยบริษัทในเครือกว่าหนี่งพันบริษัท Hitachi เพียงต้องผสมผสานธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ลงตัว ตัวอย่างเช่น Hitachi ผสมผสานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสูบน้ำและระบบกรองน้ำ แล้วนำไปพัฒนาเครื่องผลิตน้ำดื่มที่ให้ความมั่นใจด้านความสะอาดปลอดภัย รวมถึงระบบจัดการและบำบัดน้ำเสีย เมื่อไม่นานมานี้บริษัทยังมุ่งสู่ทิศทางธุรกิจใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น นวัตกรรมเพื่อสังคมและเมืองอัจฉริยะ การปรับโครงสร้างองค์กรได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ แต่บริษัทต้องเผชิญและคาดการณ์ว่าจะมีเสียงต่อต้าน Arabaci พูดถึงเพื่อนร่วมงานที่มีแนวคิดแบบดั้งเดิมว่า “พวกเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ พวกเขาต้องใช้เวลานานกว่าจะยอมรับสิ่งใหม่ พวกเขารู้สึกภูมิใจกับการยึดมั่นสิ่งที่ทำมานาน แต่เมื่อได้รับแรงกดดันจาก Samsung และ บริษัทอื่นที่มีต้นทุนต่ำจากจีนและประเทศอื่นๆ ก็ทำให้คุณต้องเร่งมือ”
คลิ๊กเพื่ออ่านบทความเพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine