กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์ กลับสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีไทยอีกครั้ง - Forbes Thailand

กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์ กลับสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีไทยอีกครั้ง

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jul 2022 | 07:25 PM
READ 6933

ด้วยความไม่หยุดนิ่ง และเสาะหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์ จึงกลับเข้ามาสู่ทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทยจากการจัดอันดับของ Forbes อีกครั้ง หลังจากหลุดทำเนียบไปถึง 4 ปี

ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ปลดล็อกกัญชงเสรี โดยหนึ่งในมหาเศรษฐีผู้ผันตัวเข้าสู่ธุรกิจนี้คือ กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL บริษัทผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในไทย และได้จัดสรรเงินทุนไว้ถึง 2 พันล้านบาท (57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในการเดินหน้าปลูกกัญชงทางการแพทย์ เพื่อนำมาสกัดเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง ก้าวแรกในการหันมาเล่นธุรกิจสายเขียวของ GUNKUL คือ การร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ของพี่น้องเจียรวนนท์ในการพัฒนาสายพันธุ์เมล็ดกัญชงและผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มี CBD เป็นส่วนผสม
กัลกุล (กลาง) และ โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ (ขวา)
แนวทางธุรกิจนี้ทำให้เหล่านักลงทุนมั่นใจในบริษัทอย่างมากจนในปีที่ผ่านมาหุ้นของทางบริษัทพุ่งขึ้นร้อยละ 8 ส่งผลให้ กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท กลับมามีชื่อในการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2565 อีกครั้งในอันดับที่ 44 ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 765 ล้านเหรียญ หลังจากหายหน้าหายตาไปถึง 4 ปี ณ ห้องประชุมบอร์ด ชั้น 8 ที่สำนักงานใหญ่ Pearl Bangkok อาคารสำนักงานที่หน้าตาคล้ายกับ The Gherkin ในกรุง London แห่งนี้ กัลกุล ผู้นั่งตำแหน่งประธานกรรมการกล่าวถึงธุรกิจใหม่นี้ว่าเป็น “โอกาสแห่งทศวรรษ” โดยผู้ที่นั่งอยู่ข้างๆ ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้เป็นภรรยา และ สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผู้ดูแลการดำเนินงานต่างๆ ในบริษัท (นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ บุตรสาวของกัลกุล นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน) โดยทางบริษัทจะนำที่ดินโดยรอบของทุ่งกังหันลมมาทำประโยชน์ในการดำเนินการโปรเจ็กต์ดังกล่าว “ที่ดินคือผลพลอยได้จากธุรกิจพลังงานลมของเรา” กัลกุลกล่าว อีกทั้ง เขายังคาดว่ากัญชงจะสร้างรายได้ให้บริษัทได้ถึง 50 ล้านเหรียญภายในปีหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ โศภชาได้เสริมว่าการเสาะหาโอกาสใหม่ๆ อยู่ในดีเอ็นเอของสามี แต่จะเริ่มลงมือทำเมื่อเขา “มั่นใจร้อยละ 90 ว่าจะประสบความสำเร็จ”

ก่อนประสบความสำเร็จ

กัลกุล เป็นผู้สร้างบริษัทแห่งนี้ขึ้นมาเองกับมือ เขาเกิดในครอบครัวที่บิดาเป็นเจ้าของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยเป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้อง 7 คน ทั้งนี้ กัลกุลเผยว่าในขณะที่พี่ๆ น้องๆ ขยันหมั่นเพียร เขานั้นไม่ได้เป็นเด็กเรียนเท่าไร และเลือกที่จะลาออกมาช่วยงานพ่อที่ร้านแทน ด้วยอายุ 18 ปี เขาเริ่มหาช่องทางทำเงิน เข้าหาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเพื่อเสนอขายอุปกรณ์ช่างต่างๆ แต่เป็นเวลานับทศวรรษที่ธุรกิจของกัลกุลถึงจะเริ่มตั้งตัวได้ โดยในปี 2525 กัลกุลก็เริ่มตั้งกิจการของตัวเองขึ้นมา
กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์
ปี 2535 เขากู้เงินจากธนาคารเป็นจำนวน 2 ล้านบาทเพื่อดำเนินการผลิตซึ่ง ณ ตอนนั้นรัฐบาลมีนโยบายเสนอราคาพิเศษเพิ่มให้ร้อยละ 14 สำหรับอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ กัลกุลเองก็เล็งเห็นโอกาสสร้างกำไรจากนโยบายดังกล่าว การตั้งโรงงานแห่งแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก "ต้องอดหลับอดนอนกันหลายคืน" กัลกุลเล่าย้อนความ การหาคนที่เหมาะสมมาร่วมงานด้วยก็ยาก อีกทั้ง พนักงานบางส่วนก็ลาออกไปทำธุรกิจคู่แข่ง จุดเริ่มต้นของการขยายสู่สนามธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนของกัลกุล คือช่วงปี 2550 เมื่อได้เซ็นสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานลม “ผมตระหนักได้ว่านี้น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีและสร้างผลตอบแทนได้เร็ว” เขาอธิบาย ทางบริษัทเริ่มโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนที่จะขยับขยายมาทำพลังงานลม และสามารถคว้ารายใหญ่อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP Group มาเป็นลูกค้าได้สำเร็จ

ก้าวต่อไปของ กัลกุล ดํารงปิยวุฒิ์

ราวเกือบ 10 ปีก่อน บริษัท GUNKUL เริ่มขยายธุรกิจออกนอกประเทศผ่านการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้ขายโรงงาน 2 แห่งจาก 4 แห่งในญี่ปุ่น ทั้งนี้กัลกุลเผยว่าจุดที่เขาให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ณ ตอนนี้คือ ตลาดในประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา GUNKUL ได้จับมือกับบริษัทย่อยของ ​บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ สารัชถ์ รัตนาวะดี มุ่งเพิ่มศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี จาก 642 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน
GULF จับมือ GUNKUL ตั้งบริษัทร่วมทุน ตั้งเป้าผลิต “พลังงานสะอาด”
แผนขยายธุรกิจครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเปลี่ยนทิศทางรายได้ของบริษัทที่ดำดิ่งให้กลับมาดูดีอีกครั้ง ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2565 กำไรสุทธิของบริษัทตกลงถึงร้อยละ 17 ลดลงอยู่ที่ 505 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ยังคงอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท ไม่ต่างจากเดิมนัก หลังจากทางบริษัทต้องเจอกับกำไรสุทธิที่น้อยลงถึงร้อยละ 35  และรายได้ที่ตกลงถึงร้อยละ 10 เมื่อปี 2564 ทั้งนี้ สุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุนเอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทจะพุ่งขึ้นร้อยละ 73 แตะ 3.8 พันล้านบาท และรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 32 เป็น 1.23 หมื่นล้านบาทในปี 2565 นี้ อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าจะเติบโตปีต่อปีเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2567 ท้ายนี้ กัลกุล ผู้นอกจากจะเป็นนักธุรกิจตัวยงแล้ว ยังมีไร่ทุเรียนใกล้ๆ หัวหิน อีกทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ และมีคอลเล็กชั่นส่วนตัวที่เก็บไว้ ณ Hong Kong และเขามั่นใจว่าบริษัทจะสามารถสร้างรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปีนี้หน้านี้ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “ณ ตอนนี้ ผมก็เริ่มเสาะหาโอกาสต่อไปแล้ว” แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Renewable Energy Producer Gunkul Dhumrongpiyawut Returns To The List Of Thailand’s 50 Richest Recharged By A New Business เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2565

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine