แจ้งเกิดจากชานม Cha Panda พาผู้ก่อตั้งขึ้นแท่นมหาเศรษฐี - Forbes Thailand

แจ้งเกิดจากชานม Cha Panda พาผู้ก่อตั้งขึ้นแท่นมหาเศรษฐี

Wang Xiaokun ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Cha Panda เข้าร่วมทำเนียบมหาเศรษฐีโลกหลังรอบระดมทุนล่าสุดพามูลค่าแฟรนไชส์ชาจีนของเขาแตะ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ


    Wang วัย 40 ปี ครอบครองความมั่งคั่งรวม 1.1 พันล้านเหรียญจากการประเมินของ Forbes มูลค่าทรัพย์สินของเขามาจากการถือหุ้นเกือบ 60% ในแฟรนไชส์เครื่องดื่มจากเฉิงตู ซึ่งขยับขยายอย่างรวดเร็วตลอดสามปีที่ผ่านมาจนมีเครือข่ายกว่า 7,000 สาขาในปัจจุบัน เครื่องดื่มที่ทางแบรนด์ภูมิใจนำเสนอ ได้แก่ สาคูมะม่วงนมสดส้มโอ ชานมเผือกไข่มุก และชาเขียวมะลินม โดยส่วนใหญ่แล้วมีราคา 3.60 เหรียญ หรือต่ำกว่า

    Liu Weihong ภรรยาของ Wang เองก็สั่งสมความมั่งคั่ง 700 ล้านเหรียญจากการครอบครองหุ้น 33% ของบริษัท เธอยังดำรงตำแหน่งคณะกรรมการและรับผิดชอบกำกับดูแลการดำเนินงานของ Cha Panda ในแต่ละวัน อ้างอิงจากหนังสือชี้ชวนเบื้องต้นในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง อย่างไรก็ตามทางบริษัทไม่ได้ตอบอีเมลขอความคิดเห็นแต่อย่างใด

    รอบการระดมทุนของ Cha Panda ซึ่งเพิ่งจบลงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ขายหุ้นมูลค่า 13.2 หยวน (1.8 เหรียญ) ต่อหุ้นแก่บรรดานักลงทุนมากมาย ซึ่งมี CICC, Orchid Asia และ Shanghai Loyal Valley Investments รวมอยู่ด้วย โดยกล่าวไว้ในหนังสือชี้ชวน

    Cha Panda ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาหรือจำนวนหุ้น นักวิเคราะห์ชี้ว่าทางบริษัทจำเป็นต้องระดุมทุนเพิ่มเติมสำหรับนำมาเปิดสาขาให้มากขึ้น เพื่อไล่ตามตลาดเครื่องดื่มประเภทชาที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดในประเทศจีน

    “พอพูดถึงการดื่มชานม ลูกค้าไม่ได้มีความภักดีต่อแบรนด์เลย และมักเลือกจากแบรนด์อันหลากหลาย” Jason Yu กรรมการผู้จัดการ Kantar Worldpanel Greater China ที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้เผย “ดังนั้นใครก็ตามที่มีสาขามากกว่าย่อมมีโอกาสถูกผู้บริโภคพบเห็นมากกว่า รวมถึงได้รับส่วนแบ่งจากการใช้จ่ายที่มากกว่าด้วย”

    สำหรับต้นกำเนิดของ Cha Panda คงต้องย้อนกลับไปในปี 2008 ยามนั้น Wang เริ่มต้นขายชาผลไม้และชานมที่ร้านเล็กๆ ใกล้โรงเรียนในเมืองเฉิงตูทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมืองแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องอาหารรสจัดจ้านและยังเป็นบ้านเกิดของถิ่นกำเนิดแพนด้ายักษ์อีกด้วย

    สิบปีผ่านไป Wang บริหาร Cha Panda โดยขยายเครือข่ายสาขาสู่ 531 แห่งในปี 2020 ทว่าธุรกิจนี้เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อเขานำเอาโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์เข้ามาใช้

    กลยุทธ์ ณ ปัจจุบันของบริษัทคือพัฒนาสูตรเครื่องดื่มมากมายและขายส่วนผสมอย่างผลไม้และใบชาแก่ให้แก่ร้านเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Cha Panda ด้วยการทำเช่นนี้ Wang จึงสามารถคงค่าใช้จ่ายของแฟรนไชส์ให้ต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง Nayuki Holdings ซึ่งต้องจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานและค่าเช่าที่สาขาต่างๆ ที่ทางบริษัทบริหารเองโดยตรง

    ตัวเลขสาขา Cha Panda เติบโตอย่างยิ่งใหญ่สู่ 7,117 แห่งในเดือนสิงหาคมปีนี้ และในหนังสือชี้ชวนของทางบริษัทเผยว่า มีเพียงหกสาขาที่พวกเขาบริหารเองโดยตรงในไตรมาสแรก

    ปีที่ผ่านมา Cha Panda สร้างรายได้รวม 580.3 ล้านเหรียญ สูงกว่าปีก่อนหน้า 16% ผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น 24% สู่ 132.3 ล้านเหรียญ กลายเป็นร้านชาที่ใหญ่โตเป็นอันดับสามหากวัดจากยอดค้าปลีกในจีน ข้อมูลจากผลวิจัยของ Frost & Sullivan ที่อ้างอิงในหนังสือชี้ชวน

    เพื่อยกระดับการรับรู้ถึงแบรนด์ในหมู่ผู้บริโภคอายุน้อย ทางบริษัทยังสนับสนุนเทศกาลดนตรีและงานด้านวัฒนธรรมออฟไลน์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมแคมเปญการโปรโมตออนไลน์ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Cha Panda ยังแสดงออกถึงการสนับสนุน Chengdu Research Base of Giant Panda โดยรับเลี้ยงหนึ่งในแพนด้ายักษ์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรายนี้โดยมีการประกาศทางข่าวประชาสัมพันธ์

    ทว่าท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมค่าใช้จ่ายและนำเสนอสินค้าคุ้มราคา Yu จาก Kantar Worldpanel กล่าว

    “ผลิตภัณฑ์นี้ก็แลดูจะเหมือนๆ กัน ทั้งหมดเป็นการผสมของชากับส่วนผสมอื่นๆ เช่น ผลไม้” เขาว่า “ผู้บริโภคให้ความสนใจกับเรื่องราคามากกว่า เพราะที่จริงแล้วแบรนด์ชานมต่างๆ ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไรนัก”

    

    แปลและเรียบเรียงจาก Chinese Entrepreneur Becomes Billionaire By Selling Cheap Milk Tea ซึ่งเผยแพร่บน Forbes.com

    

    อ่านเพิ่มเติม : ผ่าทรัพย์สิน Robert F. Kennedy Jr. ผู้นำชื่อเสียงและความมั่งคั่งสู่สนามการเมือง

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine