เหตุใดการเงินดิจิทัล 100% จึงยังไม่ตอบโจทย์สังคมเอเชีย - Forbes Thailand

เหตุใดการเงินดิจิทัล 100% จึงยังไม่ตอบโจทย์สังคมเอเชีย

บนโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว หลายประเทศในเอเชียมุ่งสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดเพื่อโครงสร้างการใช้จ่ายเงินที่ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า แต่ควรตั้งเป้าไร้เงินสดทั้งหมด 100% เลยหรือเปล่า?


    แม้จะชัดเจนว่าธุรกรรมทางการเงินแบบไร้เงินสดนั้นมีประโยชน์ ยังคงมีกำแพงสำคัญขัดขวางการเปลี่ยนสู่สังคมไร้เงินสดโดยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะข้อจำกัดด้านโครงสร้าง ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลที่ยังไม่เพียงพอ และความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยี

    ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อการขยับขยายขอบเขตระบบจ่ายเงินแบบดิจิทัลในเอเชียหลายประเทศ นอกจากนี้ความเคยชินและบทบาทของเงินในเศรษฐกิจนอกระบบนั้นต่างก็ยากจะหาสิ่งใดแทนที่

    

ข้อดีเมื่อไร้เงินสด

    

    การใช้จ่ายโดยปราศจากเงินสดเต็มไปด้วยประโยชน์มากมายซึ่งช่วยให้ประชากรเติบโต อย่างแรกคือมีความปลอดภัยสูงกว่าธุรกรรมผ่านเงินสด การใช้เงินสดมาพร้อมความเสี่ยงด้านโจรกรรมหรือสูญหาย ในขณะที่การเงินแบบดิจิทัลสามารถป้องกันได้ด้วยการเข้ารหัสและการยืนยันตัวตนแบบต่างๆ ทั้งยังลดโอกาสปลอมแปลง เพิ่มความสบายใจแก่ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ

    ยิ่งไปกว่านั้น การใช้จ่ายโดยปราศจากเงินสดยังสะดวกสบายและง่ายดายอย่างยิ่ง เพียงแค่แตะหรือปัด ธุรกรรมก็สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ลดความเป็นที่จะต้องพกกระเป๋าสตางค์ใบโตหรือนับเงินทอนให้ถูกต้อง

    


    นอกเหนือจากนี้ธุรกรรมไร้เงินสดมาพร้อมกับบันทึกการทำธุรกรรมทุกครั้ง ทำให้ง่ายต่อการติดตามและวางแผนการเงิน ทั้งยังมีประโยชน์ต่อตัวบุคคลและธุรกิจที่กำลังวางแผนยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการเงินต่างๆ ความสะดวกสบายของใบเสร็จดิจิทัลและประวัติธุรกรรมยังช่วยให้กระบวนการขอเงินคืนเป็นไปอย่างง่ายดายไม่ว่าจะเป็นฝั่งคนขายหรือลูกค้าก็ตาม

    ประเทศจีนเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนในการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด เกือบ 90% ของธุรกรรมในร้านค้าปลีกเปลี่ยนมาเป็นแบบดิจิทัลกันหมดแล้ว

    

ข้อเสียเมื่อไร้เงินสด

    

    อย่างไรก็ตามแม้ธุรกรรมไร้เงินสดจะมีประโยชน์มากมาย ต้องไม่ลืมพิจารณาข้อเสียสำคัญหลายประการ หนึ่งเลยคือปัญหาความเป็นส่วนตัว ธุรกรรมเงินสดไม่ปรากฏชื่อ ในขณะที่การใช้จ่ายเงินแบบดิจิทัลจะทิ้งร่องรอยดิจิทัลไว้ อันนำมาสู่ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดข้อมูล

    ยิ่งธุรกรรมดำเนินไปแบบดิจิทัลมากขึ้นเท่าไหร่ แต่จะคนอาจเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมตัวตนหรือการเข้าถึงข้อมูลทางการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตมากขึ้น เศรษฐกิจนอกระบบยังมักต่อต้านดิจิทัลด้วยเหตุผลด้านการเก็บภาษีเพิ่มเติมหรือการตรวจสอบธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ใช้เงินสดล้วนๆ อย่างละเอียด

    อีกหนึ่งข้อเสียคือการพึ่งพาเทคโนโลยี การใช้จ่ายโดยปราศจากเงินสดจำเป็นต้องเข้าถึงสมาร์ตโฟน เครื่องอ่านบัตร และอุปกรณ์สำหรับการชำระเงินแบบดิจิทัลอื่นๆ ในภูมิภาคที่การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นไปอย่างจำกัด เช่น พื้นที่ชนบท หรือประเทศด้อยพัฒนา การเปลี่ยนมาใช้จ่ายแบบไร้เงินสดอาจเป็นการกีดกันประชากรจำนวนหนึ่งออกไป

    ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกรรมไร้เงินสดยังต้องมาพร้อมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเสถียรและต่อเนื่อง ในพื้นที่สัญญาณไม่ดีหรือไฟตกบ่อยครั้ง การพึ่งพาการชำระเงินดิจิทัลเพียงอย่างเดียวอาจเป็นปัญหาใหญ่มาก

    ดังเช่นกรณีของหมู่เกาะโซโลมอนที่แหล่งกำเนิดไฟหลักๆ แล้วมาจากเครื่องปั่นไฟดีเซลที่ไม่มีความต่อเนื่องเพียงพอ ดังนั้นเงินจึงยังคงเป็นราชา ถูกยอมรับเป็นสากล และไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกในการใช้งาน

    

ข้อจำกัดในทางปฏิบัติ

    

    แม้ประโยชน์ของธุรกรรมไร้เงินสดจะน่าดึงดูดเพียงใด การก้าวสู่สังคมไร้เงินสด 100% ก็มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติหลายประการ อุปสรรคสำคัญของหนึ่งคือการขาดแคลนโครงสร้างที่เพียงพอจะรองรับธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัล

    หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่ตามหลังเรื่องการพัฒนาระบบการเงิน โครงสร้างที่จำเป็นต่อการชำระเงินแบบดิจิทัลอย่างไร้รอยต่อยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม การเข้าถึงเครื่องอ่านบัตร ระบบขายหน้าร้าน และช่องทางชำระเงินออนไลน์ต่างก็ขาดไม่ได้เลยในการนำธุรกรรมไร้เงินสดมาใช้อย่างแพร่หลาย

    ข้อจำกัดในทางปฏิบัติอีกประการคือปัญหาคือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล คนรุ่นใหม่อายุน้อยอาจสะดวกสบายกับเทคโนโลยีดิจิทัลก็จริง แต่ยังมีประชากรอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่เชี่ยวชาญการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหรือเข้าใจระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล

    การขาดแคลนความรู้นี้สามารถขัดขวางธุรกรรมแบบไร้เงินสดได้ เพราะโดยปกติแล้วคนเรามักไม่ยินดีจะโอบรับเทคโนโลยีที่ตัวเองไม่เข้าใจเต็มร้อย

    


    เพิ่มเติมจากโครงสร้างและความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความเคยชิน พฤติกรรม และบทบาทของเงินในเศรษฐกิจนอกระบบยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ประเทศในเอเชียหลายประเทศ เงินผูกพันลึกซึ้งกับกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เช่น เป็นของขวัญ หรือพิธีการเก่าแก่

    การใช้เงินในตลาดนอกระบบและร้านค้าตามท้องถนนถือเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศเอเชีย ปัจจัยด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเหล่านี้กลายเป็นตัวยับยั้งการกีดกันเงินสดออกจากสังคม

    

เข้าถึงผู้ที่เข้าถึงยาก

    

    หนึ่งเป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวสู่สังคมไร้เงินสดคือยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่การทำธุรกรรมดิจิทัลอาจยิ่งผลักประชากรที่ยากจะเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงบริการธนาคารออกไปไกลกว่าเดิม

    ประชากรที่ยากจะเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงบริการธนาคารมักเผชิญอุปสรรคอย่าง การขาดเอกสารยืนยันตัวตน ความรู้ด้านการเงินที่จำกัด หรือระดับรายได้ต่ำ ซึ่งกีดกันไม่ให้พวกเขาเข้าถึงบริการต่างๆ ของธนาคาร

    สำหรับผู้คนประเภทนี้ เงินสดถือเป็นสื่อกลางหลักในการแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละวัน

    หากปราศจากตัวเลือกอย่างเงินสด ประชากรเหล่านี้อาจประสบปัญหาไม่สามารถเข้าร่วมทำธุรกรรมทั้งในและนอกระบบได้ การถูกกีดกันออกเช่นนี้จะยิ่งย้ำแผลความเหลื่อมล้ำ และขัดขวางความพยายามเพิ่มความมีส่วนร่วมทางการเงิน

    

มองไปข้างหน้า

    

    ขณะที่ข้อจำกัดและความท้าทายในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดนั้นปรากฏชัดเจน ก็ยากจะปฏิเสธว่าในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ที่จะขยายขอบเขตการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลออกไปอีก ยิ่งเทคโนโลยีรุดหน้าไปไกลขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น กำแพงกั้นการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดมีแนวโน้มลดลง

    อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่อนาคตที่ไร้เงินสดพร้อมความระมัดระวังและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การสร้างสมดุลระหว่างเงินสดและไร้เงินสดจึงจำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจากทุกรูปแบบชีวิตสามารถมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจได้

    จากการพิจารณาความจำเป็นของประชากรที่ี่ยากจะเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร ความกังวลด้านความปลอดภัย และการลงทุนในโครงสร้าง แต่ละสังคมจึงจะสามารถโอบรับประโยชน์ของธุรกรรมแบบไร้เงินสดไปพร้อมๆ กับรักษาการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้

    

สร้างสมดุล

    

    แม้แนวคิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสด 100% จะน่าตื่นตาตื่นใจ สิ่งจำเป็นคือการกระตุ้นการปฏิบัติจริงและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับกระแสนี้ ข้อจำกัดด้านโครงสร้าง ความรู้ความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ ความเคยชิน และบทบาทของเงินในเศรษฐกิจนอกระบบก่อร่างรวมกันเป็นกำแพงขวางสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ

    เมื่อมีการลงทุนในโครงสร้าง ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และพิจารณาวิธีการชำระเงินทางเลือก แต่ละสังคมจะสามารถกรุยทางสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจไร้เงินสดอันทรงประสิทธิภาพทีละเล็กละน้อยและประสบความสำเร็จได้ในท้ายที่สุด การสร้างสมดุลระหว่างเงินสดและไร้เงินสดคือกุญแจสำคัญในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สูงสุดของการเงินยุคดิจิทัลขนานไปกับการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้

    ยิ่งความเคลื่อนไหวสู่สังคมไร้เงินสดวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ การบ่มเพาะความเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งว่าด้วยความซับซ้อนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระแสนี้จึงขาดไปไม่ได้เด็ดขาด

    มีเพียงหนทางที่นำเอาข้อจำกัดในทางปฏิบัติและการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องมาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเท่านั้นจะพาเราไปสู่อนาคต ที่ซึ่งเงินและเงินสดอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งแต่ละบุคคลและเศรษฐกิจโดยเท่าเทียม

    

    แปลและเรียบเรียงจาก Why Going 100% Digital Might Not Be The Solution In Asia: Examining The Practicality And Limitations Of A Cashless Society ซึ่งเผยแพร่บน Forbes

    

    อ่านเพิ่มเติม : Cup Noodles เอาใจเกมเมอร์ เติมกาเฟอีนพร้อมลุยตลอดคืน

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine