ทรัพย์สินมหาเศรษฐี "พลังงาน" ของไทยเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกซบเซา - Forbes Thailand

ทรัพย์สินมหาเศรษฐี "พลังงาน" ของไทยเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกซบเซา

FORBES THAILAND / ADMIN
07 May 2020 | 09:40 AM
READ 2630

แม้ราคาพลังงานทั่วโลกจะตกฮวบ เกิดการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจไทยอ่อนแรง แต่นักธุรกิจใหญ่แห่งวงการ พลังงาน ของไทย 3 จาก 4 คนก็ยังมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว พวกเขาทำได้อย่างไร

บุคคลเหล่านี้มุ่งเน้นเรื่องก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน และได้ประโยชน์จากเป้าหมายของรัฐบาลซึ่งต้องการให้ประเทศหันไปหา พลังงาน ที่สะอาดขึ้น

ปัจจุบัน สารัชถ์ รัตนาวะดี วัย 54 ปี มีทรัพย์สิน 6.8 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 31% บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของเขาทำกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ 3 โรงที่เริ่มเปิดดำเนินการในปีนี้ ทำให้กำไรปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 61%

ส่วน Harald Link วัย 65 ปี ผู้นำรุ่นที่ 3 ของ บี.กริม ได้เห็นทรัพย์สินของตัวเองเพิ่มขึ้น 12% เป็น 2.3 พันล้านเหรียญ เมื่อบริษัทของเขาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 40% ทำให้กำไรโดดขึ้น 34% ในปีที่แล้ว

ทำเนียบมหาเศรษฐีปีนี้มีผู้เข้ามาใหม่คือ วิระชัย ทรงเมตตา ซึ่งคุม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ร่วมกับตระกูลของเขา บริษัทแห่งนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทำให้ตระกูลนี้มีทรัพย์สินสุทธิรวม 585 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม มูลค่าหุ้นของพวกเขาลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในช่วงที่ตลาดผันผวนอย่างรุนแรงในระยะหลัง

แต่ สมโภชน์ อาหุนัย แห่ง บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ เป็นคนเดียวที่เดือดร้อนหนัก ทรัพย์สินของเขาลดลง 38% เหลือ 1.75 พันล้านเหรียญ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนขายหุ้น เนื่องจากสมโภชน์มีแผนจะเช่าอสังหาริมทรัพย์สำหรับใช้เป็นโรงงานใหม่จากบริษัทที่เขาเป็นเจ้าของเอง

Daine Loh นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของ Fitch Solutions ในสิงคโปร์กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะซบเซา แต่ความต้องการพลังงานของประเทศไทยน่าจะยังอยู่ในระดับเดิม และยังต้องเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก

ปัญหาที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกซบเซาและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาจากภายนอก แต่ปัจจัยอย่างพลังงานจะยังเป็นที่ต้องการต่อไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนหรือไม่ Loh กล่าว

ความต้องการพลังงานจากแหล่งที่สะอาดน่าจะแซงแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม หลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทบทวนแผนการพัฒนา ด้านพลังงานขององค์กรในปี 2018 โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียนจาก 10% ในปัจจุบันให้เป็นประมาณ 37% ภายในปี 2037

และเมื่อปีที่แล้ว กระทรวงพลังงานของไทยก็ออกแผนงานที่อนุญาตให้บริษัทจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ของภูมิภาค

ตอนนี้บริษัทไทยหลายแห่งกำลังโดดเข้าตลาดพลังงาน ปีที่แล้วกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ตั้งกิจการร่วมทุนกับ ปตท. โดยถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 70:30 ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและก๊าซ เพื่อสร้างสถานีก๊าซ LNG และท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของไทยซึ่งมีมูลค่ารวม 1.3 พันล้านเหรียญ โดยมีกำหนดเปิดใช้งานใน 5 ปี ซึ่งโครงการนี้ แสดงถึงจุดสนใจใหม่ของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

เราต้องหาโครงการใหม่ๆ มาผลักดันรายได้ และการเติบโตยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการของ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี กล่าวเราจึงโดดเข้ามาทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ยังออกประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ 2 บริษัท เพื่อผลิตไฟฟ้า และทำระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ให้โครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาฯ มูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญใจกลางกรุงเทพฯ ของมหาเศรษฐีไทย เจริญ สิริวัฒนภักดี

กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ยังคาดว่าจะได้เซ็นสัญญาสร้างและบริหารงานถนนมอเตอร์เวย์ 2 สายในเร็วๆ นี้ และกำลังนำบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งเข้าประมูลโครงการท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ ร่วมกับ ปตท.

บี.กริม ก็เข้าสู่ธุรกิจ LNG เช่นกัน ช่วงต้นปีที่แล้ว บริษัทจ่ายเงิน 3.3 พันล้านบาท (105 ล้านเหรียญ) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใกล้สถานี LNG แห่งเดียวของประเทศ บี.กริม ขายไฟฟ้าปริมาณมากให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ก็ทำธุรกิจในต่างประเทศด้วย โดยขายไฟฟ้าให้ EVN ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตไฟฟ้าของเวียดนาม ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ 2 โรงที่นั่น

นอกจากนี้ บี.กริม ยังได้ทำสัญญาสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการโดยแห่งหนึ่งอยู่ในโอมานและอีกแห่งในฟิลิปปินส์ และยังคว้าสัญญามูลค่า 27 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างโครงการแผงโซลาร์ลอยน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยซึ่งเป็น 1 ใน 16 โครงการที่ไทยกำลังวางแผนจะสร้าง

แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ อาจจะเป็นบริษัทที่มีแนวทางชัดที่สุดสำหรับการเกาะกระแสการเปลี่ยนทิศทางของประเทศไทยไปสู่พลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าชีวมวล 9 โรงงานของบริษัทเป็นตัวสร้างกำไรส่วนใหญ่ให้บริษัทนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 49% ในปีที่แล้ว

วิระชัยกำลังใช้เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO มาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า ด้วยโครงการพลังงานหมุนเวียนโครงการใหม่ 19 โครงการ รวมถึงโรงไฟฟ้าจากขยะในภาคใต้ของไทย และเมื่อเดือนมกราคมบริษัทกล่าวว่า ได้ประมูลโรงไฟฟ้าจากขยะเพิ่มอีก 2 แห่งในปีนี้ด้วย--Danielle Keeton-Olsen

   
คลิกอ่านการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2020 ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine