การจัดอันดับ 100 มหาเศรษฐีจีน ประจำปี 2022 - Forbes Thailand

การจัดอันดับ 100 มหาเศรษฐีจีน ประจำปี 2022

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Feb 2023 | 12:17 PM
READ 4317

ในบรรดาผู้ที่ร่ำรวยสูงสุด 100 อันดับแรกมีถึง 79 คนที่มีมูลค่าความมั่งคั่งลดลงหลังโดนกระหน่ำจากทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาด


    สถานการณ์เศรษฐกิจและโรคระบาดในจีนแผ่นดินใหญ่ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของผู้ร่ำรวยมากที่สุดของประเทศปรับตัวลดลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ Forbes เริ่มติดตามกลุ่มคนที่รวยที่สุดในประเทศตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

    คนรวยสูงสุด 100 อันดับแรกของจีนมีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกันลดลง 39% ไปเป็น 9.071 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 1.48 ล้านล้านเหรียญในการจัดอันดับเมื่อปี 2021 และมีถึง 79 คนที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง และ 12 คนที่กลับมาติดทำเนียบอีกครั้ง มี 4 คนที่ได้แบ่งทรัพย์สินกันในครอบครัว ส่วน 3 คนเข้ามาติดทำเนียบเป็นครั้งแรก โดยมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีมูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น

    ความวิตกกังวลเกี่ยวกับกระแสการเมืองที่โน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายหลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมปี 2022 ยังมีส่วนทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง ประกอบกับเงินหยวนที่อ่อนค่าลงกว่า 12% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ในรอบปี 2021

    ขณะเดียวกันดัชนีชี้วัดสำคัญ 2 รายการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น CSI 300 ดัชนีหุ้นอ้างอิงของจีนที่สูญมูลค่าไปกว่า 1 ใน 4 นับตั้งแต่แสดงรายการครั้งสุดท้าย ส่วนดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงยิ่งทรุดหนักลงไปเกือบ 41%

Zhong Shanshan ประธานกรรมการ Nongfu Spring


    สำหรับคนรวยที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็น Zhong Shanshan ประธานกรรมการ Nongfu Spring ผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดอันดับ 1 ของจีนที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงเล็กน้อยเพียง 5% ไปเป็น 6.23 หมื่นล้านเหรียญ จาก 6.59 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปี 2021 ซึ่งนับว่าดีพอใช้เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐีอีกหลายๆ คนที่มีมูลค่าสินทรัพย์ลดลงอย่างหนัก

    เพราะนอกจากจะมีธุรกิจน้ำดื่มซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญแล้ว เขายังเลือกการลงทุนอันชาญฉลาดใน Beijing Wantai Biological Pharmacy ผู้ผลิตชุดทดสอบโควิดนั่นเอง

    อย่างไรก็ตามไม่มีเศรษฐีในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดเอาตัวรอดจากวิกฤตในครั้งนี้ได้เลย Robin Zeng ประธานกรรมการ CATL ที่แม้จะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลง 43% จาก 5.08 หมื่นล้านเหรียญในปี 2021 เหลือ 2.89 หมื่นล้านเหรียญในปี 2022 รั้งอันดับ 3 ต่อไปอีก 1 ปี

Robin Zeng ประธานกรรมการ CATL


    ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น BYD ที่มี Warren Buffett เป็นผู้สนับสนุนเข้าซื้อกิจการของ Tesla ในปี 2022 และกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกทันที BYD มีสมาชิกติดทำเนียบการจัดอันดับในปี 2022 ถึง 2 คนคือ ประธานกรรมการ Wang Chuanfu ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.77 หมื่นล้านเหรียญ มากที่สุดในกลุ่ม และ Lu Xiangyang กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.27 หมื่นล้านเหรียญ

    เศรษฐีพันล้านคนสำคัญประจำทำเนียบการจัดอันดับในปี 2022 คือ Chris Xu ผู้ก่อตั้ง Shein ร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้ากลุ่มฟาสต์แฟชั่น Xu เข้ามาในอันดับ 25 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1 หมื่นล้านเหรียญหลังการระดมทุนรอบใหม่

    สมาชิกใหม่อีกรายคือ Xue Min ซีอีโอของ Shanghai United Imaging Healthcare ผู้ผลิตอุปกรณ์ถ่ายภาพทางการแพทย์ มีทรัพย์สินโดยประมาณ 5.25 พันล้านเหรียญ

    เศรษฐีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตมีผลประกอบการไม่ดีเท่าไรนักเช่นกัน Lei Jun ซีอีโอค่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง Xiaomi มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจาก 1.79 หมื่นล้านเหรียญ เหลือ 7.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Richard Liu ประธานกรรมการ JD.com มีมูลค่าความมั่งคั่งลดลงไปอยู่ที่ 8.3 พันล้านเหรียญจาก 1.76 หมื่นล้านเหรียญในปี 2021


Richard Liu ประธานกรรมการ JD.com


    ด้าน กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เผชิญปีที่ยากลำบากไม่น้อย ในบรรดามหาเศรษฐีจีนที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงมากที่สุดคือ Yang Huiyan ประธานกรรมการร่วมของ Country Garden มีมูลค่าทรัพย์สินลดวูบลงเหลือ 4.91 พันล้านเหรียญจาก 2.78 หมื่นล้านเหรียญในปี 2021 แต่ก็เพียงพอที่ทำให้เขากลับมาติดทำเนียบได้อีกครั้ง

    ขณะที่เศรษฐีอีก 5 คนในกลุ่มธุรกิจเดียวกันยังไม่สามารถทำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิแตะหลักขั้นต่ำ 3.5 พันล้านเหรียญได้เลย

    รายงานเพิ่มเติมจาก January Yen, Julie Lew, Susan Radlauer, Giacomo Tognini และ Yue Wang

    วิธีการจัดเก็บข้อมูล: ในการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ในปีนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลการถือหุ้นและข้อมูลทางการเงินที่ได้จากครอบครัวและคนอื่นๆ ตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ฐานข้อมูลเอกชน และแหล่งข้อมูลอื่นๆ โดยคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตามอัตราแลกเปลี่ยนและราคาหุ้น ณ วันที่ 28 ตุลาคม ปี 2022

    สำหรับการประเมินมูลค่าบริษัทเอกชนจะใช้อัตราส่วนทางการเงินและการเปรียบเทียบด้านต่างๆ กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน

    นอกจากนี้ ในบางครอบครัวยังมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างกัน พวกเรายังพิจารณาผู้ประกอบการจากแผ่นดินใหญ่จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นพลเมืองสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่มีแหล่งทรัพย์สินอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่


คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่:

- ไฮไลต์ 4 มหาเศรษฐี "ผู้ร่ำรวยที่สุดของจีน" ประจำปี 2022 ตอนที่ 1
- ไฮไลต์ 4 มหาเศรษฐี "ผู้ร่ำรวยที่สุดของจีน" ประจำปี 2022 ตอนที่ 2



คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine