ในบรรดาผู้ที่ร่ำรวยสูงสุด 100 อันดับแรกของจีนมีถึง 79 คนที่มีมูลค่าความมั่งคั่งลดลงหลังโดนกระหน่ำจากทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาด ทั้งนี้ Forbes ได้คัดสรร 4 มหาเศรษฐีผู้มีความมั่งคั่งเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินธุรกิจของแต่ละบุคคลที่มีความน่าสนใจ
สถานการณ์เศรษฐกิจและโรคระบาดในจีนแผ่นดินใหญ่ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของผู้ร่ำรวยมากที่สุดของประเทศปรับตัวลดลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ Forbes เริ่มติดตามกลุ่มคนที่รวยที่สุดในประเทศตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา
คนรวยสูงสุด 100 อันดับแรกของจีนมีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกันลดลง 39% ไปเป็น 9.071 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 1.48 ล้านล้านเหรียญในการจัดอันดับเมื่อปี 2021 และมีถึง 79 คนที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง และ 12 คนที่กลับมาติดทำเนียบอีกครั้ง มี 4 คนที่ได้แบ่งทรัพย์สินกันในครอบครัว ส่วน 3 คนเข้ามาติดทำเนียบเป็นครั้งแรก โดยมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีมูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
สำหรับคนรวยที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็น Zhong Shanshan ประธานกรรมการ Nongfu Spring ผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดอันดับ 1 ของจีนที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงเล็กน้อยเพียง 5% ไปเป็น 6.23 หมื่นล้านเหรียญ จาก 6.59 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปี 2021
ซึ่งนับว่าดีพอใช้เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐีอีกหลายๆ คนที่มีมูลค่าสินทรัพย์ลดลงอย่างหนักเพราะนอกจากจะมีธุรกิจน้ำดื่มซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญแล้ว เขายังเลือกการลงทุนอันชาญฉลาดใน Beijing Wantai Biological Pharmacy ผู้ผลิตชุดทดสอบโควิดนั่นเอง
ZHONG SHANSHAN
ในปี 2021 นับเป็นช่วงเวลาลำบากไม่น้อยสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ตามเจ้าพ่อน้ำดื่ม Zhong Shanshan กลับเอาตัวรอดได้และยืนหยัดเป็นเศรษฐีพันล้านของจีนได้ค่อนข้างดีทีเดียว แม้ทรัพย์สินของเขาจะลดลง 5% เหลือ 6.23 หมื่นล้านเหรียญจากปี 2021 แต่ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ Nongfu Spring ยังคงครองตำแหน่งหัวแถวการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดของจีนได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
Zhong ปัจจุบันมีอายุ 67 ปี เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนอันวุ่นวาย เขาทดลองเส้นทางอาชีพต่างๆ โดยทำงานแรกในธุรกิจก่อสร้างและหนังสือพิมพ์ ก่อนจะประสบความสำเร็จในธุรกิจน้ำดื่มต่อมาอีกยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 1996
เขาก่อตั้งบริษัทขึ้นมาหลายแห่ง ซึ่งรวมถึง Zhejiang Thousand Island Lake Yangshengtang Drinking Water ซึ่งพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง Nongfu Spring ปัจจุบัน Nongfu Spring มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Hangzhou เป็นผู้ผลิตน้ำดื่มและน้ำชาบรรจุขวดที่มีมูลค่าตามราคาตลาด 5.9 หมื่นล้านเหรียญ
การกระจายสินค้าที่หยั่งลึกลงในประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ประกอบกับการทำการตลาดที่ปรับเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นช่วยให้ Nongfu Spring ยืนหยัดต่อสภาวะทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการ “โควิดเป็นศูนย์” ได้ตลอดทั้งปี 2022
โดยในครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 4.6 ล้านหยวน (676 ล้านเหรียญ) สูงกว่าปี 2021 เกือบ 15% จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 9% มาอยู่ที่ 1.66 หมื่นล้านหยวน ขณะที่ทรัพย์สินของเขาเองก็เพิ่มขึ้นหลังจากที่ Beijing Wantai Biological Pharmacy เสนอขายหุ้น IPO เมื่อปี 2020 เพราะ Zhong ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแห่งนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นรวมถึงชุดทดสอบโควิด-19 ด้วย
JACK MA
อดีตเศรษฐีพันล้านที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ยังคงหันหลังให้กับอาณาจักรอินเทอร์เน็ตที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ท่ามกลางความพยายามอย่างกว้างขวางของจีนที่จะเข้าควบคุมยักษ์ใหญ่รายต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต
Ma ครองตำแหน่งคนรวยอันดับที่ 5 ของจีนด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.06 หมื่นล้านเหรียญ หลังจากที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหารกิจการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง Alibaba มาได้ 3 ปี เขาก็มีแผนจะสละอำนาจควบคุม Ant Group ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจฟินเทค
จากรายงานประจำปีฉบับล่าสุดของ Alibaba แสดงให้เห็นว่า Ma วัย 58 ปี จะทยอยลดการเข้าไปมีบทบาททางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมใน Ant ลงเรื่อยๆ โดยเหลือการถือหุ้นไม่เกิน 8.8% จากปัจจุบันเขามีอำนาจควบคุมบริษัทใน Hangzhou แห่งนี้ด้วยการถือหุ้นมากกว่าครึ่ง ผ่านบรรดาบริษัทโฮลดิ้งการลงทุนที่เกี่ยวข้อง
แหล่งข่าวผู้คลุกคลีในเรื่องนี้เปิดเผยกับ Forbes เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เขาอาจตัดสินใจโอนอำนาจในการออกเสียงลงคะแนนไปให้ผู้บริหารของ Ant ซึ่งรวมถึงซีอีโอ Eric Jing
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเมื่อ Ant ต้องแปลงโฉมเป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการเงินตามกำหนดของธนาคารกลางที่เพิ่มมาตรการควบคุมดูแลแอปที่ปล่อยเงินกู้และชำระเงินออนไลน์ เช่น Alipay ของ Ant ส่งผลให้มูลค่าบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมีการประเมินว่ามูลค่าบริษัทปรับตัวลดลงกว่า 70% เหลือ 7 หมื่นล้านเหรียญหลังจากแผนการขายหุ้น IPO มูลค่า 3.5 หมื่นล้านเหรียญ ถูกหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีนสกัดไว้ช่วงปลายปี 2020
จากข้อมูลที่ Alibaba ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีกำไร 3.7 พันล้านหยวน (555 ล้านเหรียญ) ในไตรมาสแรกของปี 2022 ลดลง 17% เมื่อเทียบกับปี 2021 สำหรับ Alibaba ถือหุ้น 1 ส่วน 3 ใน Ant และได้รายงานผลการเงินที่มีส่วนได้เสียจากการเข้าไปลงทุนใน Ant
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา Ma มักจะเก็บตัวจากสายตาสาธารณชนเสียเป็นส่วนใหญ่ ล่าสุดเพิ่งจะมีผู้เห็น Zen เรือซูเปอร์ยอชต์ขนาด 88 เมตรเทียบท่านอกเกาะ Mallorca ของประเทศสเปน หลังจากที่ Ma เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการผลิตอาหารแบบยั่งยืน
LIU HANYUAN
วิกฤตด้านพลังงานโลกขับเคลื่อนผลประกอบการให้กับ Tongwei Group ของ Liu Hanyuan เจ้าพ่อหน้าใหม่ด้านพลังงาน อย่างไรก็ตามแม้ว่าความต้องการผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ของ Tongwei Group ผู้ผลิตซิลิคอนบริสุทธิ์สูงสำหรับใช้ในแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดในโลกจะเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ในตลาดส่งผลให้ทรัพย์สินของ Liu มีมูลค่าลดลงเหลือ 1.24 หมื่นล้านเหรียญ รั้งอันดับที่ 20 ในการจัดอันดับคนรวยที่สุดของจีนประจำปี 2022
ในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2022 กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่ามาอยู่ที่ 2.17 หมื่นล้านหยวน (3 พันล้านเหรียญ) อานิสงส์จากรายได้ 1.02 แสนล้านหยวนของ Tongwei Co. บริษัทในเครือซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ราคาซิลิคอนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นๆ ปี 2022 ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประกอบไปด้วยการผลิตซิลิคอนเกรดแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่แสงอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของยอดขายของกลุ่มบริษัท
แม้ว่า Liu จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ Tongwei Co. ตั้งแต่ปี 2019 แต่ยังคงรับหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท
บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกิจการในเชิงรุก โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตซิลิคอนเกรดแสงอาทิตย์ให้ได้ปีละไม่น้อยกว่า 350,000 ตัน ภายในสิ้นปี 2023 เพิ่มขึ้นจากเกือบ 110,000 ตันในปี 2021 และแบตเตอรี่แสงอาทิตย์อีก 80 กิกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ครองตำแหน่งผู้นำตลาดแบตเตอรี่แสงอาทิตย์ด้วยยอดส่งมอบกว่า 30 กิกะวัตต์อยู่แล้ว
Liu ก่อตั้ง Tongwei Group ขึ้นเมื่อปี 1992 ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารปลา ก่อนก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานในปี 2013 ด้วยการเข้าซื้อบริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์แห่งหนึ่งในจีน โดยที่ยังคงผลิตอาหารปลาและอาหารสัตว์ปีละ 10 ล้านตัน จำหน่ายทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นการกระตุ้นตลาดอาหารสำเร็จรูปที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งรวมถึงอาหารกลุ่มปลาและเนื้อ
การผนึกกิจการทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันได้เกิดเป็นธุรกิจใหม่นั่นคือ การสร้างโซลาร์ฟาร์ม 50 ผืนบนฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ และ Tongwei ยังส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2021 พื้นที่ขนาด 2.8 ล้านตารางเมตรซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลริมหาดที่ Shandong แห่งนี้มีจุดชมวิวที่ได้รับการจัดอันดับ AAA จากกระทรวงการท่องเที่ยว (กำแพงเมืองจีนได้ไป 5A)
JIN BAOFANG
ตามข้อมูลของ Custom Market Insights ในอินเดียระบุว่า ผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ในตลาดโลกมีการเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักในปี 2021 พุ่งขึ้นเป็น 1.612 แสนล้านเหรียญ
ความเฟื่องฟูดังกล่าวส่งผลให้ Jin Baofang ในฐานะผู้ก่อตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการของ JA Solar Technology ขึ้นสู่ทำเนียบในอันดับที่ 23 ด้วยทรัพย์สิน 1.04 หมื่นล้านเหรียญ
ผู้ผลิตแผงโซลาร์รายนี้มียอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 เติบโตขึ้น 89% เป็น 4.93 หมื่นล้านหยวน (6.8 พันล้านเหรียญ) จากปี 2021 ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น กว่า 2 เท่าเป็น 3.3 พันล้านหยวน
ปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตแผงสูงขึ้น แต่ JA Solar ชดเชยสิ่งนี้ด้วยการผลิตแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์และชิปซิลิคอนของตัวเอง ปัจจุบัน JA Solar รองรับได้ราว 80% ของปริมาณแผงที่ผลิตได้ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 กิกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2022 หรือเทียบเท่ากับประมาณ 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตแผงในจีนปี 2021
ตลาดต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของยอดขายปี 2021 JA Solar มีโรงงานผลิตในมาเลเซียและเวียดนาม และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ได้ประกาศว่า จะมีการลงทุน 1.2 พันล้านหยวนเพื่อขยายการผลิตในเวียดนาม ซึ่งบริษัทมีส่วนร่วมในการออกแบบก่อสร้าง และดำเนินงานโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
JA Solar จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ในปี 2007 แต่ Jin นำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ในปี 2018 หลังจากราคาหุ้นไม่ค่อยสดใส และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ Shenzhen ผ่านทางอ้อมในปีถัดมา
เรื่อง: Russel Flannery
เรียบเรียง: รัน-รัน , พิมพ์นรา และ ธรรดร โสตถิอำรุง
คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่:
- การจัดอันดับ 100 มหาเศรษฐีจีน ประจำปี 2022
- ไฮไลต์ 4 มหาเศรษฐี "ผู้ร่ำรวยที่สุดของจีน" ประจำปี 2022 ตอนที่ 2