Adam Sachs ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Vicarious Surgical เขย่าวงการแพทย์ สร้างหุ่นยนต์(หมอ)ผ่าตัดขนาดจิ๋ว - Forbes Thailand

Adam Sachs ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Vicarious Surgical เขย่าวงการแพทย์ สร้างหุ่นยนต์(หมอ)ผ่าตัดขนาดจิ๋ว

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Feb 2022 | 07:30 AM
READ 2542

Adam Sachs ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Vicarious Surgical เขย่าวงการแพทย์ พร้อมเดิมพันหุ่นยนต์ผ่าตัดขนาดจิ๋วตัวใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังไซไฟปี 1966 เรื่อง Fantastic Voyage ที่จะสามารถช่วยให้การผ่าตัดช่องท้องเร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น และค่าใช้จ่ายถูกลง เพื่อจะล้มยักษ์ในวงการนี้ให้ได้

สมัยเด็ก Adam Sachs ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Vicarious Surgical เคยดูหนังไซไฟปี 1966 เรื่อง Fantastic Voyage และเขาประทับใจแนวคิดการส่งศัลยแพทย์ตัวจิ๋วเข้าไปผ่าตัดจากภายในสมองของนักวิทยาศาสตร์ “ขนาดร่างกายของมนุษย์ไม่เหมาะจะผ่าตัดมนุษย์” เขากล่าว “เราไม่ต้องเอาใครมาย่อส่วน แต่เราสร้างตัวแทนขึ้นมาได้ โดยสร้างหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ เลียนแบบคน” นั่นคือสิ่งที่เขาและผู้ร่วมก่อตั้ง Vicarious Surgical คือ Sammy Khalifa ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัท และนายแพทย์ Barry Greene ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ใช้เวลาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาสร้างขึ้น พวกเขาพัฒนาหุ่นยนต์ตัวน้อยที่ใช้ร่วมกับ VR เครื่องหูฟังสวมศีรษะสำหรับผ่าตัดช่องท้อง โดยหวังว่าจะวางตลาดได้ในปี 2023 แขนสองข้างและกล้องของหุ่นตัวนี้ออกแบบมาให้เข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วยผ่านทางรอยกรีดกว้างไม่ถึงครึ่งนิ้วได้ และเมื่อเข้าไปแล้วก็ผ่าตัดได้รอบทิศทาง การทำให้หุ่นยนต์ผ่าตัดมีขนาดเล็กลงเป็นเรื่องยากสาหัส แม้เทคโนโลยีนี้จะไม่เหมือนการย่อร่างหมอแล้วฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วยเหมือนหนังไซไฟ แต่มันก็ล้ำยุคมากพอจะทำให้ Vicarious ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเกรด A ซึ่งรวมถึง Bill Gates, Vinod Khosla, Eric Schmidt และ Jerry Yang และนี่เป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวแรกที่ได้รับสถานะจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ว่า เป็นวิธีรักษาอาการเจ็บป่วยร้ายแรงที่น่าจะให้ผลดีกว่าวิธีเดิมๆ อย่างมาก ซึ่งช่วยให้หุ่นยนต์ตัวนี้มีสิทธิ์ได้รับการตรวจพิจารณาก่อนวิธีการอื่น “ความสามารถการใช้ศอกข้างหนึ่งยันภายในช่องท้องไว้แล้วเอื้อมไปทำงานที่ผนังช่องท้องด้านหลังได้ถือเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว” Paul Hermes ซึ่งเคยดูแลโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ของ Medtronic และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้ Vicarious กล่าว “เราคาดว่าการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะดีขึ้นอีก” Vicarious กำลังเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านการควบรวมกิจการกับบริษัทในรูปแบบ SPAC แห่งหนึ่งที่ก่อตั้งโดย Donald Tang นักลงทุนชาวฮ่องกง ข้อตกลงมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ครั้งนี้จะช่วยระดมทุนให้บริษัทได้ 115 ล้านเหรียญ และดึง Becton Dickinson ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีการแพทย์ผู้ผลิตแผ่นตาข่ายที่ใช้ในการผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนเข้ามาเป็นนักลงทุน โดยคาดว่ารายได้ต่อปีของ Vicarious น่าจะแตะ 1 พันล้านเหรียญภายในปี 2027 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหุ่นยนต์ผ่าตัดคือ Intuitive Surgical ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด 1.15 แสนล้านเหรียญเปิดตัว da Vinci หุ่นยนต์ผ่าตัดขนาดใหญ่มี 4 แขนที่ถืออุปกรณ์แบบแท่งได้เมื่อ 2 ทศวรรษก่อนและครองวงการมานับแต่นั้น แต่เมื่อสิทธิบัตรของ Intuitive หมดอายุและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก้าวหน้าขึ้น คู่แข่งอย่าง J&J และ Medtronic ซึ่งซื้อกิจการสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ผ่าตัดมาก็แข่งกันเพื่อจะทำให้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์กลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนการผ่าตัดผ่านกล้องให้ได้ หุ่นยนต์ของ Vicarious คาดว่าจะมีราคาประมาณ 1.2 ล้านเหรียญ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของหุ่นยนต์ระดับชั้นนำในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ Vicarious ได้เปรียบ อีกทั้งศัลยแพทย์ก็เรียนรู้วิธีใช้งานได้ง่ายด้วย Sachs เริ่มต้นศึกษาการออกแบบเครื่องจักรที่บ้านของเขาในแถบชานเมือง Boston พ่อของเขา Ely Sachs เป็นอาจารย์วิศวกรรมเครื่องกลที่ MIT และถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสแห่งวงการพิมพ์ 3 มิติ ส่วนแม่เป็นสถาปนิกเขาได้รู้จักกับ Khalifa ซึ่งปัจจุบันอายุ 31 ปีตั้งแต่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ปี 1 ที่ MIT ด้วยกัน พวกเขาสนิทกันมากและใช้เวลาว่างในห้องปฏิบัติงานเครื่องจักรกลที่คณะช่วยกันสร้างหัวขับ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนกลที่ใช้ขับเคลื่อนข้อต่อของหุ่นยนต์ “เราจะทดสอบกัน พอออกมาแล้วไม่ได้ผลเราก็สร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก” Sachs เล่า ช่วงที่ Sachs กับ Khalifa ยังเรียนอยู่พวกเขาก็เริ่มทำงานร่วมกับ Greene ซึ่งเป็นศัลยแพทย์โรคอ้วนและเป็นเพื่อนกับครอบครัวของ Sachs เพื่อสร้างอุปกรณ์การแพทย์ที่จะกลายมาเป็นหุ่นยนต์ในที่สุด ในปี 2014 หลังจาก Sachs ไปทำงานกับ Apple ช่วงสั้นๆ เขาก็ก่อตั้ง Vicarious ด้วยเงินทุน 400,000 เหรียญจากการระดมทุนรอบ seed fund ที่มี Michael Rothenberg เป็นผู้นำ และในปี 2015 Khalifa ก็ลาออกจากงานมาร่วมกับเขา Sachs เล่าว่า งานหนักที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ การแก้โจทย์เรื่องหัวขับ การทำให้หัวขับของหุ่นยนต์ มีขนาดเล็กลงจนติดตั้งได้ 9 ตัว (ซึ่งมากกว่าจำนวนหัวขับในหุ่นยนต์ผ่าตัดทั่วไปถึง 3 เท่า) เป็นเรื่องยากมาก และการแยกระบบควบคุมเพื่อให้ข้อต่อแต่ละส่วนหมุนได้อย่างอิสระก็ยากเช่นกัน ซึ่งแขนแต่ละข้างต้องใช้เซนเซอร์ 28 ตัวเข้ามาช่วย Howie Choset อาจารย์ด้านหุ่นยนต์จาก Carnegie Mellon เปรียบเทียบความท้าทายเชิงเทคนิคของงานนี้ว่า เหมือนการยัดสิ่งของเยอะเกินไปลงในกระเป๋าเดินทางแล้วพยายามจะหยิบของออกมาใช้ และสิ่งที่แย่กว่านั้นก็คือ ยิ่งหัวขับเล็กลงเท่าไร กำลังขับก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น “เราต้องการกำลังขับมากที่สุดในหุ่นยนต์ตัวเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แค่การใส่กำลังขับลงไปให้มากที่สุดก็เป็นปัญหาแล้ว” เขากล่าว “น่าทึ่งมากที่ [Sachs] ทำให้มันใช้งานได้”
แรงบันดาลใจจาก Fantastic Voyage เมื่อ Adam Sachs ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Vicarious Surgical เริ่มสวมเครื่องหูฟังเพื่อทดลองผ่าตัดศพด้วยหุ่นยนต์จิ๋วของเขาเป็นครั้งแรก
การผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อนคือ ตลาดแรกที่ Vicarious เล็งไว้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มากที่มีการผ่าตัดกว่า 2 ล้านครั้งต่อปีในสหรัฐฯ มีผู้เข้ารับการผ่าตัดโรคไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (ซึ่งมักเกิดขึ้นแถวกลางผนังหน้าท้อง) 500,000 ครั้ง และการผ่าตัดก็ซับซ้อนมาก การผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องแบบมาตรฐานจะใช้ตาข่ายเย็บติดผนังหน้าท้องไว้ แต่ผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมาเป็นไส้เลื่อนอีกประมาณ 20% และมักต้องผ่าซ่อมเพิ่มเติม เทคนิคขั้นสูงที่ใช้วิธีสอดตาข่ายไว้กับกล้ามเนื้อหน้าท้องช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่ก็เป็นการผ่าตัดที่ยากและหุ่นยนต์อื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง Sachs เล่าว่า ตอนที่ Vicarious ได้รับสถานะให้เป็นเครื่องมือที่ใช้รักษาจาก FDA นั้น หุ่นยนต์ของเขาสามารถทำการผ่าตัดดังกล่าวในศพมนุษย์ได้โดยใช้เวลาครึ่งเดียว และหลังจากนั้นก็ลดเวลาลงอีกจนเหลือไม่ถึงชั่วโมง ในวิดีโอสาธิตการผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้อง หุ่นยนต์ของ Vicarious ใช้แขนสอดตาข่ายเข้าไปในช่องท้องและเย็บปิดแผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อผ่าตัดเสร็จเร็วขึ้นก็เท่ากับผู้ป่วยเสี่ยงน้อยลง และโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น Vicarious ตั้งเป้าจะขยายธุรกิจไปสู่การผ่าตัดช่องท้องแบบอื่นๆ ด้วย รวมถึงการผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้วยจำนวนการผ่าตัดรวม 39 ล้านครั้ง (มีเพียง 3% ที่ผ่าโดยใช้หุ่นยนต์) นี่คือเหตุผลที่ Sachs ผู้มีหุ้นใน Vicarious มูลค่า 112 ล้านเหรียญคิดว่า การจับตลาดแค่เสี้ยวเดียวก็ช่วยให้สร้างบริษัทขนาดใหญ่ได้แล้ว “สายงานนี้หยุดนิ่งมานาน และมีความคิดที่คนยอมรับและพูดต่อๆ กันมาทั้งที่มันไม่จริง” Tang ผู้ร่วมลงทุนผ่านบริษัท SPAC กล่าว “เราต้องฝากงานนี้ไว้ในมือของคนที่จะแสดงให้เราเห็นว่า เทคโนโลยีนี้เป็นไปได้และไม่ใช่แค่ฝันเฟื่อง”   เรื่อง: Amy Feldman และ Aayushi Pratap เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: GETTY IMAGES; MICHAEL PRINCE อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine