Xwing เปิดศักราชการบินไร้คนขับ - Forbes Thailand

Xwing เปิดศักราชการบินไร้คนขับ

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Mar 2023 | 02:01 PM
READ 3899

อากาศยานไร้คนขับเดินทางมาถึง สหภาพนักบินเตรียมรับศึกหนัก ขณะที่ FAA ยังคงนิ่งเฉย เมื่อเที่ยวบินอัตโนมัติใกล้เข้าสู่การบินพลเรือนเร็วกว่าที่คิดซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อบริเวณที่ไม่เคยมีเครื่องบินลงจอดมาก่อน


    ในเดือนมกราคม 2023 Dave Calhoun ซีอีโอของ Boeing ได้เปิดเผยความลับในโลกแห่งการบิน “ผมคิดว่าระบบอัตโนมัติแห่งอนาคตเป็นไปได้สำหรับพลเรือน” เขาบอกกับ Bloomberg TV ก่อนจะรีบขยายความว่า “มันต้องใช้เวลา ทุกคนต้องสร้างความมั่นใจ เราต้องการขั้นตอนการรับรองที่เราต่างก็ศรัทธาและเชื่อมั่น”

    แน่นอนว่ากองทัพสหรัฐใช้เครื่องบินอัตโนมัติมาหลายทศวรรษแล้ว แต่เป็นในพื้นที่เฉพาะ ตอนนี้มันค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเครื่องบินไร้นักบินกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในการบินพาณิชย์และในอนาคตอันใกล้อย่างในการ์ตูนเรื่อง Jetsons (การ์ตูนซิทคอมเกี่ยวกับครอบครัวในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย)

    เหล่าผู้ผลิตอากาศยานกำลังศึกษาพัฒนากันอย่างแข็งขัน สายการบินต่างตั้งหน้าตั้งตารอ องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือ FAA) กำลังเตรียมพร้อมรับมือ ส่วนสหภาพนักบินก็ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังก่อตัวให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

    เมื่อสิบปีก่อน บทสนทนานี้เป็นเรื่องของการคาดเดาเสียส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันหลายคนในอุตสาหกรรมการบินต่างเชื่อว่าเครื่องบินลำเล็กที่บินได้ด้วยตัวเองเหล่านี้จะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ หลังจากนั้นหากไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงด้านความปลอดภัย ก็อาจใช้เวลาน้อยกว่าอีกหนึ่งทศวรรษที่เครื่องบินโดยสารลำใหญ่จะขึ้นบินได้โดยปราศจากนักบิน

    “มันเป็นเรื่องของเงินล้วนๆ” Dennis Tajer กล่าว เขาเป็นนักบินมา 35 ปีและเป็นโฆษกให้กับ Allied Pilots Association สหภาพซึ่งเป็นตัวแทนของนักบินอเมริกันกว่า 15,000 คน “ผู้ผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่มานำเสนอ พวกเขาจะได้ขายมันเพื่อทำเงิน และเหล่าสายการบินก็คอยดูอยู่ว่าพวกเขาจะทำให้มันออกมาถูกกว่านี้ได้อย่างไร”

    ค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องยากจะโต้แย้ง หกปีที่ผ่านมา มีรายงานจากธนาคารสัญชาติสวิส UBS ประมาณการว่าเครื่องบินอัตโนมัติสามารถช่วยธุรกิจบริการขนส่งทางอากาศประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

    อย่างไรก็ตาม รายงานเดียวกันนั้นชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับมุมมองจากสาธารณชนที่ผลสำรวจจากทั่วโลกเผยว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมบินไปกับเครื่องบินที่ไม่มีนักบินแม้ว่าราคาจะถูกกว่าก็ตาม

    ในปีต่อมาผลการสำรวจของ Ipsos พบว่าชาวอเมริกัน 81 เปอร์เซ็นต์ไม่สะดวกใจเดินทางด้วยเครื่องบินอัตโนมัติ ที่สำคัญคือการสำรวจในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจาก Air Lines Pilots Association (ALPA) ซึ่งมีสมาชิกถึง 65,000 คนและสหภาพนักบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ



    การเปิดตัวอากาศยานอัตโนมัติสู่การบินพลเรือนนั้นจะเริ่มจากเครื่องบินบรรทุกสินค้าขนาดเล็กนำโดยบริษัทต่างๆ เช่น Xwing สตาร์ทอัพจาก Nothern California “เรานำโครงของ Cessna ที่มีอยู่มาใช้” Marc Piette ซีอีโอของ Xwing เล่า

    “ซึ่งเป็นโครงเครื่องบินบรรทุกสินค้าด่วนพิเศษที่นิยมใช้กันมากที่สุด เรายังดัดแปลงพาหนะลำนี้ให้ควบคุมได้จากระยะไกล เราคิดว่าตลาดขนส่งสินค้าเหมาะเป็นก้าวแรกในการนำมันมาใช้งาน เราไตร่ตรองเรื่องนี้กันอย่างรอบคอบ”

    สองสามปีที่ผ่านมานี้ Xwing ได้ทดสอบภารกิจไร้นักบินหลายครั้ง หลักๆ ที่ California เมื่อใส่แผนการบินเข้าไปตามปกติ ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ จะถูกตั้งไว้ล่วงหน้าก่อนเครื่องจะขึ้นบิน “มันเป็นเรื่องง่ายๆ แค่คลิกเดียว” Piette กล่าว “คุณแค่ป้อนคำสั่งเข้าไปในระบบ แล้วมันก็จะทำงานของมันเอง”

    ทั้งนี้จนกว่าเทคโนโลยีการบินอัตโนมัติจะผ่านการรับรองโดย FAA ยังคงจำเป็นต้องมีนักบินคอยประจำการ ทำให้ Xwing ไม่สามารถกระโดดข้ามกฎระเบียบต่างๆ ไปได้ “นักบินสามารถตัดการเชื่อมต่อของระบบและเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้ควบคุมเครื่องบินได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ไม่ต้องทำอะไรนอกจากคอยเฝ้าหน้าจอระบบ ถือเป็นงานที่น่าเบื่อมาก” Piette อธิบาย

    ในขณะเดียวกัน Cessna ของพวกเขาได้รับคำสั่งจากภาคพื้นดิน มีผู้ดูแลเพียงคนเดียวคอยมองแผนที่บนจอต่างๆ ไปพร้อมๆ กับควบคุมการจราจรทางอากาศ

    “บริษัทเหล่านี้ต่างก็กำลังมุ่งหน้าสู่วันที่ไม่จำเป็นต้องมีนักบินประจำการในห้องนักบิน”

    เมื่อเทคโนโลยีนี้ผ่านการรับรอง Xwing วางแผนเปิดตัวและใช้งานอากาศยานเหล่านี้ภายในปลายปี 2025 แล้วจากนั้นจึงอนุญาตให้ผู้อื่นเข้ามาใช้งานได้

    “ยกตัวอย่างเช่น FedEx มีเครื่องบิน Cessna 208 ประมาณ 240 ลำ สำหรับเครือข่ายในสหรัฐ” Piette กล่าวโดยอ้างถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเครื่องบินบรรทุกสินค้า เขาคาดหวังด้วยว่าเครื่องบินอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้สำหรับการขนส่งผู้โดยสารได้ก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้

Marc Piette ซีอีโอของ Xwing (คนกลาง)


    Xwing ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเครื่องบินบรรทุกสินค้าอัตโนมัติเพียงรายเดียว แต่พวกเขามีอาวุธลับเป็นหัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานและคุณภาพ Earl Lawrence รู้ไม่หนึ่งก็สองเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบของ FAA เนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรับรองอากาศยาน (Aircraft Certification) และเพิ่งออกจากหน่วยงานดังกล่าวมาเมื่อเร็วๆ นี้

    โดยก่อนหน้านั้นเขาได้ริเริ่มสำนักงานไร้มนุษย์ควบคุมที่ FAA “หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการนำเครื่องบินประเภทนี้เข้าสู่ตลาดบรรทุกสินค้าคือเราไม่ได้เปลี่ยนกติกา เราปฏิบัติตามกฎ” เขากล่าว เพิ่มเติมว่าหลายบริษัทมีแผนการที่ขัดต่อกฎกติกาของ FAA “นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างช้าลง”

    น้อยคนนักจะรู้เรื่องเครื่องบินอัตโนมัติดีกว่าไป Stephane Fymat ผู้นำหน่วย Urban Air Mobility (UAM) และ Unmanned Aerial Systems (UAS) แห่ง Honeywell บริษัทที่มีประวัติการผลิตระบบการบินอัตโนมัติ มาอย่างยาวนานให้กับเหล่าเครื่องบินเจ็ต Boeing Dreamliners, Gulfstream, Embraer และอากาศยานอื่นๆ อีกมากมาย

    Fymat แบ่งปันสไลด์ PowerPoint เนื้อหาสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในการประชุมอุตสาหกรรมสำหรับผู้ได้รับเชิญเท่านั้นกับ Forbes หลังการแนะนำอันรวบรัด บนสไลด์ก็ปรากฏรูปภาพหกรูปเรียงกันเป็นตาราง แต่ละรูปแสดงภาพเครื่องบินที่ผลิตโดยลูกค้าแต่ละรายของ Honeywell บางลำออกแบบมาเพื่อบรรทุกสินค้า บางลำสำหรับโดยสาร



    บนรูปหนึ่งชายหลายคนกำลังขนย้ายกล่องขึ้นเครื่องบินบรรทุกสินค้าสร้างโดยบริษัทผลิตอากาศยานเบาสัญชาติสโลวีเนีย Pipistrel ซึ่งถูก Textron บริษัทอเมริกันที่ตั้งอยู่ใน Rhode Island ซื้อไปในปีที่แล้ว เครื่องบินลำนี้ไม่มีห้องนักบินด้วยซ้ำ

    “โดยพื้นฐานแล้ว ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการมีนักบินก่อน แล้วจึงปรับให้เป็นแบบไร้นักบินในภายหลัง” Faymat พูดถึงเหล่าคู่ค้าของ Honeywell “มีสองสามรายต้องการทำให้ได้ภายในสี่หรือห้าปี ส่วนบางคนคิดว่าน่าจะใช้เวลาสัก 10 ปี”

    ข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดของเครื่องบินไร้คนขับขนาดเล็กคือพื้นที่ว่างมากขึ้น ระบบอัตโนมัติสามารถเปลี่ยนให้เครื่องบินหกที่นั่งเพิ่มเป็นเจ็ดที่นั่งได้ “บริษัทเหล่านี้ตั้งหน้าตั้งตารอวันที่ไม่จำเป็นต้องมีนักบินบนเครื่อง” Fymat กล่าว “อันที่จริงทุกคนต่างก็กำลังวางแผนดำเนินการ ส่วนเราก็คอยช่วยให้พวกเขาทำสำเร็จ”

    “เครื่องบินบรรทุกสินค้าคือยาขนานแรกสำหรับพวกเขา” Tajer กล่าว “ใบสั่งเขียนว่าให้เริ่มจากอะไรที่ฟังดูไม่เป็นอันตรายต่อผู้คน แต่ความจริงก็คือท้องฟ้ามันเป็นผืนเดียวกัน จะท่อเหล็กบินได้หรือเครื่องบินโดยสารก็ต้องใช้ท้องฟ้าร่วมกันกับพวกเขาอยู่ดี”


เตรียมพร้อมสำหรับขึ้นบิน

เครื่องบินโดยสารอัตโนมัติจะเต็มฟ้าภายในทศวรรษที่ 2040

- 2023 ผู้ผลิตอากาศยานหลายรายกำลังดำเนินการร่วมกับ FAA ในการรับรองเครื่องบินอัตโนมัติ

- 2025-2026 เครื่องบินบรรทุกสินค้าอัตโนมัติลำแรกจะเข้าสู่การบินพลเรือน ในน่านฟ้าเดียวกันกับเครื่องบินมีคนขับ

- 2030-2035 เครื่องบินอัตโนมัติขนาดเล็กเริ่มขนส่งผู้โดยสารในเที่ยวบินระยะสั้นตามภูมิภาคต่างๆ

- 2040-2050 เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่เริ่มทำงานโดยปราศจากนักบินในแต่ละเที่ยวบิน



    สำหรับผู้ผลิต การสร้างอากาศยานแบบใหม่มาใช้จำเป็นต้องอยู่ในกฎระเบียบของ FAA และหน่วยงานด้านการบินอื่นๆ ทั่วโลก “เรามีทีมพัฒนาโปรแกรมสำหรับเครื่องบินไฟฟ้าอัตโนมัติซึ่งเราเรียกว่า Wisk” Calhoun แห่ง Boeing ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg

    “พวกเขาอยู่ที่นี่และ FAA ก็จะเริ่มทำงานร่วมกับเราในวันนี้ในการสร้างแผนการรับรองสำหรับระบบอัตโนมัติและสำหรับ Wisk มีเรื่องให้เรียนรู้มากมาย มีสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะแยะ แต่เราก็ลงมือแล้ว”

    หลายคนกังวลว่า FAA อาจใจดีเกินไป “FAA เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างการเป็นหน่วยงานตรวจสอบอันน่ายำเกรงกับการค่อยๆ เป็นกันเองกับผู้ผลิตและสายการบินต่างๆ มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป” Tajer ชี้ “นั่นเป็นปัญหาเรื่องการระดมทุน ประสบการณ์ และอาจกลายเป็นปัญหาด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลจากความเป็นกันเองมากเกินไป

    คุณไม่จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปไกลเลย (กล่าวถึงกรณีโศกนาฏกรรมเครื่องบิน Boeing 737 Max ตกซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติของโปรแกรม) FAA จำเป็นต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อให้อากาศยานต่างๆ มีระบบที่ปลอดภัยที่สุด”

    ในช่วงที่ โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก บางสายการบินแอบล็อบบี้หน่วยงานดังกล่าวให้แก้ไขส่วนที่เรียกว่า Part 121 จากระเบียบการบินของ FAA (Federal Aviation Regulations หรือ FARs) ซึ่งบังคับให้สายการบินที่มีเที่ยวบินประจำต้องมีนักบินที่มีใบอนุญาตอย่างน้อยสองคนในห้องนักบิน

    โดยพวกเขาให้เหตุผลว่าการมีนักบินคนเดียวจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนนักบิน องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Union Aviation Safety Agency หรือ EASA) ค้านข้อเสนอนั้นพร้อมทั้งกล่าวว่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างเร็วที่สุดก็ปี 2030

    มันเป็นเสียงสะท้อนที่มีเหตุผลจากเหล่าผู้ผลิต “ลองดูเครื่องบินที่เราใช้กันทุกวันนี้สิ” Fymat ว่า “พวกมันอาจยังขึ้นบินเองไม่ได้ เคลื่อนไปบนทางวิ่งไม่ได้ แต่ขึ้นบินเมื่อไหร่ มันจะจัดการตลอดเที่ยวบินที่เหลือได้เอง ถ้าคุณต้องการให้มันลงจอดอัตโนมัติก็ได้เหมือนกัน เครื่องบินเป็นแบบนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

    เขายังเสริมว่ามันเป็นเรื่องของเวลาว่าเมื่อไหร่เครื่องบินถึงจะทำทั้งหมดเองได้ “เรากำลังเพิ่มความสามารถในการปรับเปลี่ยนหรือทำแผนการบินใหม่ในกรณีฉุกเฉินหรืออะไรก็ตามแต่ เช่น การติดต่อศูนย์จราจรทางอากาศ ซึ่งล้วนเป็นลำดับถัดไป แต่ในส่วนของพื้นฐานเรามีอยู่แล้ว”

    เหล่านักบินต่างก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องนักบินคนเดียวเท่าใดนัก “พวกเขากำลังพูดถึงการนำระบบรับรองความปลอดภัยโดยมนุษย์ออก” Tajer กล่าว

    “การมีนักบินคนที่สองอาจสร้างความแตกต่างระหว่างทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บกับพาพวกเขาผ่านเหตุการณ์ไปได้อย่างปลอดภัย และนั่นก็เพราะไม่ว่าคุณจะมีเทคโนโลยีมากแค่ไหน ความสำคัญของการมีมนุษย์อีกคนที่รับความเสี่ยงเทียบเท่าและมีหน้าที่ปกป้องผู้โดยสารเบื้องหลังต่างหากที่ทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยของเราในสหรัฐประสบผลสำเร็จ”

    ขณะเดียวกันนั้น ระบบอัตโนมัติกำลังก้าวหน้า “เทคโนโลยีเอไอคือโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการสร้างผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ในอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางของเทคโนโลยีสำคัญที่ทรงพลังอย่างมาก” Arne Stoschek หัวหน้าฝ่าย machine learning and autonomy ที่ Acubed ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมของ Airbus กล่าว

    ที่สนามบิน Toulouse ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ Airbus ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ทางบริษัทกำลังทดลองชุดเทคโนโลยีช่วยเหลือนักบินในชื่อ DragonFly อ้างอิงจากการที่แมลงปอ (dragonfly) สามารถรู้ตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ขณะบินได้

    ระบบของอากาศลำนี้ใช้ปัญญาประดิษฐ์และเซนเซอร์ด้านนอกตัวเครื่องเพื่อให้ “เห็น” ลักษณะภูมิประเทศทั้งยังสามารถปรับการเคลื่อนไหวให้ปลอดภัยโดยอัตโนมัติเมื่อต้องเผชิญสภาพแวดล้อมต่างๆ จนถึงตอนนี้ความสามารถของมันยังรวมถึง การเปลี่ยนแปลงเส้นทางฉุกเฉินอัตโนมัติขณะกำลังบิน การลงจอดอัตโนมัติ และผู้ช่วยขณะวิ่งบนพื้น

    ในอนาคตอันใกล้ ความท้าทายใหญ่หลวงของเครื่องบินอัตโนมัติอาจเป็นการทำให้สาธารณชนยอมรับ Lawrence จาก Xwing คาดหวังให้การรับรู้ของสาธารณชนปรับเปลี่ยนไปตามเวลา “เมื่อเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ ผู้คนจะเข้าใจและเชื่อใจมันมากขึ้น” เขากล่าว

    เหล่าผู้สนับสนุนชี้ว่าประโยชน์แรกๆ ของมันจะมีแก่เหล่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลจากสนามบินหลัก “นี่ไม่ใช่แค่การพาใครสักคนจากใจกลาง Wall Street ไปยังสนามบิน JFK ในเวลาเพียงแปดนาทีซึ่งอันที่จริงแบบนั้นก็คุ้มค่ามากนะ” Fymat แห่ง Honeywell กล่าว “มันเกี่ยวกับชุมชนชนบทซึ่งยังไม่มีบริการด้านการบิน หรือไม่ที่พวกเขามีอยู่โดยพื้นฐานก็แค่สัปดาห์ละครั้ง”

    Piette แห่ง Xwing เห็นด้วย “ผลที่ตามมาจะยิ่งใหญ่มาก” เขากล่าว “ในบรรดาเหตุผลว่าทำไมจำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินพาณิชย์ในสนามบินท้องถิ่นต่างๆ ถึงลดลง ข้อสำคัญคือการขาดแคลนนักบิน ซึ่งเป็นเรื่องยากในการจัดหาคนมาบินในเส้นทางเหล่านี้

    หากคุณอยู่ในพื้นที่อย่าง Wichita หรือ Louisville ก็ขอให้โชคดีกับการมองหาเที่ยวบินตรงในการเดินทางไปที่ใดสักแห่งแล้วกัน” ด้วยจำนวนอากาศยานขนาดเล็กที่มากกว่า ทำให้ความถี่ของเที่ยวบินระหว่างจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเล็กสูงขึ้นตาม อ้างอิงจากคำพูดของ Piette “และเราสามารถนำเที่ยวบินสู่ชุมชนเล็กๆ กลับคืนมาได้”

    ท้ายที่สุด Tajer กล่าวว่า “เดี๋ยวมันต้องมาถึงจุดที่ว่าผู้คนจะยอมรับความคิดนี้ได้หรือเปล่า ผมเองก็ไม่รู้ แต่เมื่อคุณอยู่บนฟ้า แล้วมีเสียงดัง แล้วเครื่องบินก็มีอาการที่คุณไม่เคยพบไม่เคยเจอมาก่อน และไม่มีใครอยู่ในห้องนักบินเลย

    คุณก็อาจจะคิดขึ้นมาว่า ฉันหวังว่าเจ้าหนูที่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์บนพื้นดินนั่นคงทำอะไรสักอย่างกับมันได้ เพราะชีวิตของทุกคนในครอบครัวฉันขึ้นอยู่กับมัน นั่นเป็นอุปสรรคสำคัญที่เราต้องผ่านไปให้ได้”


แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ No Pilot, No Problem? Here is How Soon Self-Flying Planes Will Take Off ซึ่งเผยแพร่บน Hello.com


อ่านเพิ่มเติม: Tony Fernandes บอสใหญ่ AirAsia สยายปีกบินทั่วอาเซียน ท่ามกลางการฟื้นตัวหลังโรคระบาด



ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine