แม้พาหนะไฮโดรเจนยังล้มลุกคลุกคลาน แต่ผู้ประกอบการอย่าง Trevor Milton คิดว่าเขาจะทำเงินได้ในที่สุด
Trevor Milton นั่งสุดยอดพาหนะรักสิ่งแวดล้อมเข้ามาพบกับผู้ชมกว่า 2,000 คน นั่นคือ เกวียนสีแดงเทียมด้วยม้าพันธุ์ไคลส์เดลส์ 8 ตัวของ Budweiser เขาพูดถึงม้าตัวมหึมาว่า “นี่คือสิ่งที่สร้างอเมริกา”
กลุ่มผู้ชมซึ่งมีทั้งผู้บริหารบริษัทรถบรรทุกบริษัทขนส่ง สื่อมวลชน และตัวแทนจาก Anheuser-Busch InBev ส่งเสียงแสดงความเห็นด้วยในห้องใหญ่ของศูนย์จัดงานในเมือง Scottsdale รัฐ Arizona ซึ่งเป็นสถานที่จัดปาร์ตี้เปิดตัวรถของ Nikola Motor Co. เมื่อเดือนเมษายนในปีที่ผ่านมา และตามด้วยการนำเสนอของ Milton ถ้าเครื่องยนต์ดีเซลมาแทนที่ม้าไคลส์เดลส์ได้ เชื้อเพลิงชนิดใหม่ก็ทำให้น้ำมันปิโตรเลียมตกยุคได้เช่นกัน นั่นคือไฮโดรเจน
ธาตุนี้มีมากที่สุดในจักรวาลและเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อมลพิษ เมื่อแปลงไฮโดรเจนเป็นไฟฟ้า ผลพลอยได้จะมีเพียงน้ำและความร้อน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอวัย 37 ปีของ Nikola กล่าวว่า ไฮโดรเจนสามารถขับเคลื่อนรถบรรทุกหนักได้ โดยเมื่อมันผ่านเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิงก็จะได้กระแสไฟฟ้าออกมาใช้หมุนมอเตอร์
รถหัวลากของ Nikola มีระบบเครื่องยนต์ 1,000 แรงม้าที่ประกอบด้วยถังคาร์บอนไฟเบอร์ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และแผงเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งใช้ขับเคลื่อนรถ 18 ล้อได้ 750 ไมล์ และน้ำหนักรถจะอยู่ที่ 20,000 ปอนด์ Nikola กล่าวว่า ถ้าใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจ่ายพลังงานเท่ากันให้รถประเภทนี้ จะทำให้รถหนักขึ้นอีกอย่างน้อย 5,000 ปอนด์
AB InBev สั่งรถหัวลากของ Nikola แล้ว 800 คัน โดยทำสัญญาเช่า 7 ปีในราคาสูงสุดคันละ 1 ล้านเหรียญ (รวมเชื้อเพลิง) ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ข้อดีของไฮโดรเจนได้พอสมควร
ถ้า Nikola ส่งมอบรถบรรทุกได้ บริษัทเบียร์แห่งนี้ก็จะใช้รถเหล่านี้ขนส่งเบียร์ Budweiser จากฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ไปยังศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่ห่างออกไปหลาย 100 ไมล์ และถ้าเป็นเช่นนั้น Nikola ก็จะได้เงินจากการรับสั่งผลิตรถล่วงหน้าอีก 1 หมื่นล้านเหรียญจากบริษัทที่ให้บริการ ที่ใช้ฝูงพาหนะอย่าง U.S. Xpress
Milton เป็นนักรื้อชิ้นส่วนประจำบ้านมาตั้งแต่เด็ก เขาหมกมุ่นกับกลไกการทำงานของสิ่งต่างๆ มาตั้งแต่ 6 ขวบ เมื่อเขาได้นั่งรถไฟกับพ่อซึ่งเป็นผู้จัดการที่เกษียณจาก Union Pacific
เขาเคยลองไปเรียนในมหาวิทยาลัยในรัฐ Utah แต่ก็เลิกเรียนกลางคัน หลังเรียนได้ไม่ถึง 6 เดือน และเมื่อเขาไปที่ชุมชนแออัดในบราซิลกับคณะมิชชั่นของนิกายมอรมอน เขาจึงเริ่มคิดถึงปัญหาที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม “นั่นเป็นหนึ่งในประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่ช่วยเปิดตาผม” เขากล่าว
ในปี 2010 เขาก่อตั้งบริษัท dHybrid Systems ในเมือง Salt Lake City เพื่อออกแบบระบบเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับรถบรรทุก ต่อมาปี 2014 Worthington ซื้อกิจการไป Milton จึงออกมาก่อตั้ง Nikola และชวน Mark Russell อดีตพี่เลี้ยงของเขาที่ Worthington มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของสตาร์ทอัพแห่งนี้
Milton ตั้งเป้าจะสร้างรถบรรทุก 25 คันในปีหน้า และ 400 คันในปี 2021 และถ้าทุกอย่างไปได้ด้วยดี ภายในปี 2022 เขาจะผลิตไฮโดรเจน 8 ตันต่อวันโดยใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในแต่ละสถานี ซึ่งเพียงพอจะใช้ขับเคลื่อนรถบรรทุก 250 คัน
เขาคิดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนอัด (1 กิโลกรัมให้พลังงานเท่าน้ำมันดีเซล 1 แกลลอน) ให้ลดเหลือ 2.50 เหรียญได้ ซึ่งถูกกว่าราคาขายปลีกไฮโดรเจน 14 เหรียญในรัฐ California อย่างมาก และเขาอยากขยายสถานีเชื้อเพลิงจากฝั่งตะวันตกให้กลายเป็นเครือข่าย 700 สถานีทั่วประเทศภายในปี 2028
การเปลี่ยนแปลงกำลังมาและอาจจะมาเร็วกว่าที่ผู้ผลิตเครื่องยนต์รถบรรทุกดีเซลคาดไว้ สหภาพยุโรปผ่านกฎหมายควบคุมมลพิษที่อาจสั่งห้ามใช้รถบรรทุกดีเซลภายในปี 2030 และรัฐ California ก็กำาลังเอนเอียงไปในทิศทางคล้ายกัน ซึ่ง Milton อ้างว่า Nikola นำหน้าคู่แข่งอยู่ 3-5 ปี
“ไม่ว่าคุณจะเชียร์รีพับลิกัน หรือเดโมแครต หรือไม่เลือกข้าง ก็ไม่มีใครอยากดมควันรถดีเซลตอนวิ่งจ๊อกกิ้ง” เขากล่าว
- อ่านเพิ่มเติม TuSimple ยูนิคอร์นเต็งหนึ่งแห่งวงการ “รถบรรทุกหุ่นยนต์”
คลิกอ่านฉบับเต็ม “เชื้อเพลิงที่ไม่ก่อมลพิษ” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine