‘Tim Latimer’ ดาวแห่งโลกขุดเจาะ นักพัฒนาโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ - Forbes Thailand

‘Tim Latimer’ ดาวแห่งโลกขุดเจาะ นักพัฒนาโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Apr 2025 | 09:00 AM
READ 233

จะเป็นอย่างไรหากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสกัดน้ำมันจากหินดินดานสามารถนำมาปรับใช้เพื่อปลดล็อกพลังงานสะอาดจากความร้อนใต้เปลือกโลกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด? Tim Latimer ได้ระดมทุนมากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากนักลงทุน เช่น Bill Gates, Jeff Bezos และ Mark Zuckerberg เพื่อทำให้ความฝันพลังงานสีเขียวของเขากลายเป็นจริง


    Tim Latimer ชื่นชอบการขุดมาตลอด “ตอนที่ผมอายุ 7 ปี ผมตัดสินใจว่าผมอยากจะขุดหลุมลงไปในดินและก็ลงมือขุดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์” เขาเล่าถึงอดีต

    “ผมเคยดูรายการทีวีเกี่ยวกับบ้านใต้ดินสุดเจ๋งและอยากสร้างเป็นของตัวเอง” ต่อมาในปี 2008 ตอนช่วงวัยรุ่นเขาเห็น Sandy Creek Energy Station ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่สูงตระหง่านเหนือภูมิประเทศชนบทที่ราบเรียบ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่แห่งนี้สร้างขึ้นเป็นแห่งสุดท้ายในสหรัฐฯ โดยอยู่ห่างจากบ้านของเขาในเมือง Riesel รัฐ Texas เพียง 5 กิโลเมตร “ภาพดังกล่าวได้กลายเป็นความทรงจำชัดเจนในใจ พลังงานคือสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา แต่การพัฒนาเหล่านั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

    ความหลงใหลในการขุดและการผลิตพลังงานเป็นส่วนผสม 2 อย่างที่นำพาให้ Latimer ซึ่งอยู่ในวัยเพียง 35 ปี และผู้เป็นศิษย์เก่าทำเนียบ Forbes 30 Under 30 ปี 2019 ได้ก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจกลายเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในภารกิจเสาะหาพลังงานสะอาดไร้คาร์บอนหรือเป็นแค่ความเพ้อฝันราคาแพง

    ในฐานะซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Fervo Energy ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐ Houston เขาได้ระดมทุนไปมากกว่า 400 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ (เกิดจากความร้อนจากแกนกลางของโลก) ที่แทบเรียกได้ว่า มีปริมาณอยู่อย่างไม่จำกัด ซึ่งมาจากหินร้อนจัดที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินอย่างน้อย 8,000 ฟุตโดยใช้เทคนิค “แฟรกกิ้ง” อันเป็นกระบวนการเดียวกับที่ใช้ในการสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากหินน้ำมัน 

    ผู้ร่วมลงทุนใน Fervo มีตั้งแต่ Mitsubishi Heavy Industries, บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซแบบดั้งเดิม, Mark Zuckerberg และ Breakthrough Energy Ventures กองทุนเงินร่วมทุนที่มุ่งเน้นธุรกิจด้านการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดตั้งโดย Bill Gates และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มมหาเศรษฐีอย่าง Jeff Bezos, Michael Bloomberg, Ray Dalio และ Reid Hoffman



    ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า Fervo วางแผนที่จะใช้แท่นขุดเจาะขนาดความสูง 166 ฟุตในการขุดหลุมเจาะทั้งหมด 80 หลุม (หรือบางครั้งเรียกว่าบ่อ) ใน Escalante Desert ใกล้กับเมือง Milford รัฐ Utah ขนาดของแต่ละหลุมจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้วลึกลงไปในแนวตั้งราว 1 ไมล์ครึ่ง และจากนั้นจึงหมุนและเจาะไปในแนวนอนอีกเกือบ 1 ไมล์ ซึ่งขณะนี้ Fervo ทำการขุดเจาะไปแล้ว 20 หลุม กระบวนการนี้เป็นขั้นตอนการขุดเจาะที่ยากลำบากผ่านหินแกรนิตที่มีความร้อนสูงเกือบ 400 องศาฟาเรนไฮต์ 

    เมื่อเสร็จสิ้นการขุดเจาะแล้วจะทำการฉีดน้ำผสมทรายด้วยกำลังอัดแรงสูงเข้าไปเพื่อให้ชั้นหินแตกตัวออก Fervo ใช้เซนเซอร์ในการระบุตำแหน่งที่รอยแตกได้ขยายออกไปจากนั้นจึงเจาะบ่อถัดไปโดยให้รอยแตกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากบ่อใหม่บรรจบกับรอยแตกของบ่อก่อนหน้า เมื่อทั้งสองบ่อพร้อมแล้ว Fervo จะอัดฉีดน้ำเย็นลงไปในบ่อใดบ่อหนึ่งเพื่อให้น้ำไหลเข้าสู่รอยแตกในชั้นหิน น้ำจะทำให้หินมีอุณหภูมิลดลงและกลายเป็นไอน้ำที่จะแทรกตัวขึ้นมายังพื้นดินผ่านบ่อที่ 2 เพื่อใช้เป็นพลังงานความร้อนในการหมุนกังหัน บ่อแต่ละคู่จะมีกระบวนการทำงานแบบปิดโดยไอน้ำที่เย็นลงและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจะถูกปล่อยกลับลงไปใต้ดินผ่านบ่อแรกเพื่อเข้าสู่วงจรทำให้กลายเป็นไออีกครั้ง

    เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหลังจากเช่าที่ดินไม่ถึง 4 ปี Latimer ได้รับใบอนุญาตสำคัญจากรัฐบาลกลางเพื่อขยายโครงการใน Utah ของ Fervo ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Cape Station ณ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพแห่งนี้เขาวาดหวังที่จะผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ (2 กิกะวัตต์) ด้วยพลังงานสะอาดจากความร้อนใต้พื้นผิวโลกที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนด้วยงบประมาณ “หลายพันล้านเหรียญ” ภายในปี 2030 โดยจะเป็นแหล่งไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับบ้านมากกว่า 2 ล้านครัวเรือน

    พลังงานความร้อนใต้พิภพที่ได้จากกระบวนการแฟรกกิ้ง “จะนำโลกเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติพลังงานสะอาดดั่งที่เคยเกิดการเปลี่ยนสู่แหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซ” Latimer กล่าว National Renewable Energy Laboratory ระบุว่า หินร้อนใต้ผิวดินเหล่านี้อาจผลิตพลังงานได้ถึง 12% ของปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ภายในปี 2050 

    พลังงานเหล่านี้จะไม่ได้มีราคาถูกหรืออย่างน้อยก็ในช่วงแรก แต่ Latimer หวังว่าต้นทุนการผลิตจะดิ่งลงเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาราคาถูกลงกว่า 80% ด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 6 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (คำนวณรวมทั้งค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล) ทำให้ขณะนี้พลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนต่ำกว่าและเอาชนะพลังงานจากถ่านหินที่ 12 เซนต์ หรือก๊าซธรรมชาติที่ 8 เซนต์ตามการคำนวณของ Lazard

    ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Samuel Noynaert แห่ง Texas A&M University ซึ่งศึกษาเรื่องพลังงานความร้อนใต้ผิวดินมานานหลายทศวรรษได้ชี้ถึงตัวเลขคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่ระบุว่า จะต้องใช้เงินทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านเหรียญในการผลักดันให้พลังงานความร้อนใต้พิภพก้าวขึ้นเป็นแหล่งพลังงานทดแทนในเชิงพาณิชย์ และอีก 2.5 แสนล้านเหรียญที่จะขยายกำลังการผลิตให้ถึง 100 กิกะวัตต์ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอสำหรับจ่ายไฟให้กับรัฐ Texas

    หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จไป 20 บ่อ Fervo สามารถลดเวลาในการขุดเจาะบ่อลงจาก 70 วันเหลือ 21 วัน และลดต้นทุนค่าขุดเจาะลงไปราวครึ่งหนึ่ง Latimer ประเมินว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโครงการ Cape Station จะลดลงเหลือ 4.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในที่สุดซึ่งจะใกล้เคียงกับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่ระดับสาธารณูปโภคที่สร้างขึ้นใหม่



เรื่อง: Christopher HELMAN, เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา, ภาพ: Jamel Toppin



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เศรษฐกิจหมุนเวียน ในพลาสติกรีไซเคิล

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine