AI - ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีแห่ง ‘จุดเริ่มต้นหรือจุดจบ’ - Forbes Thailand

AI - ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีแห่ง ‘จุดเริ่มต้นหรือจุดจบ’

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Oct 2024 | 09:00 AM
READ 572

เหล่านักลงทุนระดับเศรษฐีพันล้านแห่งยุคอินเทอร์เน็ตกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามน้ำลายและแสดงอิทธิพลเพื่อตัดสินว่าอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยหรือพัฒนาก้าวหน้าอย่างอิสระเสรี และศึกครั้งนี้มีเดิมพันที่สูงอย่างยิ่ง


    แม้อยู่ในวันที่อากาศอบอุ่นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม Vinod Khosla กำลังเดินสำรวจสถานที่จัดประชุมภายในบริเวณอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ก่อนถึงเวลาถกประเด็นสำคัญในอีกไม่ช้า “ใครที่ครองความเป็นผู้นำด้าน AI หมายถึงการกุมอำนาจทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้คนนั้นมีอิทธิพลต่อนโยบายหรือแนวคิดในสังคม”

    หัวข้อถัดไปที่ Khosla หยิบยกขึ้นมาที่ว่า ความสามารถในการพัฒนา AI ของจีนอาจเป็นภัยคุกคามต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงสอดคล้องกับความเห็นของเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐสภาและผู้กำหนดนโยบายทางการเมืองที่มานั่งรวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจาก AI ในการประชุม Hill & Valley Forum ที่จัดขึ้นยาวตลอดทั้งวัน การใช้งาน AI ด้านป้องกันประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมือของประเทศฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ เป็นประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดความกังวล ทว่าความเห็นของ Khosla ที่เรียกร้องให้ควบคุมโมเดล AI ระดับแนวหน้าจากการใช้งานในวงกว้างทำให้เขาขัดแย้งกับเหล่าบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley

Vinod Khosla อดีตซีอีโอของ Sun Microsystems และผู้ก่อตั้ง Khosla Ventures


    โดย Khosla เขาซึ่งเป็นอดีตซีอีโอของ Sun Microsystems และผู้ก่อตั้ง Khosla Ventures พร้อมทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการด้าน AI เห็นพ้องต้องกันว่า AI คือเทคโนโลยีพลิกโลกที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติทั้งอุตสาหกรรมทัดเทียมกับเมนเฟรมคอมพิวเตอร์หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และแม้แต่ Reid Hoffman เศรษฐีพันล้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนบริษัทร่วมลงทุน Greylock ได้เปรียบ AI ว่า มีความสำคัญเทียบเท่ากับการประดิษฐ์คิดค้นรถยนต์หรือเครื่องจักรไอน้ำ ทั้งการพบแพทย์เสมือนจริงผ่านโทรศัพท์มือถือในราคาย่อมเยา หรือครูสอนพิเศษสำหรับเด็กทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย AI จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมืออันมีประสิทธิภาพที่ได้ปลดล็อกจากภาวะเงินฝืดในแบบแผนเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต มันจะสามารถช่วยชีวิตคนและบรรเทาความยากจน “เราสามารถช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องตกอยู่ในวังวนใช้แรงงานอย่างการทำงานในสายการผลิตที่ต้องทำงานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลานาน 40 ปี” Khosla วัย 69 ปีกล่าว

    ทว่าความฝันดังกล่าวอาจต้องแลกมาด้วยผลกระทบร้ายแรงที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจเลวร้ายยิ่งกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอดีต อย่างการเกิดสงครามแข่งขันอาวุธ AI กับประเทศจีน หากสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและติดอาวุธให้กับ “ความจริง” คำถามสำคัญก็คือ AI จะก่อให้เกิดความเสียหายข้างเคียงอันเลี่ยงไม่ได้อะไรบ้าง?

Reid Hoffman หุ้นส่วนบริษัทร่วมลงทุน Greylock


    สำหรับ Khosla, Hoffman และเหล่าผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพล วิธีที่เหมาะสมในการจำกัดภัยคุกคามที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจเสียใจในภายหลังก็คือ การกำหนดกรอบเพื่อควบคุมการพัฒนา AI และออกกฎหมายกำกับการใช้งาน บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Microsoft เห็นด้วยกับแนวทางนี้ รวมถึง OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT ซึ่งทั้ง Khosla และ Hoffman เป็นนักลงทุนในระยะเริ่มแรก แนวคิดของพวกเขาที่ว่า การสร้างแนวป้องกันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบรรลุศักยภาพสูงสุดของ AI ได้รับการเห็นด้วยจากประธานาธิบดี Biden ซึ่งนักลงทุนเงินร่วมลงทุน (VC) ทั้งคู่เป็นผู้สนับสนุนเงินบริจาครายสำคัญ และตรงใจของ Emmanuel Macron ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสซึ่งเชิญ Hoffman ไปร่วมทานมื้ออาหารเช้าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “เครื่องจักรแห่งความคิด” ใหม่

    “เราจะสามารถทำให้บรรดาคนดีๆ อย่างแพทย์เข้าถึงประโยชน์ของ AI ได้จำนวนมากที่สุด ขณะที่จำกัดการเข้าถึงของฝั่งคนเลวอย่างอาชญากรให้น้อยที่สุดได้อย่างไร” Hoffman วัย 56 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn กล่าวถึงประเด็นท้าทาย “แนวคิดของผมคือ หาวิธีเหยียบคันเร่งให้เร็วที่สุดขณะตัดสินใจเลือกเส้นทางที่มีความเสี่ยงผ่านการประเมินผลได้ผลเสียอย่างรอบคอบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย”

    ทว่าฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวาง Khosla, Hoffman และความเชื่อของพวกเขาโดยมีผู้นำคือ Marc Andreessen วัย 52 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Netscape และบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุน a16z พันธมิตรของ Andreessen และเหล่าผู้สนับสนุนการพัฒนาโมเดลแบบโอเพนซอร์สมองว่าการอ้างถึงภัยคุกคามและความเสี่ยงระดับประเทศถือเป็นการกระทำที่ไร้ยางอายของเหล่าผู้กุมอำนาจ AI ที่ต้องการครอบครองเทคโนโลยีนี้ไว้เอง กลุ่มพันธมิตรดังกล่าวประกอบด้วยซีอีโอของบริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI ที่ใช้แพลตฟอร์มโอเพนซอร์สอย่าง Hugging Face และ Mistral ไปจนถึง Yann LeCun หัวหน้านักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ AI ของ Meta และ Elon Musk (ในบางครั้ง) ซีอีโอบริษัท Tesla และเจ้าของแพลตฟอร์ม X

    “ไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องความปลอดภัย มหันตภัยความเสี่ยงที่ AI อาจทำลายมนุษยชาติเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเทคโน-โลยีในปัจจุบัน” LeCun กล่าว

    Casado นักลงทุนด้าน AI ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนของ Andreessen กล่าว “นั่นคือรูปแบบการยึดกุมอำนาจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต และเป็นวาทศิลป์ที่ใช้เพื่อชักจูงให้คนหยุดเดินหน้า”

    ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี Andreessen และแนวร่วมของเขามองภาพอนาคตในแง่บวกที่สุดที่ AI จะช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เหล่าศิลปินและนักธุรกิจทั่วโลกสามารถเข้าถึงผู้ช่วย AI เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำสงครามโดยปราศจากมนุษย์ในสมรภูมิจะทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยลง งานศิลปะและภาพยนตร์ที่นำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือจะเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ในการแถลงการณ์เพื่อประกาศจุดยืนเมื่อปีที่ผ่านมา Andreessen ผู้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในบทความนี้วาดฝันถึงโลกเสรีแห่งซอฟต์แวร์แบบเปิดที่ไร้อุปสรรคด้านกฎระเบียบที่จะชะลอการพัฒนาของ AI หรือขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนอันเกินความจำเป็นที่มุ่งปกป้องบริษัทใหญ่แต่กระทบต่อบริษัทเกิดใหม่

Marc Andreessen ผู้ร่วมก่อตั้ง Netscape และบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุน a16z 


    ขณะเดียวกัน Hoffman ยังกังวลว่าโมเดล AI ที่สามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไปอาจถูกนำไปใช้สร้างสิ่งที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง พวกเขามองว่าแผนดำเนินการที่เหมาะสมคือการวางกฎระเบียบที่ “ไม่เข้มงวดมาก” อย่างการลงนามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี Biden เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาที่กำหนดให้มีการควบคุมดูแลบริษัทผู้พัฒนาโมเดล AI มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการรายงานผลทดสอบการเรียนรู้ของ AI และกำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นใหม่ 

    ทว่ากลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดของ Andreessen ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเท่านี้ไรนัก โดย Andreessen อ้างว่า “ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยี” (Google และ Microsoft) และ “บริษัทหน้าใหม่ที่มีบทบาทสำคัญ” (OpenAI และ Anthropic ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี) มีเป้าหมายเดียวกันคือ จัดตั้ง “กลุ่มบริษัทที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล” ซึ่งจะร่วมมือ “กำหนดทิศทางที่เห็นพ้องต้องกัน” “ทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ Elon บริษัทสตาร์ทอัพและโมเดลโอเพนซอร์ส ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังอยู่ภายใต้การโจมตี…และมีผู้ปกป้องเพียงไม่กี่รายและกำลังสูญหายไป” Andreessen เขียนกล่าวบน X



เรื่อง: Alex Konrad เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา ภาพประกอบ: Zohar Lazar



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Arnold Schwarzenegger คนเหล็กพันล้าน

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine