Sam Altman อีกด้านของอัจฉริยะ เมื่อความกังขาในภาวะผู้นำสะเทือน OpenAI - Forbes Thailand

Sam Altman อีกด้านของอัจฉริยะ เมื่อความกังขาในภาวะผู้นำสะเทือน OpenAI

หากโลกคือเวที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Sam Altman ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือบทละครฉากใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยจุดพลิกผัน เริ่มตั้งแต่การถูกบอร์ดบริหาร OpenAI ปลดฟ้าผ่า การเข้ามามีบทบาทของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft และประกาศหวนคืนสู่บริษัทที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกครั้งหลังผ่านไปเพียงไม่กี่วัน


    OpenAI คือบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาแรงที่ทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อ หลัง ChatGPT แชทบอตที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกเทคโนโลยี จุดประกายการแข่งขันพัฒนา AI อย่างดุเดือดทั่วโลก ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในทุกวงการ

    OpenAI ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดยกลุ่มดาวเด่นสายเทค ได้แก่ Ilya Sutskever, Greg Brockman, Trevor Blackwell, Vicki Cheung, Andrej Karpathy, Durk Kingma, Jessica Livingston, John Schulman, Pamela Vagata, Wojciech Zaremba, Sam Altman และ Elon Musk ร่วมด้วย Amazon Web Services, Infosys และ YC Research

    เป้าหมายคือพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของทุกคน ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีการระดมทุนจากนักลงทุนต่างๆ ก่อนจะพลิกมาเริ่มแสวงหากำไรในปี 2019 เนื่องจาก Elon Musk ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนคนสำคัญถอนตัวออกไป

    OpenAI กลายเป็น 1 ใน 10 สตาร์ทอัพยูนิคอร์นมูลค่าสูงสุดเมื่อต้นปี 2023 ด้วยมูลค่าประเมิน 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ


Elon Musk และ Sam Altman บนเวที Vanity Fair New Establishment Summit ปี 2015


    แน่นอนว่าเมื่อเป็นตัวแปรสำคัญในเทคโนโลยีใหม่ทรงอิทธิพล OpenAI ภายใต้การบริหารของ Sam Altman ซีอีโอหนุ่มวัย 38 ปี จึงมีบทบาททุกครั้งที่ประเด็น AI ถูกพูดถึงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่นๆ

    แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา กลับมีมติจากบอร์ดบริหาร OpenAI ไล่ Sam Altman ลงจากเก้าอี้ซีอีโอ ซึ่งนอกจากตัว Sam Altman เองแล้ว คนอื่นๆ หลายคนก็ดูจะไม่ทันตั้งตัวด้วยเช่นกัน

    Greg Brockman ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI เองก็ประกาศถอนตัวตามไป นอกจากนี้พนักงานของบริษัทราว 700 คนยังออกมาขู่ลาออกอีกด้วยหากไม่ได้ตัวซีอีโอของพวกเขาคืนมา

    แน่นอนว่าพาร์ทเนอร์และผู้ถือหุ้น OpenAI หลายรายออกมาแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Microsoft ที่ถึงขั้นเจรจาดึงตัว Sam Altman มาเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา AI ใหม่ล่าสุดของทางบริษัทกันเลยทีเดียว ตามที่ Satya Nadella ซีอีโอของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่รายนี้ประกาศบน X ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2023

    ทว่าเรื่องราวกลับหักมุมอีกตลบ เพราะไม่นานต่อมา ก็มีข่าวคราวว่า OpenAI ตามง้ออดีตซีอีโอกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้งแลกกับการปรับเปลี่ยนบอร์ดบริหารอีกด้วย สร้างความฉงนให้วงการเทคโนโลยีและธุรกิจทั่วโลก

    ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวละครหลักของเหตุการณ์คราวนี้คือ Sam Altman แต่เพราะอะไรกันเขาจึงกลายเป็นคนสำคัญที่บริษัทยักษ์ใหญ่ปรารถนาจะคว้าตัวไว้ เหตุใดพนักงานจึงไม่อยากสูญเสียหัวหน้าคนนี้ไป และทำไมจึงมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยพอใจเขานัก มาลองพิจารณากันดูดีกว่า


ส่อแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก

    ข้อแรกที่ต้องยอมรับคือทักษะความสามารถของ Sam Altman ที่เริ่มเปล่งประกายตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 8 ขวบ ตอนนั้นเขาได้รับ Macintosh Classic เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ก่อนจะเริ่มเรียนรู้วิธีการเขียนโปรแกรม เขามักใช้เวลาหลายชั่วโมงในห้องใต้ดินเพื่อสร้างเว็บไซต์และซอฟต์แวร์


Macintosh Classic


    ตอนอายุ 12 ปีเขาเริ่มทำธุรกิจครั้งแรกโดยการขายการ์ดเบสบอลทางออนไลน์ ต่อมาเขาก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ก็ดร็อปออกมากลางคันเพื่อทุ่มเทให้แอปพลิเคชัน Loopt ซึ่งเขากับเพื่อนๆ ร่วมกันพัฒนาขึ้นแบบเต็มเวลา Loopt เป็นแอปที่สามารถแบ่งปันตำแหน่งของผู้ใช้งานกับเพื่อนได้

    ทางเลือกของเขาเป็นเช่นเดียวกับอัจฉริยะหลายคนก่อนหน้า เช่น Bill Gates และ Mark Zuckerberg ที่ประสบความสำเร็จแม้เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขารู้ตัวว่าต้องทำอะไร

    ในกรณีของ Sam Altman ผลงาน Loopt ยังไปเข้าตา Y Combinator บริษัทผู้ให้เงินทุน คำปรึกษา ตลอดจนการสนับสนุนแก่บรรดาสตาร์ทอัพอนาคตไกลทั้งหลาย และ Y Combinator ก็เลือกแอปนี้เป็นหนึ่งในผู้โชคดี พาให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าสูงถึง 175 ล้านเหรียญ กระทั่งทีมงานต่างตัดสินใจแยกทางกัน และมีการขายกิจการนี้แก่บริษัท Green Dot ด้วยมูลค่า 43 ล้านเหรียญในปี 2012

    ต่อมา Sam Altman ได้ก่อตั้งบริษัทเงินร่วมลงทุน Hydrazine Capital ทั้งยังได้ขึ้นเป็นประธาน Y Combinator อีกด้วย Forbes ยังจัดเขาไว้ในทำเนียบ 30 Under 30 ประจำปี 2015 ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุ 29 ปี ตอกย้ำถึงความสามารถของผู้ประกอบการสายเทคคนนี้

    กระนั้นก็ตาม Sam Altman อยู่กับ Y Combinator ไม่นานนักก็ถึงคราวบอกลา เพื่อจะมาทำ OpenAI นั่นเอง


OpenAI ขับเคลื่อนสู่โลกใหม่ด้วยปัญญาประดิษฐ์

    สำหรับ OpenAI ผลงานชิ้นโบแดงของ Sam Altman เกิดไอเดียตอนเขาไปเดินป่าระยะไกลกับเพื่อน ระหว่างพูดคุยกับเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เขาก็คิดได้ว่า มนุษย์มีขีดจำกัดในการนำเข้าและส่งออกข้อมูล โดยเรียนรู้ได้เพียงสองบิตต่อวินาที ทำให้ข้อมูลมหาศาลสูญหายไประหว่างทาง แต่หากเป็นเครื่องจักรย่อมทลายกำแพงนั้นได้

    Sam Altman ยังได้พบปะเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจทรงอิทธิพลอย่าง Elon Musk โดยต่างก็มีความกังวลเรื่องของ AI ในระยะยาว และต้องการมั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกพัฒนาอย่างมีความรับผิดชอบ จึงได้ก่อตั้ง OpenAI ขึ้นพร้อมด้วยมันสมองสายเทคอีกหลายคน

    ณ เวลานั้นบริษัทใหญ่หลายรายเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้แล้ว เช่น Facebook, Google, Microsoft, Tesla และ Apple โดย Sam Altman กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าการให้อำนาจแก่มวลมนุษย์ด้วยการแบ่งปันปัญญาประดิษฐ์ย่อมดีกว่าการที่ปัญญาประดิษฐ์ถูกควบคุมโดยบริษัทรายเดียว”

    เขาตระหนักถึงพลังของ AI และรู้ดีว่าเครื่องมือนี้เป็นดั่งดาบสองคมที่ต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง ด้วยอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ

    “ผมหลับสนิทขึ้นที่รู้ว่าตัวเองสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้แล้ว” Sam Altman เผยความในใจหลังก่อตั้ง OpenAI

Sam Altman ในการประชุมสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา


    หลังจากนั้นเขาก็ได้สั่งสมและใช้อิทธิพลของตนในวงการ AI หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีการเปิดตัว ChatGPT แก่สาธารณะในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ที่เรียกได้ว่าสะเทือนทุกวงการ ตั้งแต่ผู้บริโภคไปจนพาร์ทเนอร์และคู่แข่งทั่วโลก

    ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ใช้ ChatGPT ช่วยในการศึกษา สื่อต่างๆ ที่ให้ ChatGPT ช่วยสร้างสรรค์ข้อความโฆษณาหรือบทความ บริษัทมากมายเตรียมพร้อมทุ่มทุนให้เทคโนโลยีนี้ และกรณีอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าผู้คนหันมาสนใจผลิตภัณฑ์นี้กันอย่างล้นหลาม

    เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา Sergey Brin และ Larry Page สองผู้ก่อตั้ง Google ที่บอกลาตำแหน่งซีอีโอไปเมื่อปี 2019 ถึงกับหวนคืนวงการ พาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เร่งพัฒนาแชทบอต Bard ออกมาสู้ ฝั่งจีนเอง Baidu, Tencent และ Alibaba ก็ไม่อาจอยู่เฉย ประกาศเข้าร่วมสงคราม AI ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

    กระนั้นก็ตาม OpenAI ไม่เพียงเผชิญความท้าทายจากบริษัทคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังต้องรับความกดดันพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝักฝ่าย ทั้งรัฐบาล เอกชน และกลุ่มคนต่างๆ

    อย่างเช่นกรณีหนึ่งคือการที่นักเขียนอเมริกันกว่า 8,000 คนออกมาเรียกร้องบริษัทเทคทั้งหลายว่าการพัฒนา AI นั้นนำหนังสือของพวกเขาไปป้อนให้ระบบได้เรียนรู้โดยมิชอบ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

    แน่นอนว่า Sam Altman หาได้ละเลยตรงส่วนนี้เช่นกัน โดยเขาเคยพูดคุยในการประชุมกับสภาคองเกรสเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ที่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาควรได้รับหากผลงานถูกนำไปฝึกฝน AI

    จากการที่เขามีบทบาทมากมายเพียงนี้ อาจกล่าวได้ว่า Sam Altman เป็นเสมือนตัวแทนผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ทรงอิทธิพลทั้งในและนอกวงการ จนใครๆ ต่างก็จับตามอง


อัจฉริยะอาจไม่ใช้ผู้นำที่ดี?

    การถูกปลดจากตำแหน่งซีอีโอของ Sam Altman ไม่เพียงสร้างความตื่นตระหนกแก่วงการเทค แต่ยังนำมาซึ่งความสงสัยในตัวของเขาเช่นกัน บอร์ดบริหารอ้างเหตุผลว่าเขา “ขาดความมั่นใจในฐานะผู้นำ” และ “ไม่สามารถสื่อสารตรงไปตรงมากับทางบอร์ดอย่างแน่นอนได้ ก่อให้เกิดความกังขาถึงความสามารถในการดูแลรับผิดชอบหน้าที่”

    สำหรับผู้คนวงนอกก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับชายหนุ่มวัย 38 ปีคนนี้แตกต่างกัน บางคนก็ชื่นชมในความสามารถและความปราดเปรื่อง บางคนก็ไม่ประทับใจนัก โดยมองว่าเขาเป็นอัจฉริยะก็จริง แต่ยังขาดภาวะผู้นำ ดังเช่นกรณีของ Don Moore ศาสตราจารย์ด้านความเป็นผู้นำและการสื่อสารจาก Haas School of Business แห่งมหาวิทยาลัย California Berkeley ที่เผยกับ CNBC ว่า

    “องค์กรต่างๆ ควรกลัวซีอีโอที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนหลอน”

    โดยเขากล่าวถึงข้อความที่ Sam Altman เคยเขียนไว้ในบล็อกของตนเมื่อปี 2019 ว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จคือการมีความเชื่อในตัวเอง (Self-belief) ให้มากแม้จะเกือบล้นก็ตาม

    “การมีความเชื่อในตัวเองคือพลังมหาศาล” Sam Altman กล่าว “ผู้คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ผมรู้จักต่างก็เชื่อมั่นในตัวเองจนแทบถึงจุดที่เรียกได้ว่าหลอน”

    Don Moore ชี้ว่าการมีความมั่นใจในตัวเองจนล้น (Overconfidence) อาจนำมาซึ่งปัญหาในภายหลัง ผู้นำที่เป็นเช่นนี้มักโน้มน้าวให้พนักงาน นักลงทุน และบอร์ดบริหารคล้อยตามได้ แต่ท้ายที่สุดก็กลับล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังเสริมกว่าอาการขาดความมั่นใจ (Imposter Syndrome) เป็นเรื่องแย่ ทว่าก็ไม่ควรโกหกตัวเองด้วยเช่นกัน

Sam Altman และ Ilya Sutskever


    อีกคนหนึ่งที่มองเห็นด้านมืดของ Sam Altman ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ Ilya Sutskever ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI นั่นเอง เขาเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับมติปลดฟ้าผ่าของบอร์ดบริหาร โดยกล่าวหาว่า Sam Altman ทรยศเจตจำนงดั้งเดิมในการพัฒนา AI เพื่อมนุษยชาติ

    เรื่องของเรื่องคือเมื่อเร็วๆ นี้มีผู้ใช้งาน ChatGPT มากเสียจนระบบอาจรองรับไม่ได้ และซีอีโอแห่ง OpenAI ก็มีมุมมองว่าควรระดมเงินให้มากขึ้นและหาแหล่งรายได้ใหม่ สวนทางกับ Ilya Sutskever และสมาชิกบอร์ดหลายคนที่เห็นว่าพวกเขามาไกลจากการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากเกินไปแล้ว

    ประเด็นต่อมาอาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่หากคอยเฝ้าติดตามข่าวสารด้านปัญญาประดิษฐ์แล้ว วันสิ้นโลกด้วย AI (AI Apocalypse) ก็ดูไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด ซึ่ง Sam Altman เห็นควรให้มีการเดินหน้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ต่อไปอย่างละเอียดรอบคอบและระมัดระมัง ในขณะที่ Ilya Sutskever แย้งว่าควรชะลอการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ลงก่อน โลกต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัว

    อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วพนักงาน OpenAI กว่า 700 คนซึ่งมีทั้งระดับล่างไปจนถึงผู้บริหาร และพาร์ทเนอร์หลายรายต่างก็เรียกร้องให้ Sam Altman กลับมาดำรงตำแหน่งซีอีโอได้สำเร็จ ด้วยพวกเขาเชื่อมั่นในตัวอัจฉริยะคนนี้ ทั้งการก่อร่างสร้าง OpenAI จนเติบโตเป็นบริษัททรงอิทธิพลรายหนึ่งของโลกก็เป็นเครื่องยืนยันความสามารถของเขาได้ไม่น้อย

    อีกทั้ง Sam Altman ก็เคยเปิดเผยว่า AI คือเทคโนโลยีทรงอานุภาพที่อาจทำลายล้างมนุษยชาติได้จริง ดังนั้นเขาจึงพยายามกรุยทางเพื่อความถูกต้องโดยการก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนา AI นั่นเอง

    ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า เป็นเรื่องปกติที่คนเราไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้ถูกใจทุกคน ส่วนความเหมาะสมสำหรับตำแหน่งผู้นำองค์กรของ Sam Altman และความถูกต้องในการตัดสินใจพัฒนา AI ของเขายังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามพิจารณากันต่อไป


ที่มา: Forbes, Business Insider, Medium, Reuters, CNBC, Le Monde, CNN, TechCrunch, MarketThink และ Marketeer


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แตกเพื่อโต Sequoia แบ่งย่อยเป็นแบรนด์ใหม่ในเอเชีย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine