ROI ในโลกการเมืองของ Vivek Ramaswamy - Forbes Thailand

ROI ในโลกการเมืองของ Vivek Ramaswamy

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Feb 2024 | 09:30 AM
READ 2569

สัญญาสวยหรูและการขายตัวเองเก่งช่วยให้ Vivek Ramaswamy เป็นเศรษฐีพันล้านในวัย 38 ปี และตำรากลยุทธ์เล่มนี้ก็ช่วยให้เขาโดดเด่นในเวทีการเมืองชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ในปี 2024 สิ่งที่แน่นอนคือ เขาจะรวยและมีอำนาจมากขึ้นตามแผนที่เขาวางไว้


    ในเช้าที่รู้สึกว่าอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์กลางเดือนสิงหาคม Vivek Ramaswamy นั่งใจเย็นอยู่บนเก้าอี้นวมเบาะหนังในรถบัสหาเสียงพลางกัดแอปเปิ้ลและยิ้มกว้างด้วยท่าทีเชื่อมั่นในตนเอง

    เมื่อ 36 ชั่วโมงก่อนนักการเมืองหน้าใหม่วัย 38 ปีคนนี้กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในการดีเบตรอบแรกเพื่อหาตัวแทนพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024

    “ผมเชื่อจากใจว่าจะได้เป็นตัวแทนพรรค และจะชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายด้วย” เขากล่าวก่อนจะขยายความต่อไป “ผมว่าผมมีอะไรใกล้เคียงกับ Trump เมื่อปี 2015 ยิ่งกว่าตัว Trump เองในวันนี้เสียอีก เพราะคุณมาจากนอกวงการได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น”

    เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องจริงที่ Ramaswamy ชอบยกมาพูด

    เมื่อ 8 ปีก่อน Donald Trump พลิกโผการเมืองอเมริกันทุกสำนักด้วยการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะนักธุรกิจผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเมือง ไม่มีแนวทางชัดเจน และไม่มีชนักติดหลังที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ให้ใครโจมตีได้อย่างที่นักการเมืองทุกคนมี แต่ Trump เอาเรื่องคับข้องใจมาบ่นแทนชาวบ้าน และเมื่อบวกกับสัญชาตญาณการสื่อสารด้วยข้อความอย่างหาตัวจับยากมันจึงกลายเป็นไพ่เด็ดที่ช่วยให้เขาตีตั๋วเข้าทำเนียบขาวได้สำเร็จ

    นี่คือสาเหตุว่าทำไมการลงชิงตำแหน่งของ Ramaswamy จึงสำคัญ เพราะ Trump ไม่ใช่แค่คนแหกคอกที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แม้เขาจะกำลัง “หาเสียงด้วยการไม่หาเสียง” อย่างขนานใหญ่อยู่ก็ตาม แต่เขากลายเป็นแบบอย่างให้คนอื่นด้วย และผู้เล่นที่กำลังมาแรงที่สุดในสนามฝั่ง GOP (Grand Old Party รู้จักกันอีกนามของพรรครีพับลิกัน)

    ไม่ใช่ผู้ว่าการรัฐ Florida หรือวุฒิสมาชิกจากรัฐ South Carolina หรือแม้แต่อดีตรองประธานาธิบดี แต่เป็นนักธุรกิจใหญ่อีกคนหนึ่ง (Ramaswamy ขยับขึ้นมาเป็นเศรษฐีพันล้านได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2023) ซึ่งโปรดปรานการออกรายการทีวีดังและจงใจปั้นวาทกรรมแรงๆ ชวนสะดุ้งมาให้รายการพวกนี้เอาไปขยายต่อ

    เหล่าผู้รู้ในสายการเมืองพยายามวิเคราะห์เหตุผลที่ Ramaswamy กำลังมาแรงด้วยการมองผ่านเลนส์ของชาว Washington แต่ถ้าใครติดตามการงานของเขาในสายธุรกิจมาตลอดก็จะเห็นคำตอบได้ชัดมาก

    “นี่คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในวงการเภสัชกรรม” คำพูดพวกนี้ Ramaswamy กล่าวกับ Forbes ในบทความขึ้นปกเมื่อปี 2015 หลังจากเขาเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเทคโนโลยีชีวภาพได้ไม่นาน และเป็นเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากเขาได้เข้าทำเนียบรายชื่อ 30 Under 30

    หัวใจสำคัญอยู่ที่วลี ผลตอบแทนจากการลงทุน (return on investment หรือ ROI) ซึ่งขับเคลื่อนทุกอย่างในดินแดนของ Ramaswamy ตั้งแต่การเลือกเรียน การคบเพื่อน ไปจนถึงการทำธุรกิจ ROI อยู่ในชื่อของ Roivant Sciences บริษัทโฮลดิ้งที่บริหารความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของเขา และมันคือสิ่งที่อธิบายว่า ทำไมเขาจึงมาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาหาเสียงอย่างไร และเขาจะทำอะไรกับชื่อเสียงและอิทธิพลที่ได้มาใหม่

    นักลงทุนมักมองเรื่อง ROI (คิดว่าเงิน 1 เหรียญสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนได้เท่าไรแล้วค่อยคิดเรื่องพันธกิจ) มากกว่าผู้ประกอบการหรือผู้ดำเนินงาน (คิดว่าจะแก้โจทย์อะไรได้บ้างแล้วค่อยคิดเรื่องเงิน) ซึ่งในแง่การเมืองเปรียบได้กับการปั่นตัวเลขในโพลล์ให้เยอะที่สุดโดยจ่ายเงินน้อยที่สุดเทียบกับการหาเสียงโดยชูหลักการปกครองที่ดี

    Ramaswamy กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองแนวล่อใจสาวกอย่างที่ Trump เคยใช้ชนะศึกมาแล้วด้วยการสัญญาว่าจะยุบ FBI และกระทรวงศึกษาธิการ ไล่พนักงานรัฐบาลกลางออก 75% และหยุดช่วยเหลือยูเครนแม้จะยังถูกรัสเซียโจมตีก็ตาม

    Ramaswamy พูดว่า เขากำลังพยายามทำตัวเป็น Trump ให้ยิ่งกว่า Trump และคะแนนในโพลล์ก็เพิ่มขึ้นตามวาทกรรมที่พรั่งพรูออกมา แต่ ROI ยังมาได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีช่วยให้ประวัติของคุณสวยหรูขึ้นมาก กลุ่มคนสารพัดที่คิดเช่นนี้จึงแห่มาจากทั้งสองขั้วการเมือง ทั้งนักฉวยโอกาสจากนอกสายการเมือง คนหลงตัวเอง และพ่อค้าเจ้าเล่ห์ ตั้งแต่ Herman Cain, Marianne Williamson, Ben Carson ไปจนถึง Robert Kennedy Jr.

    แล้วคราวนี้ก็ถึงคราว Ramaswamy ผู้สร้างสรรค์วิธีการหาผลประโยชน์ในรูปแบบบริษัทจัดการเงินลงทุน Strive Asset Management ที่เข้าคู่กับแนวทางการเมืองต่อต้านกระแส Woke ของเขาได้อย่างเหมาะเจาะ นี่จึงเป็นอีกหนทางที่เขาจะชนะได้แม้จะแพ้การเลือกตั้งก็ตาม


★ ★ ★


    ความคิดหวังผลตอบแทนจากทุกสิ่งเริ่มหยั่งรากในตัว Ramaswamy ตั้งแต่ยังเด็ก พ่อแม่ของเขาอพยพมาจากอินเดีย แม้ทั้งคู่จะอยู่ในวรรณะพราหมณ์และมีหน้าที่การงานดีเยี่ยมแต่ก็ยังอยากแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในสหรัฐฯ พ่อซึ่งเป็นวิศวกรได้งานที่ General Electric ส่วนแม่ซึ่งเป็นจิตแพทย์สาขาจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุได้งานที่ Merck

    พวกเขาลงหลักปักฐานในรัฐ Ohio แล้วในที่สุดก็ส่ง Vivek ลูกชายคนโตไปเรียนที่ St. Xavier ซึ่งเป็นโรงเรียนเยซูอิตแถบชานเมือง Cincinnati แม้เขาจะนับถือ (และยังคงนับถือ) ศาสนาฮินดูก็ตาม เพราะโรงเรียนเอกชนชั้นสูงแห่งนี้จะเป็นแต้มต่อในชีวิตเขาได้

    เมื่อเรียนที่ Harvard เขากลายเป็นเครื่องจักรไล่ล่าความสำเร็จ หนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์คนนี้ทะเยอทะยานไม่สิ้นสุดและใช้ชีวิตตามนั้น เขาเป็นประธานกลุ่มสหภาพการเมืองของมหาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาชมรมเทนนิสของคณะ เป็นแร็ปเปอร์แนวอิสรนิยมชื่อ Da Vek ทำงานให้นักวิทยาศาสตร์สเต็มเซลล์ชื่อดัง Douglas Melton และร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการวัยเรียน แม้กระทั่งเรื่องกินเขาก็กินไม่อั้น

    “ผมไม่เคยเห็นใครกินจุเหมือนเขา” Anson Frericks เพื่อนสมัยมัธยมปลายของ Ramaswamy ที่ช่วยก่อตั้งStrive เล่า “เวลากินอาหารด้วยกันเขาจะสั่งมาเหมือนกิน 3-4 คน”

    การเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดของพ่อที่หมู่บ้านในทางใต้ของอินเดียช่วงฤดูร้อนทำให้เขาเห็นว่าระบบวรรณะคือสิ่งปิดกั้นโอกาส และยิ่งทำให้เขาเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบอเมริกัน

    “เราอย่าเฆี่ยนตีตัวเองที่เราเป็นพวกทุนนิยม” เขากล่าวในการปราศรัยกับฝูงชนที่มากันแน่นร้านอาหารในเมือง Milford รัฐ New Hampshire “เลิกรู้สึกผิดเพราะทุนนิยมได้แล้ว”

    แต่เมื่อเรียนจบจาก Harvard เขาไม่ได้ผันตัวไปเป็นนักสร้างธุรกิจทุนนิยมเหมือน Jeff Bezos แห่ง Amazon หรือ Phil Knight แห่ง Nike แต่เขาติดใจรสชาติของธุรกิจซื้อมาขายไปที่เน้นประสิทธิภาพและความเป็นผู้นำมากกว่า เขาทำงานแรกเป็นนักวิเคราะห์ที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ QVT ใน Manhattan ซึ่งในระหว่างนั้นเขาก็ทำตัวสมฉายาเครื่องจักรด้วยการเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ของ Yale ไปด้วยจนจบ

    “เขาเป็นอัจฉริยะ” Raymond Schinazi ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพหลายแห่งกล่าว เขากลายเป็นเพื่อนกับ Ramaswamy หลังจากที่นักวิเคราะห์หนุ่มเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท Pharmasset ของเขา “ผมเรียนรู้เรื่องการลงทุนจากเขาเยอะมาก”

    Ramaswamy มองผลตอบแทนอยู่เหนือพันธกิจ รากฐาน หรือสิ่งอื่นใดทั้งหมด Schinazi เล่าว่า เขาเคยถามเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท Inhibitex และยาทดลองสำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ C ซึ่งเป็นหนึ่งในการลงทุนของ Ramaswamy ตอนนั้น

    Schinazi เรียกบริษัทนี้ว่า “ขยะ” และจำได้ว่า Ramaswamy ตอบเขามาแบบนี้ “ไม่สำคัญหรอก เรามองว่าหุ้นนี้จะกำไรดี เรารู้ว่าบริษัทนี้เป็นพิษ เรารู้ว่าบริษัทนี้ไม่ดีเลิศ แต่เรามาเพื่อทำเงิน เรื่องนี้สำคัญที่สุด”

    Ramaswamy ปฏิเสธว่าไม่เคยพูดแบบนั้นและกล่าวว่า ตอนนั้น Pharmasset เป็นคู่แข่งกับ Inhibitex แต่ในที่สุด Inhibitex ก็พ่นพิษจริง เพราะ Bristol Myers Squibb ที่ซื้อกิจการนี้มากว่า 2 พันล้านเหรียญในปี 2011 ต้องยอมตัดมันทิ้งอย่างรวดเร็วหลังจากการทดสอบทางคลินิกล้มเหลวเข้าขั้นหายนะ

    ในวัย 28 ปี Ramaswamy ออกมาตั้งกิจการของตัวเองด้วยเงิน 100 ล้านเหรียญจากอดีตนายจ้างและคนอื่นๆ เขาตั้งชื่อบริษัทว่า Roivant Sciences เพื่อให้มี ROI อยู่ในชื่อ และแนวคิดของเขาคือ บรรดาบริษัทยายักษ์ใหญ่มียาที่ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ อยู่มากมายซึ่งอาจทำกำไรได้มหาศาลถ้ามีผู้สนใจเอามาพัฒนาต่อ ดังนั้น เนื้อแท้ของบริษัทนี้ไม่ใช่การสร้างสรรค์อะไรใหม่ แต่เป็นการปลดล็อกมูลค่าของสิ่งที่มีคนสร้างไว้แล้ว

    “เขานัดทานมื้อค่ำกับซีอีโอ [หรือ] บุคคลสำคัญหลังเลิกงานเกือบทุกวัน” อดีตพนักงานระดับสูงของ Roivant เล่า “Vivek รู้ดีว่าผู้มีส่วนได้เสียแค่หยิบมือเดียวคือกลุ่มคนที่ควบคุมเงินมหาศาลในโลกของเภสัชกรรม การสนทนาแค่ไม่กี่ครั้งทำให้เงินมากมายเคลื่อนไหวและทำธุรกิจได้เยอะแยะ”

    อีกทั้ง Ramaswamy ยังทำงานหนักกว่าใครๆ “หมอนี่ทำงานสร้าง Roivant สัปดาห์ละ 100 ชั่วโมงมาเป็น 10 ปี ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย” Janak Joshi ผู้ประกอบการธุรกิจดูแลสุขภาพที่รู้จักเขากล่าวหลังจากก่อตั้ง Roivant ได้ 1 ปี

    เจ้าบ่าวหมาดๆ วัย 29 ปี ยกเลิกการฮันนีมูนแล้วพาภรรยาไปเคาะระฆังที่ตลาดหลักทรัพย์ New York ฉลองการเสนอขายหุ้น IPO ปี 2015 ของ Axovant ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการที่แยกจาก Roivant ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสินทรัพย์เด่นคือ ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ที่เคยสร้างกระแสฮือฮาอย่างมากแต่ล้มเหลวในการทดสอบทางคลินิกมาแล้ว 4 รอบ ซึ่งเขาซื้อมา 5 ล้านเหรียญ

    นี่คือการจดทะเบียนหุ้นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ และมูลค่าหุ้นก็เพิ่มเป็นเกือบ 3 พันล้านเหรียญเมื่อปิดตลาดในวันแรก

    2 ปีต่อมา Ramaswamy คว้าเงินลงทุน 1.1 พันล้านเหรียญมาให้ Roivant จากการระดมทุนที่นำโดย SoftBank เขาสัญญาว่าจะนำเทคโนโลยีสุดล้ำและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับการทดสอบทางคลินิกผ่านบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อ Datavant แต่ 1 เดือนต่อมายารักษาอัลไซเมอร์ของ Axovant ก็ล้มเหลวในการทดสอบรอบที่ 5 จนราคาหุ้นดิ่งเหว (ปี 2023 บริษัทนี้เหลือมูลค่าไม่ถึง 30 ล้านเหรียญและกำลังขายทรัพย์สินชำระหนี้)

    “การเพิ่มมูลค่าให้ Roivant คือกลยุทธ์ระดับองค์กร” อดีตผู้จัดการคนหนึ่งในแผนกเทคโนโลยีของบริษัทเล่า “และบังเอิญว่ายาคือวิธีการที่ได้ผล”

​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กฤษณ์ จันทโนทก ซีอีโอไฟแรงกับภารกิจ SCB ดิจิทัลแบงก์

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine