Robert Wilder กับกระแสหวือหวาตั้งกองทุน "หุ้นพลังงานสะอาด" - Forbes Thailand

Robert Wilder กับกระแสหวือหวาตั้งกองทุน "หุ้นพลังงานสะอาด"

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Jun 2023 | 10:45 AM
READ 2423

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน Robert Wilder ลาออกจากงานประจำแสนสบาย ซึ่งทำให้ชีวิตเขาต้องพลิกผันจากที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มาวางเดิมพันกับเชื้อเพลิงประเภทใหม่ เขาอาจจะทำให้คุณรวยได้ถ้าหากว่าคุณแบกรับความเสี่ยงไหว


    Robert Wilder วัย 62 ปี เป็นทั้งนักเขียน อาจารย์สอนหนังสือ เกษตรกรวิถีอินทรีย์ และนักอนุรักษ์ ฟังดูเหมือนเขาจะเป็นพวกฮิปปี้ใช่ไหม? แต่เปล่าเลย...นักนิยมสิ่งแวดล้อมคนนี้เป็นนักการเงินที่มีสายตาแหลมคมในการที่จะพลิกความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมให้กลายมาเป็นธุรกิจ

    Wilder เป็นเจ้าของดัชนีหุ้นที่กำหนดพอร์ตการลงทุนของ Invesco WilderHill Clean Energy ซึ่งเป็น Exchange Traded Fund (ETF เป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ที่มีมูลค่ารวม 930 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการถือหุ้นใน 82 บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานที่มีต้นกำเนิดจากคาร์บอนไปเป็นพลังงานประเภทอื่น เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใบพัดของกังหันลมหรือระบบสายส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน การใช้คำว่า “เก็งกำไร” ยังนับว่าเบาไปสำหรับหุ้นพวกนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีผลขาดทุนแต่การลงทุนในธุรกิจพลังงานประเภทนี้จะคุ้มค่าแค่ไหนในระยะยาวก็ยังเป็นประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ 

    จะว่าไปแล้วนักลงทุนคงจะหาการลงทุนในบริษัทการลงทุนไหนที่หวือหวาเกินกว่านี้ได้ยาก โดยในปี 2020 กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 206% แต่หลังจากนั้นมูลค่าของกองทุนก็หายไปถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งพอร์ตการลงทุนของบริษัท ณ ระดับปัจจุบันถ้าไม่เรียกว่าถูกสุดๆ ก็ต้องถือว่าอยู่ในช่วงลดกระหน่ำ แต่กองทุนนี้อาจจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งก็ได้ ถ้าหากมีการผันเงินบางส่วนจากงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสมาแล้ว 3.94 แสนล้านเหรียญเพื่อใช้ลดการใช้คาร์บอนมายังธุรกิจเหล่านี้บ้าง

    ในช่วงทศวรรษที่ 1990 Wilder เป็นดอกเตอร์ที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ Massachusetts และ California แต่เขาพบว่างานสอนหนังสือมันยังไม่เร้าใจพอ เขาบอกว่า “การทำหน้าที่ศาสตราจารย์ถือเป็นสิ่งที่ดีเป็นอันดับ 2 แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ การเป็นผู้ประกอบการ” 



    Wilder ลาออกจากงานด้านวิชาการ ถอนเงินออมสำรับการเกษียณทั้งหมดที่มี แล้วเดินสายขอพบกับกองทุนต่างๆ ทั้งใน Boston และ New York เพื่อนำเสนอกองทุนด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green-energy fund) เขาบอกว่า “พวกนั้นหัวเราะเยาะผม” ในบางช่วงเขาต้องตกระกำลำบากจนถึงกับต้องตามเก็บสิทธิประโยชน์คนว่างงานเพื่อประทังชีวิตเลยทีเดียว  

    ในที่สุดก็มีบริษัทจัดการกองทุน ETF ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ Invesco ให้ความสนใจกองทุนของเขา โดย Wilder จะคัดหุ้นเข้ามาอยู่ในดัชนีพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและบริษัทนั้นก็จะใช้ดัชนีนี้สร้างกองทุนขึ้นมา จัดการงานด้านบัญชีและใช้ความเชื่อมโยงกับเครือข่ายในตลาดหุ้น Wall Street (ชื่อ “Hill” คือ ผู้ร่วมลงทุนในช่วงแรกซึ่งถอนตัวออกไปแล้ว โดย Wilder เป็นเจ้าของ WilderShares LLC เต็มตัว) 

    กองทุน WilderHill Clean Energy เริ่มต้นอย่างแข็งแกร่งหลังจากที่เปิดประตูรับเงินลงทุนในปี 2005 แต่จากนั้นก็ประสบกับหายนะเมื่อตลาดหุ้นล่มในช่วงปี 2007-2009 ต่อมาในปี 2020 กระแสความนิยมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศก็ทำให้กองทุนนี้กลับมาเปล่งประกายได้อีกครั้ง

    Wilder บอกว่า กองทุนลดการปล่อยสารคาร์บอนของเขานับเป็นกองทุนกองแรกในประเภทนี้ แต่ปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกองทุนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุน ETF ของ First Trust ที่มีขนาดใหญ่กว่าถึงเท่าตัวและผลตอบแทนก็สูงกว่าของกองทุน WilderHill Clean Energy อย่างมาก  แต่สิ่งที่ทำให้กองทุนของ Wilder แตกต่างคือ การปรับพอร์ตเป็นประจำทุกไตรมาสเพื่อเกลี่ยให้หุ้นแต่ละตัวที่คัดเข้ามาในกองทุนมีน้ำหนักเกือบจะเท่ากัน ดังนั้นในกองทุนของเขา Enovix ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กที่พัฒนาขั้วแบตเตอรี่และมีรายได้เพียง 5 ล้านเหรียญจึงได้รับการจัดสรรเงินเม็ดลงทุนเท่ากับ Albermarle ซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเธียมที่มีรายได้ถึง 5.6 พันล้านเหรียญ

    ข้อดีของแนวทางการลงทุนแบบเสมอภาคในหุ้นที่คัดมาแล้วนี้คือ มันเปิดโอกาสให้กิจการสตาร์ทอัพขนาดเล็กมีโอกาสได้ขยับขยาย แต่ข้อเสียคือ หุ้นดีเด็ดอนาคตไกลที่ถูกคัดเข้ามาในพอร์ตแล้วกลับถูกจำกัดน้ำหนักการลงทุนเอาไว้ ตัวอย่างของหุ้นประเภทนี้ที่หลุดมือไปอย่างน่าเสียดายคือ Tesla 

    Wilder จัดเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่วัยเด็กที่เขาเคยมีโอกาสได้นั่งตอนที่ไปเที่ยวสวนสนุก Disneyland ซึ่งมันทำให้เขาฝังใจ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าสปอร์ตเปิดประทุนสีส้มแจ๊ดที่บ้านของเขาใน Encinitas รัฐ California ซึ่งเป็นรถคันแรกๆ ที่ออกมาจากสายการผลิตของ Elon Musk 

    นอกจากนี้ มันยังเป็นเหตุผลที่ ETF ของเขาเข้าไปลงทุนใน Tesla Motors ในเดือนกันยายนปี 2010 ด้วย ซึ่งจากตอนนั้นถึงตอนนี้ราคาหุ้น Tesla วิ่งขึ้นมาแล้วถึง 14,200% แต่เนื่องจากติดกฎเรื่องการเกลี่ยน้ำหนักการลงทุนของหุ้นทุกตัวในพอร์ตให้เท่ากัน ดังนั้นกองทุนของเขาจึงถูกบีบให้ต้องขายหุ้น Tesla บางส่วนออกมาทุกไตรมาสที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมามากๆ ทั้งนี้ผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีของกองทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 12.4% ซึ่งมันคงจะดีกว่านี้ถ้าหากเขาถือหุ้น Tesla เอาไว้ยาวๆ โดยไม่ทยอยตัดขายออกไปเสียก่อน 

    ทั้งนี้ หากพิจารณาตามรูปแบบแล้ว Invesco WilderHill จัดเป็นกองทุนที่มีการบริหารพอร์ตการลงทุนแบบ passive เพราะมันใช้กลไกในการปรับพอร์ตตามดัชนี Clean Energy ซึ่งดูแลโดย WilderShares “การบริหารแบบ passive ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบ active ถึง 80% ของช่วงเวลา” Wilder กล่าว ซึ่งฟังดูคล้ายๆ กับคำพูดของ John Bogle ผู้ก่อตั้ง Vanguard

    อย่างไรก็ตามดัชนีของเขามีการใช้วิจารณญาณส่วนตัวค่อนข้างสูง โดยเขาอาจเลือกไม่นำหุ้นบางบริษัทเข้ามารวมอยู่ในดัชนีเพียงเพราะมันอยู่ในธุรกิจที่มีผู้เล่นในตลาดเยอะแล้ว หรืออาจจะเป็นบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่า มีการใช้แรงานทาส (ประเด็นนี้ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับกิจการในประเทศจีน) หรือทำธุรกิจที่เฉียดใกล้กับพลังงานจากฟอสซิลมากเกินไป 

    ซึ่งการประเมินในลักษณะดังกล่าวบวกกับการปรับพอร์ตการลงทุนทุกไตรมาสทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นในพอร์ตของกองทุน Clean Energy มากถึงปีละ 60% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับกองทุนประเภท index fund แต่ Rob Wilder ไม่ยี่หระกับประเด็นนี้ เพราะถ้าหากสามารถสร้างดัชนีหุ้นเก็งกำไรของกลุ่มพลังงานที่นิ่งอยู่กับที่ขึ้นมาได้จริง Invesco ก็ไม่จำเป็นต้องมี WilderShares แล้ว

    เมื่อนับรวมสัดส่วนค่าใช้จ่าย 0.62% ของกองทุนดั้งเดิม และ 0.75% ของส่วนที่เสนอขายในภายหลัง Global Clean Energy สามารถทำรายได้ถึงปีละ 7.5 ล้านเหรียญ ซึ่งทั้ง Wilder และ Invesco ต่างก็ปิดปากเงียบไม่ยอมบอกว่า ในจำนวนนั้นเป็นส่วนของ WilderShares เท่าไร อย่างไรก็ตามไม่ว่าค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่เท่าไร มันก็มากเกินพอให้เขาจ่ายค่าจ้างให้นักวิจัยไม่กี่คนที่ทำงานตามสัญญาจ้างกับบริษัทของ Wilder (ซึ่งเขาเป็นลูกจ้างเพียงคนเดียว) และเปิดโอกาสให้เขาได้ทำสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามที่เขาวาดหวังเอาไว้ 

    เขาซื้อแผงโซลาร์มาใช้ตั้งแต่นานมาแล้วก่อนที่มันจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงๆ เสียอีก เขาเข้าไปซื้อสวนอะโวคาโดที่ประสบความล้มเหลว สร้างบ้านหลังเล็กๆ จากฟางอัด และตอนนี้ก็กำลังพยายามจะลดการปล่อยสารคาร์บอนด้วยการเปลี่ยนมาปลูกต้น (baobab) และสนหินแทนอะโวคาโด

    มี 2 เรื่องที่อาจจะช่วยสนับสนุนธุรกิจของ Wilder ไปได้สวย เรื่องแรกคือ มุมมองที่ว่าการโยกเงินทุนออกจากพลังงานประเภทคาร์บอนมายังพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งที่เหมาะสมในเชิงธุรกิจ ซึ่งมุมมองแบบนี้คล้ายๆ กับการเปรียบเทียบว่าน้ำมันเป็น Blockbuster และพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็น Netflix

    เรื่องที่ 2 คือ ความต้องการที่จะชดเชยกับสิ่งที่เสียไป Wilder สารภาพว่า เขาเองรู้สึกผิดกับการที่ตัวเองเดินทางไปอิตาลี ซึ่งทำให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมันที่เครื่องบินใช้ไป แต่เขาปลอบใจตัวเองว่า สักวันหนึ่งการเดินทางโดยเครื่องบินจะไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากเหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้ในบรรดาหุ้นที่เขาเลือกซื้อมี Joby Aviation และ Vertical Aerospace ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องบินที่ใช้แบตเตอรี่รวมอยู่ด้วย

    ถ้าคุณอยากจะลงทุนแบบยาวๆ ในธุรกิจพลังงานคุณก็ต้องเข้าลงทุนผ่านกองทุน ทั้งนี้ Invesco เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการขาย short มายืมหุ้นไปขายได้และเก็บค่าธรรมเนียมการยืมหุ้น ซึ่งแค่รายได้ส่วนนี้ก็เกินพอที่จะครอบคลุมสัดส่วนค่าใช้จ่ายของกองทุนแล้ว ดังนั้น ต้นทุนสุทธิต่อปีในการถือกองทุน Invesco Clean Energy คือ -1.1% ว่าแต่คุณควรจะเข้าไปเสี่ยงกับกองทุนนี้ไหม? ควร ถ้าคุณเกลียดพลังงานฟอสซิลเข้าไส้และมีใจรักการพนัน


เรื่อง: Willam Baldwin เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา ภาพ: Robert Gallagher


อ่านเพิ่มเติม: Megan ผู้ไม่เคยพ่าย


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine