Ray Dalio เตือน การถดถอยของสหรัฐฯ อาจร้ายแรงถึงชีวิต - Forbes Thailand

Ray Dalio เตือน การถดถอยของสหรัฐฯ อาจร้ายแรงถึงชีวิต

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Nov 2021 | 06:00 PM
READ 2839

Ray Dalio นักลงทุนพันล้านผู้สร้างเฮจฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกวาดฉากอันน่าสลดในหนังสือเล่มใหม่ของเขา The Changing World Order: How and Why Nations Succeed and Fail

“ไม่มีอาณาจักรไหนคงอยู่ตลอดไป Ray Dalio กล่าว ช่างเป็นคำพูดที่ถ่อมตัวเหลือเกิน เมื่อออกมาจากปากของชายผู้สร้างเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีทรัพย์สินกว่า 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เศรษฐีพันล้านวัย 72 ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ไม่ได้กล่าวถึงอาณาจักรที่เขาเป็นผู้สร้างและลงจากตำแหน่ง CEO เมื่อปี 2017  (Dalio ยังคงถือตำแหน่ง Co-Chairman และ Co-CIO อยู่) อาณาจักรที่เขากำลังพูดถึงนั้นคือที่ที่เขาอาศัยอยู่ซึ่งก็คือ "สหรัฐอเมริกา" ต่างหาก “ตอนนี้ เงิน และเครดิต และพฤติกรรมของพวกมันกำลังส่งผลว่าตลาดการเงิน รวมถึงเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร” Dalio บอกกับ Forbes ระหว่างการสัมภาษณ์ในยามที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งสูงสุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภายในของและการตกจากตำแหน่งมหาอำนาจระดับโลกมาเรื่อยๆ ของอเมริกาเป็นมากกว่าเรื่องที่จะมาโต้เถียงกันสำหรับ Dalio สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจหลักของ The Changing World Order: How and Why Nations Succeed and Fail หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ปล่อยออกมาวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ในหนังสือเล่มนี้เขาพยายามจะสื่อว่าหนี้ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำของรายได้นั้นมันมาบรรจบกัน และบวกกับอิทธิพลของอเมริกาที่ลดลง ส่งผลให้อเมริกานอกจากจะเสี่ยงเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจทำให้เกิดสงครามด้วย
Ray Dalio ในงาน World Economic Forum ที่เมือง Davos เมื่อปี 2017
เขายังชี้ไปยังหนี้ที่เพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยเกือบเป็นศูนย์ที่ทำให้ต้องพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมหาศาล (หนี้ 16 ล้านล้านเหรียญฯ และดอกเบี้ยติดลบในปีนี้ตามการคาดการณ์ของ Dalio) ปัญหาความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น และการแยกออกเป็นสองขั้นอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งและความสามารถในการท้าทายอำนาจสหรัฐของจีนบนเวทีโลก Dalio เชื่อว่าสหรัฐอาจจะเผชิญกับความขัดแย้ง “แนวๆ สงครามกลางเมือง” ครั้งใหญ่ภายใน 5 ปีข้างหน้าถึงร้อยละ 30 แม้ว่าประเทศอื่นๆ อาจจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน แต่อเมริกาดูท่าทางจะเปราะบางกว่าเพื่อน “มันสำคัญมากที่เราจะจัดการกับปัญหานี้เดี๋ยวนี้” เขากล่าว “ขึ้นอยู่กับว่าเราปฏิบัติตัวต่อกันและกันอย่างไร รวมถึงสภาพทางการเงินของเรา เราอาจจะเกิดสงครามกลางเมือง หรือไม่ก็สงครามระหว่างประเทศก็ได้” และนอกเหนือจากนั้น อเมริกาไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังเผชิญฉากอันน่าสลดนี้

หนังสือเปลี่ยนโลก

Dalio ได้สร้างธุรกิจและกองทรัพย์สินของเขา ซึ่งทาง Forbes ประมาณไว้ว่าอยู่ที่ราวๆ 2 หมื่นล้านเหรียญฯ จากการคำนวณก้าวต่อไปของโลกและออกแบบกลยุทธ์การลงทุนที่จะสร้างกำไรจากก้าวต่อไปนั้น ทางอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ Hank Paulson ได้กล่าวถึง Ray Dalio ว่าเขาเป็น “ผู้คิดการใหญ่และนักวิชาการหัวใสในคราบผู้จัดการการลงทุน” Paulson ยังได้กล่าวด้วยว่า เมื่อไรก็ตามที่ Dalio ประเมินค่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคและกลยุทธ์ต่างๆ เขาก็มักจะถูกเสมอเลย อีกทั้งเป็นที่รู้กันว่าเขาเองเคยทำเงินได้จากปี 1987 ที่ตลาดหุ้นตก  และได้คาดการณ์วิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ไว้อีกด้วย ส่งผลให้กองทุนของเขาไปได้สวยในช่วงที่ทุกอย่างพังพินาศ สิ่งที่แตกต่างไปในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงขอบเขตของปัญหาเท่านั้น แต่รวมถึงกระบอกเสียงของ Dalio ที่ใหญ่ขึ้นด้วย แทนที่จะเขียนมุมมองเรื่องภูมิทัศน์ทางธุรกิจโลกของเขาให้เหล่าลูกค้าที่ซื้อกองทุนและเก็งกำไรจากกลยุทธ์การลงทุนของเขา Dalio กำลังแชร์มุมมองนี้กับกลุ่มคนกว้างกว่าเคย ต้องขอบคุณหนังสือขายดีที่วางแผงเมื่อปี 2017 อย่าง Principles ที่ทำให้ Dalio เปรียบเหมือนเซเลปคนหนึ่งและเหมือนเป็นฮีโร่ลัทธิบางอย่างที่มีผู้อ่านนับล้านที่รู้สึกเหมือนโดนปรัชญาการเป็นผู้นำ “ความโปร่งใสอย่างสุดโต่ง” ดึงดูดเข้ามา ซึ่งนั่นก็อาจส่งผลให้หนังสือเล่มใหม่ของ Dalio นี้อาจจะดึงดูดผู้อ่านนอกเหนือจากแฟนๆ ที่ติดตามสารเศรษฐกิจมหภาคของเขาได้ ผู้อ่านทั้งหลายอาจจะพบว่า The Changing World Order นั้นทั้งเปิดหูเปิดตาแต่ก็ทำให้รู้สึกท้อแท้ได้เช่นกัน นั่นก็เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นบทความวิชาการมากกว่าคู่มือการลงทุน ในขณะที่หนังสือ Principles ของ Dalio สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านด้วยเรื่องราวต่างๆ จากชีวิต และปรัชญาการเป็นผู้นำของเขา หนังสือเล่มใหม่นี้กลับมีชี้ให้เห็นปัญหาที่ไม่มีทางออกที่แน่ชัดเลย และหาก Dalio มีกลวิธีที่แน่นอนว่าควรจะลงทุน และจัดการกับความเสี่ยงอย่างไรในสภาวะนี้ เขาก็ไม่ได้พูดถึงมันในหน้ากระดาษเหล่านี้เลย ก็เพราะว่าสุดท้ายแล้วการสร้างกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันว้าวุ่นในโลกใบนี้คือเหตุผลที่บริษัทอย่าง Bridgewater ยังคงมีอยู่อย่างไรล่ะ
Photo Credit: The Atlantic
กลับกัน กลวิธีของ Dalio ส่วนมากคือการสร้างเค้าโครงเศรษฐกิจขึ้นมา (ส่วนมาตามบริบทของวัฏจักร หรือไม่ก็ ‘กลไกเศรษฐศาสตร์’) แล้วก็ให้หลักการหลักๆ ที่กว้างกว่าว่าควรจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรดี ใครก็ตามที่ได้อ่านงานเขียนของ Dalio เรื่องการผงาดของประชานิยม ที่ตีพิมพ์ปี 2017 หรือ บทความสองตอนที่อธิบายว่าทำไมเราต้องปฏิรูปทุนนิยมที่ปล่อยออกมา 2 ปีให้หลังก็น่าจะคุ้นเคยกับวิธีการนี้อยู่บ้าง หากพวกเขาเป็นนักลงทุนเฮจฟันด์ พวกเขาก็มักจะคุ้นเคยกับการอ่านงานเขียนต่างๆ ที่อธิบายว่าผู้จัดการทั้งหลายมองโลกการลงทุนอย่างไร

เศรษฐีพันล้านผู้ส่งทอดความรู้

ในหนังสือเล่มใหม่นี้ Ray Dalio ได้เขียนบทความวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งมากกว่าเคย และกล่าวถึง เครื่องมือใหม่ๆ ที่ใช้วัดและนำทางเมื่อเจอกับความเสี่ยง Dalio กล่าวว่าด้วยเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เขารู้สึกอยากที่จะเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่มเขาอธิบายว่าในฐานะที่เป็นหนึ่งในประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำ Bridgewater “ผมจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจแล้วตอนนี้” อีกทั้งยังมีสัญชาติญาณนักบุญที่อยากจะให้ความรู้คนอื่นๆ เกียวกับเรื่องที่ใกล้จะมาถึง “ผมอยู่ในช่วงที่ผมกำลังส่งต่อเรื่องสำคัญๆ ที่ผมเรียนรู้มา ด้วยเหตุผลนี้ ผมตัดสินใจว่าจะถ่ายทอดทุกอย่างผ่านหนังสือ” Dalio กล่าว Dalio ได้สร้าง ‘ดัชนีสุขภาพ’ ขึ้นมาในหนังสือโดยประเมินจาก 18 ปัจจัย ตั้งแต่ภาระหนี้ และผลผลิตด้านเศรษฐกิจ จนไปถึงกำลังทางทหารและนวัตกรรมของประเทศต่างๆ โดยนี้เป็นเครื่องมือที่ผู้อ่านเองก็สามารถนำไปใช้ประเมินความเสี่ยง และสร้างกลยุทธ์ของตัวเองขึ้นมาได้ เขายังได้วางแผนสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ผู้คนสามารถประเมินค่าจากดาต้าที่มองเห็นได้แบบ real-time เหมือนเป็นคุณหมอวินิจฉัยคนไข้เลยทีเดียว นอกจากนี้ Dalio เองนอกจากจะเป็นนักเรียนหัววิทย์แล้ว เขายังเป็นนักเรียนนักประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยการประเมินเรื่องความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมาจากการศึกษาขาขึ้นและขาลงของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่มากมายมาหลายปี อเมริกาไม่ใช่ประเทศแรกที่เผชิญกับปัญหาหนี้ที่พอกพูนและความไม่เท่าเทียมทางรายได้พร้อมๆ กับอำนาจและอิทธิพลบนเวทีโลกที่ลดลง “ครั้งสุดท้ายที่ทั้ง 3 อย่างนี้เกิดขึ้นคือเมื่อช่วงปี 1930 ถึง 1945” Dalio กล่าว “เมื่อพวกมันเกิดขึ้นพร้อมกัน มันก็เป็นเรื่องที่บอกอะไรเราได้เยอะเลยทีเดียว”  สำหรับเด็กหนุ่มที่เกิดที่ Brooklyn ในช่วง ​​Baby Boom หลังสงคราม ตามมาด้วยชัยชนะของอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมฆทะมึนของผลกระทบที่จะทำให้เสียหายร้ายแรงนี้ที่จะมาถึงนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยั่วยวนให้ลงทุนสักเท่าไร แต่เป็นป้ายเตือนอันใหญ่เบ้อเริ่ม Ray Dalio เองก็หวังว่าผู้นำที่หลักแหลมทั้งหลาย และพลเมืองจะสามารถทำอะไรสักอย่างเพื่อจะหลีกหนีผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดได้ผ่านงานเขียนและบทสนทนากับผู้นำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกับ Henry Kissinger อดีตเลขานุการรัฐ และผู้นั่งตำแหน่ง CEO ประจำ JPMorgan Chase อย่าง Jamie Dimon ก็ตาม สุดท้ายแล้ว เขากล่าวถึงประเด็นที่หลั่งไหลมาสะสมเรื่อยๆ อยู่หลายปีนี้ว่า “มันถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมองสิ่งเหล่านี้ มันป้ายเตือนทั้งหลาย และจัดการกับมันซะ” เช่นเดียวกับที่เขารอบคอบเสมอเมื่อเขียนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคมาหลาย 10 ปี Dalio เองก็ไม่ลืมที่จะระบุว่าขอบเขตและช่วงเวลาที่ความเสี่ยงนี้จะส่งผลยังคลุมเครืออยู่ เขายังได้อธิบายไว้ในหนังสืออีกด้วยว่า เช่นเดียวกับเฮอร์ริเคน เมื่อเรารู้ว่าพายุเศรษฐกิจนี้จะเป็นแบบไหน และรู้ถึงสัญญาณเตือนภัยเมื่อพายุมาถึงจะทำให้เราสามารถเตรียมตัวและหนีพายุลูกนั้นได้ง่ายขึ้น “ผมไม่ได้สนว่าจะได้เงินเพิ่มจากหนังสือหรอก” เขากล่าว “ผมแค่กำลังพยายามส่งต่อสิ่งต่างๆ ที่มีค่าสำหรับผมและสามารถช่วยคนอื่นได้” 

เงินเป็นขยะ!

ข้อเสนอแนะหนึ่งอย่างเมื่อถามว่าอะไรคือกองทุนที่ปลอดภัยที่สุดในตอนนี้ เขาก็ตอบว่า “ไม่ใช่เงิน!” ช่วงต้นปี 2020 Dalio ก่อให้เกิดความวุ่นวายใน Davos เมื่อเขากล่าวว่า “เงินเป็นขยะ ท่ามกลางผู้คนที่เดินไปถอนตัวจากตลาดโดยมีโคโรน่าที่ยังถือว่าเป็นไวรัสในตอนนั้นเป็นตัวร้ายข้อถกเถียงของ Dalio ทั้งในตอนนั้นและตอนนี้คือเขาต้องการทำให้กลุ่มสินทรัพย์ เงินตรา และตลาดต่างๆ มีความหลากหลายมากขึ้น มันยากเกินไปที่จะชนะได้หาคุณวางพนันไว้กับแค่อย่างสองอย่าง “ผมกังวล ผู้ถือบิตคอยน์ที่มีจำนวนมากเกินนี้ ขอให้พวกเขาดูให้ถูกเถอะนะว่านั่นมันคือบิตคอยน์จริงๆ และไม่ใช่อย่างอื่นจริงๆ” เขากล่าว “สิ่งที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้มันอยู่ในสินทรัพย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอหังสาริมทรพย์ หุ้น ทอง เงิน บิตคอยน์ หรืออะไรก็ตามจากการกระตุ้น [ทางเศรษฐกิจ] ทั้งหมดนี้ พวกมันก็พุ่งขึ้นกันหมด” เขากล่าว และเขามองว่านักลงทุนหลายคนให้น้ำหนักสินทรัพย์ในสหรัฐมากเกิน และลืมหันมองตัวเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจ “สรุปก็คือ ผมจะเลือก [ลงทุนใน] ประเทศที่มีรายรับมากกว่ารายจ่าย เพื่อที่พวกเขาจะได้มีงบกำไรขาดทุนและงบแสดงฐานะการเงินที่ดูดียังไงล่ะ” และหากคุณอยากรู้มากกว่านี้ล่ะก็ ก็ซื้อหนังสือได้เลย Dalio กล่าวว่านี้อาจจะเป็นเล่มก่อนสุดท้ายของเขา โดยเขาวางแผนจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจและหลักการการลงทุนอีกหนึ่งเล่มเท่านั้น “เมื่อผมก้าวข้ามตรงนั้นไปแล้ว ผมจะไม่มีอะไรต้องพูดอีกแล้ว และผมก็จะอยู่เงียบๆ” Dalio กล่าว ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะทิ้งงานปกติของเขาเร็วๆ นี้หรอกนะ “ผมรักเกมที่ผมเล่นอยู่ ตลาดน่ะ”  แม้เขาอยากจะช่วยงัดข้อกับอุปสรรคต่างๆเพื่อช่วยสหรัฐให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง Ray Dalio เองรู้ว่าเขาทำเงินได้เมื่อรู้ว่าควรจะเล่นเกมอย่างไรเมื่อรู้แล้วว่าอะไรกำลังจะมา แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Ray Dalio Says America’s Decline Will Upend Lives, Not Just Portfolios เผยแพร่บน ​Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: House of Gucci: คดีสะเทือนโลก สู่ Gucci ในซูเปอร์มาร์เก็ต
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine