Kyle Lee ชาวประมงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจากเมือง Cordova รัฐ Alaska ผู้ก่อตั้งบริษัท Alaskan Salmon เสนอทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาด้านความสดในการเลือกซื้อแซลมอนป่าจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นความคาว เนื้อแตกเป็นชิ้น หรือสีไม่สดใส
Kyle Lee กำลังจุดประกายการนำเสนอภารกิจในการ
“จัดหาแซลมอนที่จับจากธรรมชาติที่พิเศษที่สุดจากแม่น้ำคอปเปอร์” ให้กับผู้บริโภค ตั้งแต่ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินไปจนถึงพ่อครัวที่บ้าน โดยไม่มีตัวแทนจัดจำหน่ายหรือพ่อค้าคนกลาง
ถึงแม้ว่าห่วงโซ่อุปทานโดยทั่วไปของแซลมอนป่า มักจะประกอบด้วย พ่อค้าคนกลางราว 7-10 คน (รวมกระบวนการในต่างประเทศและการนำเข้ากลับมายังสหรัฐอเมริกา) แต่เขายืนยันว่าแซลมอนของพวกเขาจะถูกแช่แข็งอย่างรวดเร็วและส่งถึงลูกค้าโดยตรง
จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ คือ สิ่งที่
Kyle Lee ถูกสั่งสมตั้งแต่อายุยังน้อยในฐานะลูกชายของผู้อพยพชาวไต้หวัน ที่เปิดร้านอาหารใน Alaska “โดยพื้นฐานแล้วผมเติบโตมาในร้านอาหาร” เขากล่าว “ผมจะอยู่ข้างหลังแม่ในขณะที่ท่านกำลังทำไข่ม้วนหรือใช้เครื่องคิดเงิน”
นอกจากนี้ ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย Lee ยังใช้เวลาช่วงฤดูร้อนทำงานบนเรือประมงพาณิชย์ของเพื่อนคนหนึ่ง และพบว่าเขาชอบวิถีชีวิตเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันน่าทึ่งของพื้นที่ที่พวกเขาตกปลา
Lee เสริมว่า จุดประกายที่ทำให้เขาก่อตั้งบริษัทประมงในท้ายที่สุด เกิดขึ้นเมื่อเขาเห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างปลาที่เขามีในช่องแช่แข็งจากการไปตกปลากับปลาที่วางขายในร้านค้าในเมือง Cordova
“ผมเริ่มสงสัยว่าถ้าเราตัดพ่อค้าคนกลางออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น” Lee กล่าว “เรากำลังจับปลาสวยงามเหล่านี้ใน Alaska แต่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แซลมอนนอนอ้าปากค้างและมีสีที่ไม่สดใส”
เริ่มต้นจากฝั่งฝัน
ทั้งนี้ การทำประมงเชิงพาณิชย์ไม่ใช่เส้นทางอาชีพที่พ่อแม่ของ Lee ใฝ่ฝัน เพราะเขาได้รับปริญญาด้านการเงินและการบัญชี แต่ด้วยโอกาสที่บังเอิญเข้ามาทำให้ Lee กล้าที่จะดำดิ่งไปตามความหลงใหลของเขา
เมื่อพบว่าชาวประมงที่เกษียณอายุกำลังขายเรือและใบอนุญาตในการตกปลาที่แม่น้ำคอปเปอร์ใน Alaska ซึ่งมีความยาว 300 ไมล์
การตกปลาที่แม่น้ำคอปเปอร์ใน Alaska เป็นจุดตกปลาที่เป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะแซลมอนคิงไซส์และแซลมอนซ็อกอายที่จับได้ที่นี่มีเส้นทางการอพยพที่ยากเป็นพิเศษ (อาจเรียกได้ว่ายากที่สุดในโลก) เพราะต้องปีนขึ้นเนินที่ท้าทาย หมายความว่า แซลมอนเหล่านั้นจะต้องเพิ่มไขมันมากขึ้นจึงจะเดินทางได้เป็นผลให้แซลมอนอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ดีต่อสุขภาพ
ด้วยเหตุนี้ สำหรับ Lee แล้ว นี่คือโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทำให้เขาเลือกตัดสินใจกู้เงินเพื่อซื้อเรือและใบอนุญาต
ซึ่งเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา Lee ประสบความสำเร็จในธุรกิจประมงของเขา โดยสามารถจำหน่ายสินค้าที่จับได้ตามฤดูกาลหมดทุกปี แต่แล้วสถานการณ์โควิด-19 กลับส่งผลกระทบอย่างหนัก ปี 2020 บริษัทต้องสูญเสียฐานลูกค้าร้านอาหารหลายแห่ง แต่ในขณะเดียวกันจากสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปิดตัวเว็บไซต์
DTC เช่นกัน
โดยเว็บไซต์
DTC เปิดตัวเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อปลาที่จับได้อย่างยั่งยืนและคุณภาพสูงแบบเดียวกันโดยตรงจากชาวประมงในแม่น้ำคอปเปอร์เป็นครั้งแรกซึ่งผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อแซลมอนซ็อกอายหรือแซลมอนคิงไซส์ ขนาดกล่องละไม่เกิน 5 ปอนด์ ได้ตามลำดับการจองคิว
“เว็บไซต์ล่ม และภายในเดือนแรก มีคนรอคิวถึง 4,000 คน” Lee กล่าว
เมื่อถามถึงอนาคตของบริษัท Alaskan Salmon ตอนนี้ Lee มีความคิดริเริ่มที่สำคัญ 2 ประการ ซึ่งก็คือการให้ความรู้และการขยายธุรกิจ “ตอนนี้เรามีผู้ติดตามจำนวนมาก ผมอยากมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้จริงจัง” เขากล่าว
เป้าหมายของ Lee คือการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคว่าแซลมอนป่าคืออะไร มีอะไรบ้าง ข้อดีและข้อเสีย และรายละเอียดต่างๆ “ด้วยวิธีนี้ พวกเขาสามารถใช้ข้อมูลนั้นและตัดสินใจได้ดีที่สุดว่าจะกินแซลมอนป่า แซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์ม หรือทั้งสองอย่าง” หากเราเข้าไปที่เว็บไซต์ Alaskan Salmon จะพบคำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างแซลมอนที่จับจากธรรมชาติและที่เลี้ยงในฟาร์ม (รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รสชาติ และประโยชน์ต่อสุขภาพ) ตลอดจนรายละเอียดของแซลมอนแม่น้ำคอปเปอร์ และเหตุผลที่ทำให้มีราคาแพงมาก
ขณะที่ในด้านธุรกิจ Lee หวังที่จะขยายการทำประมงของพวกเขาให้ไกลกว่าแซลมอนและในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น ด้วยการนำเสนอปลาแฮลิบัตและปลาค็อดสีดำในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งในที่สุดก็จะมีผลิตภัณฑ์จาก Alaska จำนวนมหาศาล
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Meet The 29-Year-Old Asian American Fisherman Disrupting The Alaskan Wild Salmon Industry โดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
Kim Chang-soo นำ F&F เข้าซื้อผู้ผลิตอุปกรณ์กอล์ฟ TaylorMade