Nvidia คือผู้ครองตลาดชิป AI อย่างเต็มตัวด้วยการนำเซมิคอนดักเตอร์ที่เดิมพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในวิดีโอเกมมาใช้ประโยชน์ใหม่ๆ แต่ในเวลานี้ Groq สตาร์ทอัพจิ๋ววัยเพียง 8 ปี จากไม่มีอะไรเลยกำลังก้าวขึ้นมาเผชิญหน้ากับบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยชิปที่ออกแบบใหม่ทั้งหมดสำหรับใช้กับ AI โดยเฉพาะ
Jonathan Ross รู้สึกตงิดใจว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลขณะที่เขากำลังพูดคุยอยู่กับสมาชิกรัฐสภานอร์เวย์กลุ่มใหญ่และกลุ่มผู้บริหารสายเทคโนโลยีที่ Oslo เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Ross ซีอีโอวัย 42 ปี ของ Groq สตาร์ทอัพผู้พัฒนาชิป AI กำลังนำเสนอเครื่องมือที่เขาหวังว่าจะช่วยชุบชีวิตบริษัทที่กำลังอ่อนแรงแห่งนี้นั่นคือ แชทบอท AI ที่สามารถตอบคำถามได้เกือบจะทันทีก่อนที่คนเราจะอ่านคำถามจบด้วยซ้ำ แต่การพัฒนาล่าช้าออกไปเล็กน้อยซึ่งทำให้เขารู้สึกกังวล Ross กำลังนำเสนอศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลแห่งหนึ่ง (data center) ในยุโรปที่จะขับเคลื่อนด้วย Groq และใช้ชิปพิเศษทำหน้าที่ตอบคำถามด้วยความเร็วสูง
ปัญหาคือ การกระหน่ำเข้าใช้งานของผู้ใช้รายใหม่ เพียง 1 วันก่อนที่ Ross จะเข้าร่วมประชุมที่ Oslo ข้อความทวีตจากผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งที่กล่าวชม “เครื่องมือ AI ที่ตอบคำถามได้รวดเร็วปานสายฟ้า” กลายเป็นไวรัล ผู้ใช้หน้าใหม่ต่างแห่เข้าทดลองใช้งานออนไลน์จนกระทบต่อเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท มันเป็นปัญหาก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี
เมื่อครั้งที่ Ross ร่วมก่อตั้ง Groq ขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เขามีความคิดที่จะออกแบบชิป AI ให้กับสิ่งที่อุตสาหกรรมเรียกว่า “อินเฟอร์เรนซ์” โดยเฉพาะ (อินเฟอร์เรนซ์คือ ส่วนของปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบการใช้เหตุผลของมนุษย์โดยการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ) ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสามารถบอกได้ว่า สุนัขในภาพเป็นสายพันธุ์คอร์กี้แม้จะไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อน หรือทำให้ทำให้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสร้างภาพจินตนาการสมเด็จพระสันตะปาปา Francis ในเสื้อคลุม Balenciaga สิ่งที่แตกต่างไปจากความคิดเชิงคำนวณของ AI อื่นๆ คือ อันดับแรกจะต้องมีการฝึกอบรมให้กับโมเดลมากมายมหาศาลเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ OpenAI จะเปิดตัว ChatGPT ช่วงปลายปี 2022 และปลุกกระแส AI ขึ้นทั่วโลกนั้น ความต้องการอินเฟอร์เรนซ์ความเร็วสูงยังมีไม่มากนัก ขณะที่บริษัทตกอยู่ในสภาพโซซัดโซเซ “Groq เกือบขาดใจไปหลายครั้ง” Ross ให้สัมภาษณ์ ณ ห้องปฏิบัติการเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทที่ San Jose รัฐ California เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2019 บริษัทเคยถึงจุดตกต่ำมากๆ จนเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายได้อีกเพียงเดือนเดียว “เราอาจจะก่อตั้ง Groq กันขึ้นมาเร็วเกินไป”
แต่เวลานี้ความต้องการพลังการคิดคำนวณสมรรถนะสูงสำหรับสร้างและใช้งานโมเดล AI นั้นมีมากเสียจนกระทั่งเกิดภาวะขลาดแคลนไฟฟ้าไปทั่วโลก ดูเหมือนว่าเวลาของ Groq จะมาถึงแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะคู่แข่งหน้าใหม่หรือเป้าหมายซื้อกิจการของบรรดายักษ์ใหญ่หน้าเดิมๆ ในอุตสาหกรรมชิปก็ตาม ความต้องการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลให้ Nvidia มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดแตะระดับ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากรายได้ในปี 2023 อยู่ที่ 6.09 หมื่นล้านเหรียญ เมื่อเทียบกันแล้ว Groq เป็นเพียงเด็กน้อยคนหนึ่ง โดยแหล่งใกล้ชิดข้อมูลทางการเงินของ Groq เผยว่า Groq มีรายได้โดยประมาณเพียง 2 ล้านเหรียญ แต่ความต้องการชิปของ Groq เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บรรดาแหล่งข้อมูลต่างๆ ยังเผยด้วยว่า บริษัทคาดหวังว่าจะทำยอดขายได้ 100 ล้านเหรียญในปีนี้ “ระบบคอมพิวเตอร์คือบ่อน้ำมันแห่งใหม่” Ross กล่าว
บริษัท AI ครองพื้นที่ 16 ตำแหน่งในทำเนียบ Cloud 100 (การจัดอันดับประจำปีบริษัทเอกชนชั้นนำของโลกในธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งซึ่ง Forbes จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 9) เพิ่มจาก 8 ตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว และจากที่เกือบจะไม่มีบริษัท AI ติดทำเนียบเลยเมื่อ 5 ปีก่อน สำหรับตลาดชิป AI คาดว่าจะมีมูลค่าทะยานแตะ 1.1 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2027 Ross จึงมองเห็นโอกาสที่จะคว้าส่วนแบ่งเล็กๆ มาจาก Nvidia ซึ่งในเวลานี้ครองส่วนแบ่งมากถึง 80% โดย Ross จะหันมาให้ความสำคัญกับอินเฟอร์เรนซ์ ซึ่งบริษัทวิจัย IDC ประเมินว่า เป็นตลาดที่มีมูลค่าราว 3.9 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.07 หมื่นล้านเหรียญในอีก 4 ปีข้างหน้า
บรรดาผู้ท้าชิงอย่าง Groq ต่างมีความหวัง เพราะเดิมทีชิปของ Nvidia ไม่ได้สร้างขึ้นมาสำหรับใช้กับ AI ด้วยซ้ำ ตอนที่ซีอีโอ Jensen Huang เปิดตัวหน่วยประมวลผลด้านกราฟิก (GPU) ขึ้นในปี 1999 GPU ออกแบบมาสำหรับใช้กับวิดีโอเกมซึ่งมีการใช้กราฟิกสูงมาก แต่บังเอิญเหลือเกินที่ GPU ยังเป็นชิปที่เหมาะสำหรับการฝึก AI มากที่สุดด้วย แต่ Groq รวมถึงสตาร์ทอัพคลื่นลูกใหม่จำนวนหนึ่งซึ่งรวมถึง Cerebras (มูลค่าประเมินบริษัท 4 พันล้านเหรียญ) และ SambaNova (มูลค่าประเมินบริษัท 5.1 พันล้านเหรียญ) มองเห็นช่องว่าง “ไม่มีใครสร้าง GPU สำหรับงานแบบนี้ขึ้นมาได้จากกระดาษเปล่าแผ่นเดียว” Andrew Feldman ซีอีโอ Cerebras กล่าว
ใช่ว่าจะมีเพียงสตาร์ทอัพที่เล็งโค่น Nvidia แม้กระทั่ง Amazon และ Microsoft ก็กำลังพัฒนาชิป AI ของตนเองเช่นกัน อย่างไรก็ตามชิปของ Groq หรือที่เรียกว่า หน่วยประมวลผลทางภาษา (LPU) นั้นมีความเร็วสูงมากจนมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ต้องการมากกว่า ในการนำเสนอธุรกิจต่อบรรดานักลงทุนในปีนี้ บริษัทประกาศว่า ในนำมาใช้งานกับอินเฟอร์เรนซ์นั้นเมื่อเทียบกับ GPU ของ Nvidia แล้วนั้นชิปของบริษัทเร็วกว่า 4 เท่า ราคาถูกกว่า 5 เท่า และยังใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่ากัน 3 เท่า แหล่งข้อมูลวงในการระดมทุนเผยว่า เวลานี้ Groq กำลังระดมทุนก้อนโตในรอบซีรี่ส์ D ไปได้ไม่น้อยกว่า 350 ล้านเหรียญ นำโดย BlackRock โดยมีการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญ
“อินเฟอร์เรนซ์ของพวกเขามีความเร็วที่แสดงให้เห็นแล้วว่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใดในตลาด” Aemish Shah ผู้ร่วมก่อตั้ง General Global Capital กล่าว โดยพวกเขาเป็นผู้ลงทุนในรอบการระดมทุนให้กับ Groq มาแล้วหลายครั้ง
Groq เริ่มขายชิปเมื่อ 2 ปีที่แล้วนับแต่นั้นมา พวกเขาก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Argonne National Laboratory ศูนย์วิจัยของรัฐบาลกลางที่ถือกำเนิดขึ้นจากโครงการ Manhattan Project พวกเขาใช้ชิปของ Groq ในการศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานประเภทที่ทำให้เกิดพลังงานในดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังมี Aramco Digital ธุรกิจเทคโนโลยีของบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งในซาอุดีอาระเบียที่ลงนามเข้าเป็นพันธมิตรที่จะใช้ชิปของ Groq ด้วยเช่นกัน
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Groq เปิดตัว GroqCloud ซึ่งอนุญาตให้นักพัฒนาสามารถเช่าสิทธิในการเข้าถึงชิปของ Groq ได้โดยไม่ต้องซื้อขาด เพื่อดึงดูดบรรดานักพัฒนา Groq จึงเสนอให้ทดลองใช้ฟรีเพียงเดือนแรก มีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน 70,000 ราย กระทั่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 280,000 รายในปัจจุบัน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทเริ่มเก็บค่าบริการไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้ Stuart Pann อดีตผู้บริหาร Intel ที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Groq ดูแลการเพิ่มการดำเนินงานและรายได้ Pann มีเหตุผลที่ทำให้เขามองโลกในแง่ดี ในบรรดาคำขอที่ได้รับจากลูกค้า GroqCloud นั้น 40% ขอจ่ายค่าบริการเพิ่มเพื่อเพิ่มสมรรถนะของระบบ
“ชิปของ Groq มาแรงจริง ๆ” Yann LeCun หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำ Meta กล่าว เขาเป็นอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของ Ross สมัยอยู่ที่ NYU และเพิ่งเข้ามาร่วมงานกับ Groq ในฐานะที่ปรึกษาด้านเทคนิค Ross เริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ Google โดยเขาเป็นสมาชิกทีมงานผู้สร้างเซมิคอนดักเตอร์สำหรับหน่วยประมวลผลเทนเซอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการปรับปรุงเพื่อใช้ในแมชชีนเลิร์นนิง เขาลาออกมาเมื่อปี 2016 เพื่อเริ่มกิจการ Groq ร่วมกับ Doug Wightman วิศวกรอีกรายจาก Google ที่กลายเป็นซีอีโอคนแรกของ Groq ในปีเดียวกันนั้นเอง Groq เปิดรอบระดมทุนได้ 10 ล้านเหรียญ นำโดย Social Capital กองทุนร่วมลงทุน แต่หลังจากนั้นการเฟ้นหาผู้ลงทุนใหม่ๆ กลับไม่ง่ายอีกต่อไป เพียงไม่กี่ปีให้หลัง Wightman ตัดสินใจลาออก (เขาไม่ตอบกลับคำขอสัมภาษณ์)
คนมองโลกในแง่ร้ายก็ยังคงมีอยู่ ผู้ร่วมลงทุนคนหนึ่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการระดมทุนในรอบที่กำลังจะมาถึง เขาบอกว่า วิธีการของ Groq นั้น “ใหม่” ก็จริง แต่ไม่คิดว่าทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทนั้นจะยืนหยัดได้อย่างปลอดภัยในระยะยาว Agrawal หัวหน้าส่วนงานคลาวด์ประจำ Lambda Labs บริษัทโครงสร้างพื้นฐาน AI มูลค่า 1.5 ล้านเหรียญบอกว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพของเขาไม่มีแผนที่จะเสนอใช้ชิปของ Groq หรือชิปที่มีคุณสมบัติเฉพาะอื่นๆ ในคลาวด์ของตน “ตอนนี้มันยากที่จะมองคนอื่นที่ไม่ใช่ Nvidia”
Ross รู้ดีว่าภารกิจครั้งนี้หนักหนาสาหัส “เหมือนกับเราได้ตำแหน่งน้องใหม่แห่งปี แต่ยังไม่ใกล้เคียง Nvidia เลยด้วยซ้ำ ทุกคนจึงจับตามองเราเหมือนกับจะถามว่า เราจะทำอะไรต่อไป”
รายงานเพิ่มเติมโดย Rashi Shrivastava, Alex Konrad และ Kenrick Cai
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จากวิศวกร NASA สู่ปรมาจารย์ด้านความเสี่ยง
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine