Jay Adair มหาเศรษฐีป่าช้ารถ “Copart” - Forbes Thailand

Jay Adair มหาเศรษฐีป่าช้ารถ “Copart”

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Sep 2021 | 07:22 AM
READ 3121

เทคโนโลยีล้ำยุคไม่ได้ช่วยให้รถยนต์ปลอดภัยและขับง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้การซ่อมแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกด้วย แล้วใครจะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้? ก็ผู้บุกเบิกธุรกิจขายซากรถทางอินเทอร์เน็ตอย่าง Willis J. Johnson และ Jay Adair ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ "Copart"

ภายในลานกว้างใหญ่ขนาด 97 เอเคอร์ใกล้รางรถไฟและบรรดาอู่ซ่อมรถทางฝั่งตะวันออกของเกาะ Long Island ซึ่งไม่ใช่ย่าน Hamptons แน่ๆ มีรถโฟร์คลิฟต์แล่นไปมาในป่าช้ารถที่วางผังอย่างเป็นระเบียบเพื่อขนย้ายรถยนต์สารพัดแบบ ตั้งแต่รถกระบะเก่าโทรมไปจนถึงรถสปอร์ตแบบคูเป้ของ Lotus ในสภาพเกือบใหม่ นี่ไม่ใช่ป่าช้ารถธรรมดา เพราะที่นี่จัดการทุกอย่างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ คนขับรถโฟร์คลิฟต์จะทำงานโดยเปิดดูตารางที่วางแผนมาอย่างละเอียดในแท็บเล็ต รถยนต์แต่ละคันไม่ว่าจะเป็น BMW ที่ชนมานิดหน่อย หรือ Toyota ที่พังยับจะมีโค้ดตัวเลขติดไว้บนกระจกหน้ารถเพื่อใช้ระบุและปรับปรุงรายการสินค้าผ่านระบบดิจิทัล จากนั้นรถจะถูกขนย้ายไปสู่จุดที่กำหนดในพื้นที่ขาย และภายในตึกสำนักงานชั้นเดียวเตี้ยๆ ด้านหน้าลานจะมีลูกค้าที่ซื้อรถผ่านระบบออนไลน์มารอรับซากรถที่เพิ่งซื้อหลังจากสแกนคิวอาร์โค้ดด้วยโทรศัพท์มือถือแล้ว  
  • วิธีการทำงานของ Copart
วิธีการทำงานประจำวันที่ราบรื่นเช่นนี้เกิดขึ้นในป่าช้ารถทั้ง 243 แห่งของ Copart ทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก บริษัทมหาชนจากเมือง Dallas รายนี้ครองตลาดแปรรปูและขายซากรถยนต์ซึ่งเสียหายมากพอจะถูกบริษัทประกันตีเป็นความเสียหายอย่างสิ้นเชิง Copart มีรายได้ทางหนึ่งจากการเก็บซากรถเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้จ้างคือบริษัทประกัน แต่ก็มีบริษัทรถเช่า ตัวแทนจำหน่ายรถและบุคคลทั่วไปมาใช้บริการด้วย จากนั้น Copart จะนำซากรถมาเปิดประมูลออนไลน์ ซึ่งถ้าผู้ประมูลไม่ใช่อู่แยกชิ้นส่วนที่ซื้อรถไปถอดเอาอะไหล่ ก็เป็นผู้ที่ซื้อไปซ่อมให้ขับต่อได้ โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่กฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยของรถไม่เข้มงวดเท่าสหรัฐฯ
Willis J. Johnson (ซ้าย) ผู้ก่อตั้ง Copart และ Jay Adair (ลูกเขย) ซีอีโอ Copart
“เราเปลี่ยนธุรกิจที่ไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อน และการประมูลขายรถด้วยการขานราคาให้กลายเป็นธุรกิจที่มีรายได้จากการประมูลปีละ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และเปิดประมูลออนไลน์ 100%” Aaron “Jay” Adair ซีอีโอวัย 51 ปีของ Copart กล่าวในการสัมภาษณ์ผ่าน Zoom พร้อมกับ Willis J. Johnson วัย 73 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งเป็นพ่อตาของเขาด้วย “ลูกค้าไม่ต้องมาถึงป่าช้ารถของเรา” Johnson เสริม “เมื่อเราเปิดประมูลออนไลน์แบบนี้ ต่อให้ทอร์นาโดเข้า Florida ก็ไม่มีปัญหา เรายังขายรถได้” กิจการนี้อู้ฟู่มาก Copart มีรายได้สุทธิ 700 ล้านเหรียญจากยอดขาย 2.2 พันล้านเหรียญในปีบัญชี 2020 ของบริษัทซึ่งสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม และมีกำไรเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน แม้จะเกิดโรคระบาดก็ตาม ทั้ง Adair และ Johnson กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านเพราะราคาหุ้นของ Copart พุ่งขึ้นเกือบ 150% ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2019 Forbes ประเมินว่า Johnson ซึ่งถือหุ้น 6% ใน Copart มีทรัพย์สิน 1.8 พันล้านเหรียญ ส่วน Adair ถือหุ้น 4% ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ในทรัพย์สิน 1.1 พันล้านเหรียญของเขา เทคโนโลยีล้ำยุคที่ออกแบบมาเพื่อลดโอกาสการชนกลับกลายเป็นข่าวดีสำหรับป่าช้ารถอย่างคาดไม่ถึง เพราะถึงแม้เซนเซอร์ไลดาร์บนกันชนและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุน้อยลง แต่ก็ช่วยให้รถที่ถูกประกันตีว่าเสียหายอย่างสิ้นเชิงมีสภาพดีกว่าสมัยก่อนมากและขายต่อได้ง่ายขึ้นด้วย และเมื่อค่าซ่อมอุปกรณ์ไฮเทคในรถรุ่นใหม่ๆ แพงเกินไป (หรือซ่อมไม่ได้) แม้จะเสียหายเพียงเล็กน้อย บริษัทประกันจึงตัดสินใจทิ้งรถจำนวนมากขึ้น แม้จะเป็นกรณีที่ชนไม่แรง ซึ่งถ้าเป็นรถเมื่อทศวรรษก่อนคงซ่อมได้ง่ายๆ “ถ้ารถคุณชนด้านหน้า และรถมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ราคา) ค่าซ่อมกันชนแบบมีเซนเซอร์จะแพงขึ้น 5 หรือ 6 เท่า” Gary Prestopino นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุน Barrington Research แห่งเมือง Chicago กล่าว “รถพวกนี้ใส่เทคโนโลยีเข้าไปเยอะจนค่าซ่อมมีแต่จะเพิ่มขึ้น”  
  • จุดเริ่มต้น Copart 
Copart เริ่มต้นธุรกิจในปี 1982 เมื่อ Johnson เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการประมูลขายรถรายเล็กๆ ในเมือง Vallejo รัฐ California เขาเกิดในเมือง Clinton รัฐ Oklahoma เมื่อปี 1947 และถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามเวียดนามหลังจากจบ ม. ปลายได้ 6 เดือน ก่อนจะบาดเจ็บในการรบและถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ เมื่ออายุ 20 ปี หลังจาก Johnson ไปทำงานที่ร้านขายของกินของใช้ในเครือ Safeway ในเมือง Spokane รัฐ Washington ได้ไม่นาน เขาก็กลับไปอยู่ California เพื่อช่วยงานที่ป่าช้ารถของพ่อ ก่อนจะแยกออกมาซื้อป่าช้ารถของตัวเองที่ชานเมือง Sacramento เขาอาศัยอยู่ในบ้านเทรลเลอร์ที่ป่าช้ารถกับภรรยาและลูก 3 คน และทำกิจการแยกชิ้นส่วนรถยนต์และรถบรรทุกต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งปี 1982 เขาซื้อลานประมูลรถที่เมือง Vallejo ในเขต Bay Area ซึ่งอยู่ห่างจาก San Francisco ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 ไมล์ และเริ่มซื้อป่าช้ารถในแถบ California ตอนเหนือเพิ่มอีก จากนั้นก็จ้าง Adair วัย 19 ปีเข้ามาเป็นผู้จัดการในปี 1989 ในปี 1991 Johnson ตัดสินใจนำบริษัทของเขาที่กำลังโตอย่างรวดเร็วเข้าตลาดหลักทรัพย์หลังจากอ่านข่าวว่า Insurance Auto Auctions (IAA) คู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของเขา (ซึ่งยังคงเป็นคู่แข่งสำคัญของ Copart มาจนถึงทุกวันนี้) กำลังวางแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เขาจึงคิดว่า ทำไม Copart จะทำบ้างไม่ได้ 3 ปีต่อมา Copart ได้เสนอขายหุ้นไอพีโอและ Johnson ก็โกยเงินจากหุ้นมาซื้อป่าช้ารถเพิ่มอีกทั่วสหรัฐฯ ในปี 2003 นั้น Adair กับ Johnson ยกเลิกการประมูลในสถานที่จริงทั้งหมดเพื่อเปิดป่าช้ารถของ Copart ต้อนรับผู้ซื้อจากทั่วโลกแทน และ 7 ปีต่อมาในปี 2010 Johnson ก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอโดยส่งบังเหียนให้ลูกเขยเป็นผู้พา Copart ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดบราซิล ยุโรป และตะวันออกกลาง  
  • ป่าช้ารถ Copart ที่ทนทานต่อทุกสภาพเศรษฐกิจ
Craig Kennison นักวิเคราะห์จาก Baird กล่าวว่า การเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติบวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคือสิ่งที่ทำให้ Copart ยังคงนำหน้า IAA ได้ ในภาคธุรกิจซึ่งดูเหมือนจะมีเจ้าตลาดแค่ 2 ราย แต่น่าแปลกที่ IAA ไม่เปิดรับการประมูลออนไลน์อย่างเต็มตัวจนกระทั่งปี 2015 หรือตามหลัง Copart อยู่ 12 ปี “เมื่อ Copart ก้าวเข้าสู่อินเทอร์เน็ต พวกเขาก็ค้นพบผู้ซื้อจำนวนมหาศาลที่สนใจรถยนต์พวกนี้” Kennison กล่าว “ปัจจุบันบริษัทนี้ใหญ่ระดับโลก และมีผู้ซื้อมาจากทั่วโลกจริงๆ” Adair ชอบพูดว่า Copart “ทนทานกับเศรษฐกิจถดถอย” และ “ทนทานกับโรคระบาด” เพราะหลังจากตลาดเงินล้มในปี 2008 ราคารถมือสองก็ตก เนื่องจากคนที่ตั้งใจจะซื้อรถหันมาประหยัดการใช้จ่าย แต่เมื่อราคารถถูกลงก็ทำให้บริษัทประกันยอมทิ้งรถที่เสียหายเล็กน้อย เพราะซื้อคันใหม่ถูกกว่าจ่ายค่าซ่อม จึงช่วยให้มีรถเข้ามาในป่าช้าของ Copart มากขึ้นและบริษัทก็มีรายได้จากค่าลากรถเพิ่มขึ้นด้วย ป่าช้ารถของ Copart จัดเป็นธุรกิจจำเป็นและยังเปิดทำการได้ในช่วงล็อกดาวน์เนื่องจากโควิด บริษัทนี้ไม่เลิกจ้างหรือสั่งให้พนักงานพักงานแม้แต่คนเดียว แถมบริษัทที่ไม่ชอบเป็นหนี้แห่งนี้ยังขอวงเงินสินเชื่อ 1.1 พันล้านเหรียญเพื่อตกแต่งสถานที่ และเปิดบริการออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มอีก ซึ่งรวมถึงระบบเข้าคิวออนไลน์ด้วยคิวอาร์โค้ดแบบที่เห็นในป่าช้ารถสาขา Long Island “ธุรกิจของเรามีการป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติในทั้งสองทิศทาง ไม่ว่ายอดขายจะเพิ่มหรือลดก็เอาจำนวนมาชดเชยได้” Adair กล่าว “เราได้เห็นข้อนี้แล้วจากช่วงโควิด ซึ่งปีนี้เราทำกำไรได้มากกว่าปีที่แล้ว เพราะวันนี้รถขายได้ราคาดีกว่าเมื่อปีก่อนมาก”   เรื่อง: Giacomo Tognini  เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Phil Kline อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่าน "มหาเศรษฐีป่าช้ารถ" ฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine