Jack Dorsey หนุนแอปใหม่ Bluesky ท้าชน Twitter - Forbes Thailand

Jack Dorsey หนุนแอปใหม่ Bluesky ท้าชน Twitter

FORBES THAILAND / ADMIN
15 May 2023 | 04:37 PM
READ 3596

Twitter ของ Elon Musk กำลังเผชิญกับคู่แข่งใหม่อย่าง Bluesky ที่ออกตัวว่าเป็นแอปโซเชียลแบบกระจายอำนาจ (Decentralized) ซึ่งผู้ให้การสนับสนุนแอปนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Twitter อย่าง Jack Dorsey นั่นเอง


    Twitter โฉมใหม่ของ Musk จุดประกายความสนใจใหม่เกี่ยวกับเครือข่ายโซเชียลแบบกระจายอำนาจ โดยแตกต่างจาก Twitter ภายใต้ Elon Musk ในช่วงก่อนหน้านี้ หรือ Facebook ภายใต้ซีอีโอและผู้ถือหุ้นที่มีส่วนควบคุมบริษัทอย่าง Mark Zuckerberg ตรงที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบกระจายอำนาจไม่ได้มีเจ้าของหรือผู้นำเพียงคนเดียว และไม่ได้มีพันธะกับกลุ่มการค้าหรือการเงินใดๆ

    เหล่าผู้สนับสนุนกล่าวว่าโปรเจ็กต์กระจายศูนย์เช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บและขายข้อมูลของผู้ใช้งานต่ำ การถูกควบคุมจากการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ ก็ต่ำเช่นกัน

    Bluesky กลายเป็นที่นิยมอย่างสูงตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา แม้จะตามหลัง Twitter อยู่มากในเรื่องของปริมาณการดาวน์โหลดโดยรวม อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทข่าวกรองด้านการตลาด Sensor Tower ที่ได้ให้แก่ CNBC

    แอปโซเชียล Bluesky มียอดดาวน์โหลดบนโทรศัพท์มือ 628,000 ครั้งในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 606% จากเดือนมีนาคมที่มีการเปิดให้ดาวน์โหลดในระบบ Android หลังจากที่เปิดตัวในระบบ iOS ไปเมื่อก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน Twitter มียอดดาวน์โหลด 14.9 ล้านครั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2% จาก 14.6 ครั้งในเดือนมีนาคม

    อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดดาวน์โหลดแอป Twitter บนมือถือลดลงถึง 18% จาก 17.2 ล้านครั้งในเดือนมกราคมเหลือเพียง 14.05 ล้านครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วน Bluesky นั้นเปิดตัวครั้งแรกบนระบบ iOS ในเดือนกุมภาพันธ์ที่มียอดดาวน์โหลด 11,000 ครั้ง

    ดูเหมือนว่า Bluesky จะได้รับความสนใจมากกว่าแอปโซเชียลแบบกระจายอำนาจอีกแอปหนึ่งคือ Mastodon ซึ่งเคยได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ในฐานะแอปทางเลือกทดแทน Twitter ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก Sensor Tower แสดงให้เห็นว่าในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมานี้ Mastodon มียอดดาวน์โหลดเพียง 90,000 ครั้งเท่านั้น


ทำไมต้องกระจายอำนาจ?

     นับตั้งแต่ Musk ซื้อ Twitter ด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญในปี 2022 ที่ผ่านมา เขาก็ยกเครื่องสิ่งที่บริษัทเคยสร้างมาในยุคของ Jack Dorsey ทั้งเพิ่มฟีเจอร์ใหม่สำหรับผู้จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนเท่านั้น ทั้งอนุญาตให้ผู้ใช้งานที่เคยเป็นประเด็นโต้แย้งหวนคืนสู่แพลตฟอร์ม ตลอดจนการโละพนักงานออกจำนวนมหาศาล

    Twitter ยังเผชิญกับปัญหาขัดข้องบ่อยครั้งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มีรายงานว่า Musk ปิดศูนย์ข้อมูลใหญ่ใน Sacramento และลดขนาดอีกศูนย์ใน Atlanta เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ

    Bluesky ซึ่งตอนนี้ยังคงเปิดให้บริการแค่ผู้ที่ได้รับคำเชิญเท่านั้น ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่ว่า Dorsey กำลังหาหนทางต่อสู้กับ Twitter ที่เขาเคยร่วมสร้างขึ้นมาอย่างกระตือรือร้น Dorsey ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งซีอีโอของแพลตฟอร์มด้านการชำระเงิน Block (ชื่อเดิมคือ Square) กำลังท้าชนกับ Musk ด้วยสองตัวเลือกแทนที่ Twitter

    Bluesky แท้จริงแล้วเริ่มต้นมาจากใน Twitter โดยย้อนกลับไปในปี 2019 สมัย Dorsey ยังคงเป็นซีอีโอ แอปดังกล่าวทำงานบนเทคโนโลยีเครือข่ายกระจายอำนาจที่เรียกว่า AT Protocol (Protocal หรือโปรโตคอล หมายถึงข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์) 

    ตามทฤษฎีแล้ว AT Protocol สามารถเสริมพลังให้บรรดาแอปโซเชียลต่างๆ ในอนาคตได้ โดยอำนวยให้ผู้คนสามารถรักษาตัวตนของตนแม้ใช้งานข้ามแอปที่แตกต่างหลากหลาย

    ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 เหล่าสมาชิกโปรเจ็กต์ Bluesky ก็ก่อตั้งบริษัท Bluesky Public Benefit LLC ขึ้นโดยมี Jay Graber ดำรงตำแหน่งซีอีโอ และ Jack Dorsey เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการก่อตั้ง ทางบริษัทประกาศผ่าน Twitter ในเดือนเมษายนปี 2022 ว่าได้รับเงินทุน 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเรามีเสรีภาพและอิสรภาพในการเริ่มต้นวิจัยและพัฒนา”



    หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา Dorsey ก็บริจาคบิตคอยน์ 14 เหรียญคิดเป็นมูลค่าราว 245,000 เหรียญสหรัฐฯ ณ ตอนนั้นให้กับโปรเจ็กต์โปรโตคอลโซเชียลมีเดียแบบกระจายอำนาจนาม Nostr ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้งานครอบครองตัวตนออนไลน์ได้ 

    แอป Damus ถูกสร้างมาเพื่อโปรโตคอลนี้โดยเฉพาะ และปรากฏอยู่บน App Store มาหลายเดือนแล้ว ทั้งยังมีการผสมผสานกับ Lightning Network ซึ่งเป็นเครือข่ายบิตคอยน์ นั่นหมายความว่า ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ได้โดยตรงผ่านทางเครือข่ายนี้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แอปอื่น

    หลายคนในทีมผู้นำอาวุโสของ Block ได้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ รวมถึงพันธมิตรบิตคอยน์อย่างวุฒิสมาชิก Cynthia Lummis แห่งรัฐไวโอมิง

    โปรเจ็กต์โซเชียลมีเดียแบบกระจาย์อำนาจอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ยังมี Mastodon ตลอดจน Lens และ Farcaster ซึ่งสองอย่างหลังนี้ต่างก็เป็นตัวทดแทน Twitter ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน

    แพลตฟอร์มเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอัลกอริทึม (algorithm) คอยแนะนำเนื้อหาเฉพาะซึ่งเป็นจุดอ่อนของ Twitter ที่ผู้ใช้บางส่วนต่างแสดงความไม่พอใจว่าพวกเขาเห็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องน้อยลงในแท็บ “For You” ตั้งแต่ Musk เข้าครอบครอง แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ขายโฆษณา ไม่เก็บและไม่ขายข้อมูลของผู้ใช้ ซึ่งเป็นแนวทางแบบเดิมๆ ที่เครือข่ายโซเชียลใช้สร้างรายได้

    แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งคือขนาด Meta ประกาศว่ามียูสเซอร์ที่ใช้งานแพลตฟอร์มอยู่เกือบ 3 พันล้านรายรวม Facebook และ Instagram ส่วน Twitter มีมากกว่า 200 ล้านรายจากรายงานผลประกอบการครั้งสุดท้ายในฐานะบริษัท (เพราะได้ควบรวมกับ X Corp.) 



    นั่นหมายความว่าเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ใช้ใหม่ๆ จะหาเพื่อน ติดต่อกับผู้ที่มีความสนใจเดียวกัน ตลอดจนเชื่อมสัมพันธ์กับเหล่าผู้คนที่มีประโยชน์หรือน่าสนใจ ในขณะที่ Bluesky มีผู้ใช้งานเพียงราว 50,000 คนอ้างอิงจากบนเว็บไซต์ของทางแพลตฟอร์มเอง

    นอกจากนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแพลตฟอร์มแนวใหม่เหล่านี้จะสร้างรายได้อย่างไร มีความเป็นไปได้ว่า Bluesky อาจหันเข้าหาการเก็บค่าสมาชิกเพื่อการดำเนินการหาเงิน แต่ทางทีมงานยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลออกมามากนัก 

    Bluesky แบ่งปันความคืบหน้าและข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานของพวกเขาเป็นส่วนใหญ่ตรงข้ามกับแผนการด้านการเงิน อ้างอิงจากบรรดาโพสต์ล่าสุดบนบล็อกของ Bluesky

    อีกหนึ่งข้อเสียเปรียบคือประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience หรือ UX) ส่วนหน้าบ้าน (front-end) ของแอปที่สร้างบนแพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจมักจะช้า ดูไม่เป็นมืออาชีพ หรือดูใช้งานไม่ง่ายเท่าไหร่ 

    ทว่าตอนนี้ส่วนหน้าตาฝั่งผู้ใช้งาน (User Interface หรือ UI) ของ Bluesky ดูจะไม่ค่อยชวนสับสนมากนักสำหรับมือใหม่ แต่ยังคงอยู่ระหว่างการทดสอบและพัฒนา จึงยังไม่ชัดเจนว่าผู้คนในวงกว้างกว่านี้จะมีความคิดเห็นต่อการออกแบบนี้อย่างไร

    คำถามคือทำไมถึงต้องย้ายจากแพลตฟอร์มแบบรวมอำนาจที่ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีไปยังแพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจที่ใช้งานได้ยากกันล่ะ?

    Frances Haugen อดีตพนักงานผู้เคยออกมาแฉ Facebook ได้กล่าวในการอภิปรายที่งานประชุม ETHDenver ว่าทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการปกครองตนเอง

    “พวกเราเริ่มจะยอมรับกันแล้วว่าตัวเองเป็นเพียงสิ่งของสำหรับราชาอย่าง Mark Zuckerberg หรือ Elon Musk เราเลือกได้แค่ทำตามกฎของพวกเขาหรือไม่ก็ออกไปซะ” Haugen กล่าว “แต่แล้วก็มีโอกาสที่ผู้คนจะได้เป็นประชากรบนแพลตฟอร์มของตัวเอง มีกำลังในการโหวต แต่ก็มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองเลือกเช่นกัน”

    เธอยังจุดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสิ่งชักจูงและการควบคุมเสียส่วนใหญ่

    ทุกวันนี้บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลายต่างก็รองรับโฆษณา หมายความว่าพวกเขาทำเงินจากการดึงผู้ใช้ไว้บนแพลตฟอร์มให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจไม่มีสิ่งชักจูงแบบนั้น และสามารถเอื้อให้ผู้คนที่สร้างรายได้บนแพลตฟอร์มเหล่านี้มีกำลังพอจะส่งอิทธิพลต่อกฎต่างๆ ที่ควบคุมพวกเขาตลอดจนการที่คอนเทนต์ของพวกเขาถูกเผยแพร่ออกไป



แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Jack Dorsey-backed Bluesky gains steam against Elon Musk’s Twitter 
ซึ่งเผยแพร่บน cnbc.com


อ่านเพิ่มเติม: ปลดล็อกจินตนาการสู่ความเป็นจริงของ Metaverse


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine