David Tran จากผู้อพยพสู่มหาเศรษฐีซอสพริกพันล้านชาวเวียดนามคนแรกของอเมริกา - Forbes Thailand

David Tran จากผู้อพยพสู่มหาเศรษฐีซอสพริกพันล้านชาวเวียดนามคนแรกของอเมริกา

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Feb 2023 | 04:05 PM
READ 2357

กว่า 45 ปีหลังเดินทางมาถึงลอสแอนเจลิส David Tran ได้สร้างธุรกิจพันล้านขึ้นมาจาก Sriracha Sauce



    ในเดือนธันวาคมปี 1978 David Tran ซึ่งตอนนั้นอายุ 33 ปี อพยพจากบ้านเกิดที่เวียดนามมาพร้อมกับทองคำ 100 ออนซ์ โลหะล้ำค่าซึ่ง ณ ตอนนั้นมีราคา 2 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 9 หมื่นเหรียญในปัจจุบัน ทองคำเหล่านั้นถูกซ่อนไว้ในกระป๋องนมข้นเพื่อหลีกเลี่ยงความสนใจจากเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์เวียดนาม

    เมื่อมาถึงแอลเอ เขาได้ขายทองคำก้อนหนึ่งและซื้ออาคารขนาด 2,500 ตารางฟุตในเขตไชน่าทาวน์ เริ่มก่อตั้งธุรกิจ Huy Fong Foods ซึ่งเป็นชื่อเรือบรรทุกสินค้าที่เขาโดยสารระหว่างอพยพ และเริ่มผลิตซอสพริกที่เขาเรียกว่า Sriracha Sauce ด้วยสูตรลับที่มาจากประเทศไทย 40 ปีถัดมา Sriracha Sauce ถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ Survivor และเคียงคู่โต๊ะอาหารทั่วโลก

    อ้างอิงจากบริษัทวิจัยการตลาด NPD Group เราสามารถพบขวด Sriracha Sauce พร้อมตรารูปไก่และฝาจุกสีเขียวประมาณหนึ่งในสิบของครัวในสหรัฐโดย Sriracha Sauce อยู่ที่อันดับสามในตลาดซอสพริกอเมริกันซึ่งมีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านเหรียญ เป็นรองจาก Tabasco ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ซอสเผ็ดร้อนจาก McIlhenny ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1868 และ Frank’s RedHot ซอสพริกซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัทค้าขายเครื่องเทศยักษ์ใหญ่อย่าง McCormick & Co.

    ทุกวันนี้ Huy Fong มีมูลค่าทรัพย์สิน 1 พันล้านเหรียญ มียอดขายราวๆ 131 ล้านเหรียญในปี 2020 จากการข้อมูลของบริษัทวิจัย IBISWorld นั่นทำให้ Tran วัย 77 ปีกลายเป็นเศรษฐีพันล้าน และแม้ว่าเหล่าคู่แข่งของ Sriracha Sauce จะถูกกว้านซื้อไปในปีที่ผ่านๆ มา เช่น McCormick ได้ซื้อกิจการซอสเผ็ดเม็กซิกัน Cholula ไปในราคา 800 ล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่ Tran กลับยังไม่มีแผนจะขายบริษัทและเขาตั้งใจจะส่งต่อธุรกิจที่เขาครอบครองให้ลูกๆ ได้แก่ William วัย 47 ปีและ Yassie วัย 41 ปี ที่เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ

    Sriracha Sauce เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยไม่เสียเงินค่าโฆษณาเลยแม้แต่เหรียญเดียว ทั้งยังไม่เคยขึ้นราคาขายมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980

    อย่างไรก็ตาม Tran ไม่ได้ตื่นเต้นไปกับความสำเร็จของตน “ผมอยากผลิตสินค้าคุณภาพดีต่อไปเรื่อยๆ เช่น ทำให้ซอสพริกเผ็ดกว่าเดิม...และไม่คิดเกี่ยวกับการเพิ่มกำไร” เขากล่าวกับ Forbes


-ก่อนจะมาเป็น Huy Fong-


    Tran เส้นทางชีวิตของเขาเริ่มต้นที่ Soc Trang ประเทศเวียดนาม ในปี 1945 ซึ่งยังอยู่ใต้กฎการปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นพ่อค้า ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน ทั้งสองเลี้ยง David กับพี่น้องอีกแปดคน

    อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์บันทึกเรื่องราวชีวิตของ Tran โดย Dr. Thuy Vo Dang สำหรับโครงการบทสัมภาษณ์บันทึกเรื่องราวชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ เมื่ออายุได้ 16 ปีและจบการศึกษาเพียงระดับประถม Tran ก็ย้ายไปไซง่อนหรือที่รู้จักกันในปัจจุบันคือนครโฮจิมินห์เพื่อติดตามพี่ชายและทำงานในร้านขายเคมีภัณฑ์ เขากลับไปเรียนมัธยมที่ Soc Trang แต่เมื่อจบการศึกษาเขาก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเวียดนามใต้

    “ผมไม่มีทางเลือก” Tran กล่าวในบทสัมภาษณ์ “ตอนกลางคืน ตำรวจมาเคาะประตูบ้านผม”

    Tran ไม่เคยเข้าร่วมรบจริงๆ เขาทำงานส่วนใหญ่ในครัว และสิ้นสุดการเกณฑ์ทหารในปี 1975 ซึ่งเป็นปีที่กองกำลังเวียดนามเหนือเข้ายึดครองไซง่อนและชนะสงคราม เขาแต่งงานกับภรรยาชื่อ Ada ก่อนหน้านั้นสองสามเดือน ภายหลังสิ้นสุดการเกณฑ์ทหารแล้ว Tran ก็ทำงานปลูกพริกกับพี่ชายของเขาบนที่ดินทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซง่อน

    ช่วงนั้นเองที่ Tran เริ่มหันมาสนใจซอสพริก Tran เคยทำซอสจากพริกสมัยยังเป็นพ่อครัวในกองทัพ และเขาพบว่าซอสอื่นๆ ในท้องตลาดต่างเผ็ดไม่เพียงพอหรือไม่ก็ไร้รสชาติ เขาจึงตัดสินใจซื้อพริกสดมาหมักไว้อาศัยความรู้จากประสบการณ์ด้านเคมีภัณฑ์เพื่อทำซอสที่ยังคงความเผ็ดและสดใหม่ของพริก

    “ผมคิดจะทำมันเพราะราคาพริกสด...ขึ้นลงบ่อยมาก” Tran พูดในบทสัมภาษณ์ “ถ้าผมทำ(ซอส)ได้โดยที่ยังคงความสดและตั้งราคาให้ต่ำ...พอราคาพริกขึ้น เราก็คงราคาเดิมไว้ ทีนี้เราก็จะได้ลูกค้าแล้ว”

    โดย Tran พี่ชาย และพ่อตาของเขาทำซอสพริกกันที่บ้าน นำบรรจุใส่ในโหลอาหารเด็กยี่ห้อ Gerber ที่ทหารอเมริกันทิ้งเอาไว้ ทว่าในปี 1978 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็กดดันให้ชาวเวียดนามเชื้อสายจีนออกไปจากประเทศ ดังนั้น Tran และครอบครัวซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวกวางตุ้งจึงต้องทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังและขึ้นเรือบรรทุกสินค้าไปยังฮ่องกง โดยพำนักอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยนานแปดเดือน

    จากนั้น Tran พร้อมด้วยภรรยาและลูกชายก็เดินทางต่อไปบอสตันเป็นเวลาหกเดือน ก่อนจะลงหลักปักฐานที่ลอสแอนเจลิสในเดือนมกราคมปี 1980 ส่วนหนึ่งเพราะพี่เขยของTran บอกว่าเขาจะสามารถหาพริกสดได้ที่แคลิฟอร์เนีย

    Tran หาแหล่งขายพริกหยวกจากตลาดท้องถิ่นและรวมเข้าเป็น Huy Fong ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1980 โดยเลือกใช้ตรารูปไก่ ซึ่งตรงกับปีระกาตามนักษัตรจีน

    Tran เริ่มขาย Sriracha Sauce บนรถเชฟวี่แวนสีน้ำเงิน กระทั่งปี 1987 เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขาต้องย้าย Huy Fong ไปยังอาคารขนาด 240,000 ตารางฟุตใน Rosemead ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของลอสแอนเจลิส หลังจากนั้นไม่ถึงทศวรรษเขาก็ซื้อโรงงาน Wham-O ข้างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผลิตฮูล่าฮูป เพื่อขยายฐานการผลิต

    “ผมอยากผลิตสินค้าคุณภาพดีต่อไปเรื่อยๆ เช่น ทำให้ซอสพริกเผ็ดกว่าเดิม...และไม่คิดเกี่ยวกับการเพิ่มกำไร”


-เผชิญความท้าทาย-


    ปี 2010 Huy Fong ย้ายฐานการผลิตมายังที่ตั้งปัจจุบัน ด้วยขนาดโรงงาน 650,000 ตารางฟุตใน Irwindale ไม่ไกลจาก Rosemead แต่เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทต้องพบกับความท้าทายใหม่ๆ ในปี 2013 ทางเมือง Irwindale ได้ทำการฟ้อง Huy Fong ในข้อกล่าวหาว่าเป็น “สิ่งรบกวนชุมชน” จากที่มีชาวเมืองร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากกลิ่นพริกที่ฟุ้งออกมานอกโรงงาน

    นำไปสู่การโต้แย้งครั้งใหญ่โดยมีนักการเมืองจากต่างรัฐมากมายรวมถึงวุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัสอย่าง Ted Cruz พากันโน้มน้าวให้ Tran และ Huy Fong ย้ายออกจากแคลิฟอร์เนียไปยังรัฐของตนแทน

    แม้ว่าโดยปกติแล้วเขาจะไม่ค่อยได้ออกสื่อ Tran ก็โต้กลับข้อกล่าวหาโดยการเปิดโรงงานให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ เป็นการพิสูจน์ว่าไม่มีกลิ่นพริกที่เป็นอันตรายจากการบด “อย่างหนึ่งที่ทำให้(Tran)มีเสน่ห์คือการที่เขาไม่ใช้วิธีการพูดแก้ตัว” Griffin Hammond ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ Sriracha Sauce ในปี 2013 กล่าวและเสริมว่า “เขาสนใจแค่ว่าจะดูแลธุรกิจให้ดีที่สุด”

    หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2014 ทางเมืองก็ถอนฟ้อง

    การประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึงของ Sriracha Sauce ยังได้ดึงดูดนักเลียนแบบซึ่งทำ Sriracha Sauce ปลอมใส่ขวดที่ออกแบบล้อกับตราไก่อันโด่งดัง “เราได้ส่งหนังสือเตือนและฟ้องร้องไปมากมาย” Rod Berman หุ้นส่วนจาก Jeffer Mangels Butler & Mitchell ในลอสแอนเจลิสซึ่งเป็นตัวแทนด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ Huy Fong เผย

    “สิ่งที่ David และ Huy Fong ตระหนักได้ก็คือ...พวกเขามีซอสที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีอะไรจะมาแทนที่ Huy Fong และนั่นคือการป้องกันที่ดีที่สุดของพวกเขา”

    ความท้าทายอีกประการมาเยือนในปี 2017 เมื่อความสัมพันธ์กับฟาร์ม Underwood ซึ่งเป็นผู้จัดหาพริกให้แต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่ปี 1988 พังทลายลงและนำไปสู่การต่อสู้ทางกฏหมาย Huy Fong ฟ้อง Underwood ขั้นต้นในเดือนสิงหาคมของปีนั้น โดยอ้างว่า Underwood ไม่ได้จ่ายคืนเงินจำนวน 1.4 ล้านเหรียญที่ได้รับเกินไปช่วงฤดูเพาะปลูกที่ผ่านมา Underwood ฟ้องกลับพร้อมเหตุผลว่า Huy Fong ได้ละเมิดสัญญา

    ขณะที่ปี 2016 Huy Fong ยังได้จัดตั้งบริษัทในเครือขึ้นใหม่เพื่อหาแหล่งพริกจากเกษตรกรเจ้าอื่น การต่อสู้กันในชั้นศาลดำเนินไปจนถึงปี 2021 ทางศาลอุทธรณ์แคลิฟอร์เนียก็สั่งให้ Huy Fong จ่ายค่าเสียหายให้ Underwood เป็นจำนวน 23 ล้านเหรียญ

    แม้จะหาเกษตรกรผู้ปลูกพริกได้อีกหลายเจ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐนิวเม็กซิโก และประเทศเม็กซิโก ทางบริษัทซึ่งมีรายงานว่าใช้พริกมากถึง 50,000 ตันต่อปี ยังหวังพึ่งการเก็บเกี่ยวครั้งใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิที่พริกออกผลเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีพริกหยวกเพียงพอสำหรับการผลิตซอสพริก

    ทว่ากลับเกิดภัยแล้งขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2022 สภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการเก็บเกี่ยวพริกและเกิด “การขาดแคลนพริกอย่างรุนแรง” จน Huy Fong จำต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ทำให้ยอดขายปลีกพุ่งขึ้นทะลักทลายจากการที่เหล่าคนรัก Sriracha Sauce และร้านอาหารต่างๆ พากันกักตุนสินค้า

    ณ ตอนนี้วิกฤตนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว และ Huy Fong ก็สามารถกลับมาผลิต Sriracha Sauce ที่กำลังผลิต 18,000 ขวดต่อชั่วโมงอีกครั้ง ทางบริษัทยังผลิตซอสพริกอีกสองชนิด คือ Sambal Oelek อิงจากสูตรอินโดนีเซียนที่ใช้เพียงพริก เกลือ และน้ำส้มสายชู และ Chili Garlic Sauce ซึ่งเหมือนกันเพียงแต่เพิ่มกระเทียมเข้าไป


-สูตรของความสำเร็จ-


Tran ยังคงใช้ส่วนผสมเดิมในการผลิต Sriracha Sauce เรื่อยมาตั้งเริ่มขายครั้งแรกในปี 1980 อันประกอบด้วยพริก น้ำตาล เกลือ กระเทียม และน้ำส้มสายชู มากกว่าสี่ทศวรรษที่มันกลายเป็นสูตรของความสำเร็จ เปลี่ยน Huy Fong จากธุรกิจเกิดใหม่เล็กๆ สู่ธุรกิจพันล้านเหรียญ
“ผมจะใช้วัตถุดิบราคาถูกกว่านี้หรือจะโปรโมตสินค้าให้ทำเงินได้มากขึ้นก็ย่อมได้” Tran ว่า “แต่ไม่ดีกว่า ตลอดมาเป้าหมายของผมคือ ตั้งใจผลิตซอสพริกคุณภาพดีในราคาที่ใครๆ ก็จับต้องได้”

แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ How Vietnamese Refugee David Tran Became America's First Hot Sauce Billionaire ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: นายธนาคารไร้พรมแดน


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine