ปกป้อง ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ภารกิจผู้นำที่ Warren Buffett ขอฝากฝังไว้กับลูกชาย - Forbes Thailand

ปกป้อง ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ภารกิจผู้นำที่ Warren Buffett ขอฝากฝังไว้กับลูกชาย

Warren Buffet ไม่อาจเป็นซีอีโอแห่ง Berkshire Hathaway ได้ตลอดไป เราต่างรู้กันมาสักระยะแล้วว่า Greg Abel จะขึ้นรับตำแหน่งดังกล่าวแทน ส่วน Howie Buffett ลูกชายของ Warren จะขึ้นเป็นกรรมการแต่ไม่ใช่ในฐานะผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดกับ The Wall Street Journal มหาเศรษฐีนักลงทุนได้เปิดเผยบทเรียนสำคัญสำหรับผู้นำที่เขาคาดหวังว่าผู้เป็นลูกชายจะรับสืบทอดต่อไปในอนาคต


    ก่อนอื่นเลย คงต้องพูดถึงการเปลี่ยนผ่านซีอีโอซึ่งถือเป็นเรื่องซับซ้อน แม้จะมีการไตร่ตรองวางแผนสืบทอดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็ตาม เหล่าผู้นำแท้จริงเป็นเพียงมนุษย์ และมนุษย์ย่อมมีความคิด จุดประสงค์ ตลอดจนวิถีทางการเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน สำหรับกรณีของ Warren ที่ประสบความสำเร็จโดยมีปัจจัยสำคัญเป็นบริษัทของเขา Berkshire Hathaway ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีก

    ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมอง Warren ในฐานะนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาล ปัจจุบันเขาครองตำแหน่งทั้งซีอีโอและประธานแห่ง Berkshire Hathaway จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหากบรรดานักลงทุนและพนักงานต่างนึกกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทมูลค่ากว่าล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แห่งนี้หลังเขาจากไปแล้ว

    ทั้งหมดนั้นวกกลับมาสู่ประเด็นที่ Warren ต้องการให้ลูกชายของเขารับผิดชอบหน้าที่ผู้นำบอร์ดบริหารโดยเฉพาะ โดยในการให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal เขาเผยเหตุผลว่า การวางลูกชายของตัวเองไว้ในตำแหน่งดังกล่าวก็เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ จะยังคงยึดมั่นกับหลักการต่างๆ ที่มี แม้ตัวเขาจะไม่อยู่แล้วก็ตาม

    “ผมเป็นห่วงอนาคตของ Berkshire หลังผมตายมากกว่าตอนนี้ที่ผมยังอยู่ มันคือสิ่งที่ผมสร้างขึ้นมากับมือ” Warren กล่าว “ผมต้องการบริษัทที่ประสบความสำเร็จและยังมอบผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้น…นั่นคือสิ่งที่ใช้เวลานานเพื่อสร้าง แต่อาจพังทลายลงอย่างง่ายดายหากบริษัทตกอยู่ในมือของผู้ที่ต้องการทำลายมัน”

    สำหรับ Warren เหตุผลที่เขาเลือกให้ Howie สืบทอดตำแหน่งกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารนั้นสามารถสรุปได้ด้วยหนึ่งคำ นั่นคือ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ (Culture)

    จากทั้งหมดทั้งมวลที่ผู้นำต้องทำ วัฒนธรรมองค์กรอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและซับซ้อนที่สุดในคราวเดียวกัน นั่นก็เพราะเหล่าผู้นำทั้งหลายต่างหลงคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรเกี่ยวข้องกับนโยบายและผลประโยชน์ พวกเขาคิดว่าตัวเองสามารถสร้างวัฒนธรรมได้ด้วยสโลแกนและการประชุมพบปะ แต่อันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมดังกล่าวหมายถึงความรู้สึกที่พนักงานมีต่อการทำงานให้คุณ

    ไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นความรู้สึก

    ความรู้สึกดังกล่าวอาจช่วยส่งเสริมหรือทำลายบริษัทก็ย่อมได้ ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ Warren ในการส่งมอบหน้าที่นี้ให้คนที่เขาไว้ใจ และในกรณีนี้ ดูเหมือนว่า Howie จะเข้าใจภารกิจนี้ดีที่สุด ในการให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal ครั้งเดียวกันนั้นเอง Howie ได้อธิบายว่าเขามีมุมมองต่อวัฒนธรรมที่ Berkshire Hathaway อย่างไร

    “วัฒนธรรมองค์กร คือการทำทุกอย่างให้เรียบง่าย คือการทำสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ และไม่ทำสิ่งต่างๆ มากมายที่คุณไม่จำเป็นต้องทำ คอยดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม ให้ความเคารพผู้จัดการ ให้ความเคารพผู้ถือหุ้น” Howie กล่าว “บอกพวกเขาถึงข่าวร้ายล่วงหน้า จงซื่อสัตย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ”

    ภารกิจของ Howie คือการปกป้องวัฒนธรรมของ Berkshire Hathaway และคอยดูแลให้มั่นใจว่าบริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการต่างๆ เขาจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้นผ่านการบริหารจัดการหรือขับเคลื่อนบริษัทฯ แต่เป็นการเฝ้าถามว่าบริษัทฯ ยังดำเนินตามหลักการอยู่หรือเปล่า หากคำตอบคือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะทำอย่างไร

    “เขาจะไม่ต้องคิดถึงเรื่องการบริหารกิจการเลย” Warren เผย “เขามีหน้าที่แค่ต้องคิดว่าบอร์ด รวมถึงตัวเขาในฐานะสมาชิกบอร์ด จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวซีอีโอหรือไม่”

    ข้อเท็จจริงคือทุกบริษัทจำเป็นต้องมีผู้ปกป้องวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งโดยปกติแล้วก็มักเป็นผู้นำ ผู้นำคือผู้ปูพื้นฐานและสร้างวัฒนธรรม ไม่ว่าเขาจะกำลังคิดถึงมันอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ผู้นำที่ยอดเยี่ยมย่อมตระหนักว่าวัฒนธรรมคือตัวบ่งชี้ทุกสิ่ง

    วัฒนธรรมหาได้สำคัญเพียงแค่นึกถึง แต่ยังต้องปกป้องมันด้วยความหวงแหน

    ไม่เชื่อก็ลองถาม Warren Buffett ดูสิ


แปลและเรียบเรียงจาก The 1-Word Leadership Lesson Warren Buffett Hopes to Pass to His Son โดย Jason Aten


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘เวลา’ คือทรัพย์ล้ำค่า เปิด 4 วิธีบริหารเวลา แบบฉบับนักธุรกิจระดับโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine