Brian Armstrong ได้สร้างให้ Coinbase เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในวงการคริปโต ซึ่งปัจจุบันถือครอง Bitcoin อยู่ถึงกว่า 1 ใน 10 ของเหรียญทั้งหมดที่มีการขุดขึ้นมาได้แล้ว แต่ตอนนี้เขากำลังจะหันเหไปสู่แนวทางใหม่ตามวิถีกระจายการรวมศูนย์จากส่วนกลาง การทำตัวเป็นนักอุดมคติแบบนี้มันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรนักหรอกถ้าคุณเป็นเศรษฐีพันล้านแบบเขา
Brian Armstrong ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Coinbase ตลาดซื้อขายเงินสกุลคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในตอนนี้ กล่าวอย่างกระตือรือร้นว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงที่น่าตื่นเต้นมากๆ สำหรับวงการคริปโต” และบอกเพิ่มว่า “กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคริปโตจากที่เคยเป็นเพียงกลุ่มสินทรัพย์ที่ผู้คนต้องการใช้ซื้อขายเพื่อเก็งกำไร มาเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่มีการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ” เขายืนยันว่า “มีคนประมาณ 400 ล้านคนทั่วโลกที่เคยใช้คริปโต”
นั่นก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ เมื่อพูดถึงคริปโตคนส่วนใหญ่มักจะสนใจแต่ราคาของมันเท่านั้น และหลายคนอาจจะน้ำตาตกในอยู่ เพราะเมื่อปี 2023 ราคา Bitcoin วิ่งขึ้นมาถึงกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 58,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีกองทุน ETF ที่อิงกับคริปโตมากกว่า 20 กองที่ถือครองหลักทรัพย์ดิจิทัลมูลค่า 5.4 หมื่นล้านเหรียญ และซื้อขายอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการถือครองคริปโตกันอย่างแพร่หลายมากกว่าในอดีต
การที่ราคาหุ้น Coinbase เคลื่อนไหวล้อไปกับราคา Bitcoin ทำให้ Armstrong ในวัย 41 ปี ติดอันดับทำเนียบเศรษฐีพันล้านมาแล้วถึง 7 ครั้ง โดยตลาดซื้อขายคริปโตที่เขาร่วมก่อตั้งเมื่อ 12 ปีก่อนได้กลายมาเป็น “Gmail สำหรับ Bitcoin” ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญ และมีสินทรัพย์ในรูปคริปโตอยู่ภายใต้การดูแลมากถึง 2.7 แสนล้านเหรียญ ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2 หมื่นล้านเหรียญเป็นสินทรัพย์ที่ดูแลให้กับ BlackRock (มีสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ 10 ล้านล้านเหรียญ) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ออกกองทุน ETF ที่อิงกับคริปโตเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อปี 2023 Coinbase มีกำไรสุทธิ 95 ล้านเหรียญ จากรายได้ 3.1 พันล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย และปี 2024 ก็มีแววว่าผลประกอบการจะดีกว่าปีก่อนอย่างมาก
ถ้าจะมีอะไรในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่าย “ใหญ่เกินกว่าจะล้มได้” มันก็คือ Coinbase อย่างไม่ต้องสงสัยเลย เพราะแค่ Bitcoin อย่างเดียว จำนวนที่ Coinbase ดูแลอยู่ก็มากถึง 11% ของจำนวนเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว
ส่วนสกุลเงินคริปโตที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 อย่าง Ether นั้นสัดส่วนที่ Coinbase ดูแลอยู่ยังมากขึ้นไปอีก โดยอยู่ที่ 14% ของจำนวนเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ถ้า Coinbase เกิดพังครืนลงมาผลพวงที่จะติดตามมามันก็คือหายนะดีๆ นี่เอง
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนับสนุนแนวทางนี้หรอกนะ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2023 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง Coinbase ในข้อหาทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขาย นายหน้า-ผู้ค้า และบริษัทชำระราคาที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการทำธุรกรรมกับสถาบันกว่า 14,500 แห่ง และลูกค้ารายย่อยที่บัญชีมีการเคลื่อนไหวอยู่สม่ำเสมอกว่า 8 ล้านราย โดยคาดว่าคดีนี้จะเข้าสู่การพิจารณาในปี 2025
บรรดาสาวกคริปโตเกลียดแนวคิดของการรวมศูนย์อำนาจ แต่ในเชิงของการปฏิบัติงาน Coinbase เป็นเหมือนกับสถาบันการเงินประเภทสั่งการและควบคุมอย่าง JPMorgan มากกว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีลูกจ้างเป็นเจ้าของ
ธุรกิจหลักของ Coinbase คือ การซื้อขาย ดูแลทรัพย์สิน และร่วมบริหารจัดการ (กับ Circle) เหรียญ stablecoin (มูลค่า 3.5 หมื่นล้านเหรียญ) ที่ตรึงมูลค่าของเหรียญ USDC เอาไว้กับสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ การที่ Coinbase เป็นเจ้าตลาดทำให้บริษัทสามารถเก็บค่าธรรมเนียมแพงได้ โดยการซื้อ Bitcoin มูลค่า 5 พันเหรียญผ่าน Coinbase คุณต้องเสียค่าธรรมเนียม 90 เหรียญ ในขณะที่ Kraken เก็บค่าธรรมเนียมเพียง 20 เหรียญ และ Robinhood ให้บริการฟรีๆ เลย
แต่ Armstrong เป็นนักอุดมคติในด้านคริปโตและเขาไม่พอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เขาอยากจะพลิกโฉมเครื่องมือหาเงินของตัวเองด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถรองรับธุรกรรมความเร็วสูงแบบต่อเนื่องได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ค่าธรรมเนียมลดลงเท่านั้น แต่ยังจะลดอำนาจการควบคุมของบริษัทเทคโนโลยีและบริษัททางการเงินขนาดใหญ่ไปพร้อมกันด้วย
“เหตุผลทั้งหมดที่ผมเข้ามาจับเรื่องนี้และยังถือเป็นพันธกิจของ Coinbase ด้วยก็คือ การเพิ่มเสรีภาพทางเศรษฐกิจของโลก” เขากล่าว “วิสัยทัศน์จากตรงนี้ก็คือคริปโตจะเป็นพลังที่ช่วยสร้าง GDP ให้กับทั้งโลกมากขึ้นเรื่อยๆ (มันจะ) สร้างเงินตราที่มั่นคงและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มั่นคงให้กับคนทั้งโลกด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และแรงเสียดทานที่ลดลง”
จุดพลิกผันที่สำคัญของ Armstrong คือ Base ซึ่งเปิดตัวมาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2023 โดย Base เป็นสิ่งที่เรียกว่า แพลตฟอร์มชั้นที่ 2 กล่าวคือ แทนที่จะเป็นบล็อกเชนอิสระที่พึ่งพาตัวเองแบบ Bitcoin, Ethereum และ Solana มันกลับถูกออกแบบมาให้ต่อยอดจาก Ethereum ด้วยการประมวลผลธุรกรรมหลายพันรายการต่อวินาทีโดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า 1 เซ็นต์ต่อธุรกรรม
ทั้งนี้ Ethereum ในปัจจุบันสามารถรองรับธุรกรรมได้เพียงประมาณ 12 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น โดยที่แต่ละธุรกรรมมีต้นทุนเฉลี่ย 1 เหรียญ ถึงแม้ว่าการพัฒนาของ Base จะดีขึ้นมากแล้ว แต่ยังห่างไกลจากความสามารถของโครงข่ายทางการเงินที่มีการใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะ Visanet ซึ่งเป็นโครงข่ายประมวลผลทั่วโลกของ Visa สามารถรองรับธุรกกรรมได้มากถึง 65,000 ธุรกรรมต่อวินาที
Armstrong อยากให้บริการต้นทุนต่ำของ Base ทำงานร่วมกันได้กับบล็อกเชนอื่นๆ ที่ใช้ Ethereum เป็นฐาน และสามารถสนับสนุนเวอร์ชั่นที่มีการกระจายการรวมศูนย์ของบริการยอดฮิตอย่าง Facebook, YouTube, Google, Uber และ X ให้มาใช้บริการ Coinbase Commerce ของเขา โดยตั้งเป้าจะเป็นเหมือน Paypal, Mastercard และ Visa ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมสูงถึง 3% ต่อธุรกรรม ในขณะที่ Coinbase Commerce คิดค่าธรรมเนียมเพียง 1% เท่านั้น แต่การใช้งานของผู้บริโภคยังต่ำอยู่ โดยในแต่ละวันมีการประมวลผลของโครงข่ายแค่ไม่ถึง 2,000 ธุรกรรมเท่านั้น ในขณะที่ Visa ประมวลผลธุรกรรมจำนวนเท่านี้อยู่ทุกวินาที
“ธุรกิจเหล่านี้บางแห่งมีกำไรบางเพียงแค่ 5% เท่านั้น และ 2% ก็ต้องเสียไปให้กับโครงข่ายของบัตร” Armstrong กล่าว “มันไม่มีเหตุผลที่จะต้องเป็นเช่นนี้เลย มันคือภาษีที่ไม่จำเป็นของเศรษฐกิจ” Owen Lau นักวิเคราะห์ของ Oppenheimer ประเมินว่า ลูกค้าที่ใช้งาน Base ประจำประมาณ 1 ล้านรายจะสร้างรายได้ให้กับ Base 100 ล้านเหรียญในปี 2024 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (จะอย่างไรก็ตามมันก็คือคริปโต)
แต่ความย้อนแย้งก็คือ ถ้าหาก Coinbase อยากให้ Base ประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่านี้ก็ต้องยอมเสียอำนาจควบคุมและยอมแบ่งค่าธรรมเนียม โดยในปัจจุบัน Coinbase เป็น “sequencer” เพียงรายเดียวของ Base ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการหรือผู้กำกับดูแลคริปโต
ดังนั้น เพื่อกระจายการรวมศูนย์มากขึ้น Base ต้องเพิ่มจำนวน sequencer แต่หาก Base มี sequencer 4 ราย ก็หมายความว่า Coinbase อาจจะได้รับค่าธรรมเนียมเพียง 25% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดเท่านั้น
การพูดถึงค่าธรรมเนียมและรายได้ที่จะลดลงอาจจะฟังดูไม่เข้าหูนักลงทุนที่เป็นแฟนระยะยาวของหุ้น Coinbase ในตลาดหุ้น Wall Street แต่ในระยะสั้นดูเหมือนผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รังเกียจอะไร เพราะในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้น Coinbase บวกแรงถึงเกือบเท่าตัว ตราบที่ราคาคริปโตยังพุ่งไม่หยุดและยังมีคนเข้ามาซื้อขายคริปโตในตลาดไม่หยุดหย่อน ไม่ว่า Armstrong จะพรั่งพรูแนวคิดที่เป็นอุดมคติออกมามากแค่ไหนก็ย่อมได้ทั้งนั้น
เรื่อง: Javier Paz และ Steven Ehrlich เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
ภาพ: Cody Pickens
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Wee Ee Cheong พลิกเกมรุกปรับภาพลักษณ์ UOB ดึงดูดคนรุ่นใหม่
