Bloom Energy เปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาด - Forbes Thailand

Bloom Energy เปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาด

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Sep 2020 | 07:29 AM
READ 3161

Bloom Energy ของ KR Sridhar สัญญาว่าจะเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้เป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่ “ถูกกว่าโครงข่ายไฟฟ้า” แต่หลังจากหมดเงินไปหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เซลล์เชื้อเพลิงของบริษัทกลับแพงจนไร้เหตุผล แถมยังไม่สะอาดเท่าไรด้วย

เมื่อไฟป่าโหมกระหน่ำเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พลเมืองรัฐ California กว่าล้านคนต้องประสบปัญหาไฟฟ้าดับ มีการตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อลดโอกาสเกิดไฟไหม้เพิ่มขึ้นในจุดต่างๆ เมื่อลมพัดแรง ทว่า KR Sridhar ก็ได้กลิ่นโอกาสท่ามกลางควันไฟนี้บริษัทมหาชน Bloom Energy ของเขาขายเซลล์เชื้อเพลิง โดยมีกล่องเหล็กซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ กล่องที่บริษัทเรียกว่าเซิร์ฟเวอร์พลังงานเหล่านี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบบริสุทธิ์ออกมา ซึ่งแม้ก๊าซนี้จะเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ แต่ก็น่าจะปล่อยออกมาน้อยกว่าโรงงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และไม่มีก๊าซองค์ประกอบของหมอกควันอย่างไนโตรเจนออกไซด์และซัลเฟอร์ออกไซด์ออกมามากนัก สิ่งที่ดียิ่งกว่านั้นคือ กล่องของ Bloom รับเชื้อเพลิงผ่านท่อใต้ดิน ซึ่งไม่ถูกรบกวนโดยกระแสลมดิอาโบล (diablo winds) ที่พัดคุกคามสายไฟฟ้าแรงสูงใน California จนทำให้ไฟฟ้าดับ ซึ่ง Sridhar มองว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลยในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะใน Silicon Valley “ทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น เพราะต้องมีคนแบกรับค่าเสียหาย” Sridhar กล่าว “นี่แหละตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง” Bloom หาโอกาสทำเงินจากไฟฟ้าดับด้วยการชักชวนว่าที่ลูกค้าในพื้นที่เสี่ยงจากไฟป่าให้ปกป้องตัวเองจากความล้มเหลวของโครงข่ายไฟฟ้าด้วย “โครงข่ายไฟฟ้าขนาดจิ๋ว” ที่ใช้กล่องของ Bloom ผลิตไฟฟ้าอย่างที่ติดตั้งไปแล้ว 26 แห่งใน California ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารอดพ้นเหตุการณ์ไฟดับในปีที่แล้วมาได้ ตลอด 19 ปีในธุรกิจ Bloom ติดตั้งกล่องหนัก 15 ตันเหล่านี้ไปแล้วหลายพันกล่องทั่วโลก ให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่รวมถึง Apple, AT&T และ Paypal ซึ่งพร้อมจ่ายเงินเพื่อให้มั่นใจว่า ศูนย์ข้อมูลจะมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพราะถ้าระบบล่มก็เท่ากับเสียเงินนาทีละเกือบ 9,000 เหรียญ Bloom มีลูกค้าจำนวนมากอยู่ในรัฐที่ค่าไฟฟ้าแพงที่สุดและให้เงินอุดหนุนก้อนใหญ่สำหรับการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เช่น ในรัฐ New York ซึ่งห้าง Home Depot ติดตั้งกล่องของ Bloom เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าสำรอง “ในจุดที่เหมาะสมตามหลักเศรษฐศาสตร์” Craig D’Arcy หัวหน้าฝ่ายพลังงานของห้างเครือนี้ในสหรัฐฯ กล่าว นี่ควรจะเป็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ของ Bloom “เรามีก๊าซธรรมชาติจากการขุดเจาะชั้นหินด้วยแรงดันน้ำอยู่แล้ว” Sridhar กล่าว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีศักยภาพดีหลายอย่าง แต่กล่องของ Sridhar ก็ไม่น่าจะมาเปลี่ยนโฉมโครงข่ายไฟฟ้าใน California หรือที่อื่นๆ ได้ด้วยเหตุผลหลายๆ ข้อ และข้อที่สำคัญที่สุดคือ เทคโนโลยีของ Bloom สกปรกและแพงเกินไป  

-ปั้นเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง-

เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน Sridhar เคยวาดภาพว่า อีก 10 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงของเขาจะอยู่ในทุกบ้าน ด้วยราคากล่องละ 3,000 เหรียญ แต่ในความเป็นจริงไม่มีบ้านไหนเลยในสหรัฐฯ ที่ติดตั้งกล่อง Bloom แม้แต่บ้านราคา 7.6 ล้านเหรียญในเมือง Woodside รัฐ California ของ Sridhar เอง แต่กล่องของเขาก็ได้ลูกค้าจากภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แทน โดยขายในราคาประมาณกล่องละ 1.2 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าไม่นำเงินอุดหนุนมาคิดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยกล่องเหล่านี้จะอยู่ที่ 13.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เทียบกับต้นทุนเฉลี่ยของโครงข่ายไฟฟ้าทั่วประเทศอยู่ที่ 10 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริงราคาถูกกว่าไฟฟ้าของ Bloom มาก ข้อมูลจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ Lazard ชี้ว่า ถ้าไม่นำเงินอุดหนุนมาคำนวณ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ผลิตบนบกจะมีต้นทุน 4 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง แต่อย่าคิดว่า Sridhar วัย 59 ปีจะใจฝ่อ “เราก้าวหน้าไปไวอย่างน่าประหลาดใจทีเดียว” เขากล่าว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตอนที่เขาเริ่มต้น Sridhar เติบโตในประเทศอินเดีย ซึ่งไฟฟ้าดับเป็นเรื่องปกติและเข้าเรียนที่ National Institute of Technology Trichy ในรัฐ Tamil Nadu ทางใต้ของอินเดีย จากนั้นก็มาเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐฯ ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ต่อมาเขาเข้าทำงานใน Space Technologies Lab ที่ University of ปArizona เพื่อสร้างเครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับภารกิจไปดาวอังคารของ NASA เมื่อยาน Mars Polar Lander ตกในปี 1999 โครงการของเขาถูกยกเลิก แต่เขาไม่ถอดใจ เขายังทำงานต่อไปเพื่อสร้างเทคโนโลยีกลับด้านที่จะเปลี่ยนก๊าซมีเทนและออกซิเจนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และไฟฟ้า  
คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่ “เบ่งบานและบิดเบือน" จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine