Anne Wojcicki ก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีคนล่าสุด หลังนำ 23andMe บริษัทวิจัยพันธุกรรมจากสหรัฐอเมริกา เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี SPAC หลังเสร็จสิ้นการควบรวมกิจการกับ VG Acquisition Corp. ซึ่งก่อตั้งโดย Sir Richard Branson มหาเศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ
Anne Wojcicki ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ
23andMe มีสัดส่วนการถือครองทั้งหมด 99.4 ล้านหุ้นของบริษัท ซึ่งซื้อขายในตลาด Nasdaq ภายใต้สัญลักษณ์ “ME” ที่ราคา 13.40 เหรียญสหรัฐฯ ณ เวลา 15:00 น. ของวันพฤหัสบดี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญ
ด้านมูลนิธิการกุศลของเธออย่าง Anne Wojcicki Foundation ก็ได้เข้าซื้อหุ้น 23andMe จำนวน 2.5 ล้านหุ้น อย่างไรก็ดี ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวนี้
Forbes ไม่ได้คำนวณในส่วนของมูลนิธิข้างต้น
ล่าสุด Wojcicki ก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีคนแรกจากการควบรวมกิจการด้วยวิธี SPAC และเป็นผู้หญิงอเมริกันคนที่ 2 ที่จะขึ้นแท่นมหาเศรษฐีในปี 2564 อันเป็นผลมาจากการเสนอขายหุ้น IPO ต่อจาก
Whitney Wolfe Herd จาก Bumble ซึ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีหญิงที่สร้างตัวเองที่อายุน้อยที่สุดในโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในเดือนกุมภาพันธ์ 23andMe ประกาศว่าจะควบรวมกิจการกับ VG Acquisition Co. เพื่อเข้าทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ แทนที่จะดำเนินการเสนอขายหุ้นแบบเดิมๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำในการสร้างรายได้ เช่นเดียวกับบริษัทอีก 343 แห่งที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักรัพย์ด้วยวิธี SPAC ในปี 2021 นี้ และระดมเงินทุนเป็นมูลค่ารวมไปกว่า 1.07 แสนล้านเหรียญ
Wojcicki ร่วมก่อตั้ง 23andMe ใน Silicon Valley เมื่อปี 2006 เพื่อประกอบธุรกิจขายชุดทดสอบ DNA ซึ่งลูกค้าสามารถจัดส่งหลอดพลาสติกที่พวกเขาคายน้ำลายผ่านทางไปรษณีย์ เพื่อแลกกับข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมของเขา รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ โดยที่พวกเขาสามารถเช็คผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย
อย่างไรก็ดี ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีนาคม 2020 ถึง ธันวาคม 2020 บริษัทขาดทุนเกือบ 117 ล้านเหรียญจากรายได้ 155 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลงร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ในเดือนมกราคม 2020 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาด บริษัทก็ได้ทำการเลิกจ้างพนักงาน 100 คน หรือราวร้อยละ
14 ของพนักงานทั้งหมด
“23andMe คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะขาดทุนจากการดำเนินงานต่อไปในอนาคตอันใกล้ เนื่องจาก 23andMe ยังคงขยายความพยายามในการวิจัยและพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง” บริษัทกล่าวในการยื่นเอกสารต่อ ตลาดหลักทรัพย์ก่อนการควบรวมกิจการด้วยวิธี SPAC
ขณะที่ความสำเร็จในระยะยาวของ 23andMe วางแผนที่จะก้าวจากบริษัททดสอบทางพันธุกรรมไปสู่การเป็นบริษัทพัฒนายา ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง GSK และบริษัท Almirall ของสเปน เพื่อสร้างยาที่พัฒนาจากข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ใช้ 23andMe
“ฉันไม่คิดว่าจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลในอนาคตอันใกล้นี้จากแผนกพัฒนาการรักษา” Kaia Colban นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของ Pitchbook กล่าว พร้อมเสริมว่า
“แน่นอนว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นฉันคิดว่าเราอาจเห็นความลังเลใจในการลงทุน”
อย่างไรก็ดี Colban ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า บริษัททดสอบทางพันธุกรรมหลายแห่งรวมถึง Color and Helix ก็ได้ระดมทุนรอบใหม่ในปีนี้เช่นกัน ซึ่งบ่งชี้ว่านักลงทุนยังคงรู้สึกในแง่ดีเกี่ยวกับภาคส่วนธุรกิจดังกล่าว
ทั้งนี้ Wojcicki จะยังคงดำรงตำแหน่งซีอีโอของ 23andMe ต่อไป หลังจากดำรงตำแหน่งนี้ในบริษัทมาเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน เธอก็ได้มีลูก 3 คน แต่งงาน (และหย่าร้าง) กับ
Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้งของ Google และเผชิญกับคำสั่งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้หยุดทำการทดสอบสุขภาพจนกว่าหน่วยงานจะตรวจสอบว่าคำวินิจฉัยด้านสุขภาพของบริษัทถูกต้อง
แต่สุดท้าย 23andMe ได้พิสูจน์ให้ FDA วิธีการทดสอบและวิเคราะห์ได้ผลเที่ยงตรงจริง ทำให้หลังปี 2015 สามารถออกมาทำการทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมเพื่อหาความเสี่ยงเกิดโรคของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่
แม้ว่าแพทย์บางคนยังคงแสดงความสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการทดสอบสุขภาพบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้หยุดบริษัทจากการขายชุดทดสอบทางพันธุกรรมมากกว่า 10 ล้านชุด ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ทำการทดสอบทางพันธุกรรมเลือกที่จะให้ 23andMe ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนายา
“โดยพื้นฐานแล้วทำให้บริษัทสามารถสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ได้ฟรี ฐานข้อมูลนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญของยาตัวใหม่” Colban กล่าว
แปลและเรียบเรียงจากบทความ 23andMe’s Anne Wojcicki Becomes Newest Self-Made Billionaire After SPAC Deal With Sir Richard Branson เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
Stephen Hoge มหาเศรษฐีคนล่าสุดจาก Moderna