"แบคทีเรียในลำไส้" เพื่อนแท้ของมนุษย์ - Forbes Thailand

"แบคทีเรียในลำไส้" เพื่อนแท้ของมนุษย์

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Aug 2020 | 10:55 AM
READ 3324

การนำ "แบคทีเรียในลำไส้" มาใช้งานเป็นความอาจหาญในการหาหนทางรักษาสุขภาพมนุษย์ก็ว่าได้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์กำลังใช้แบคทีเรียจากระบบย่อยอาหารเพื่อสร้างนวัตกรรมยาชนิดใหม่ที่รักษาได้สารพัดโรค รวมทั้งพาร์กินสัน มะเร็ง และออทิสติก

Gates, Benioff และ Zuckerberg เป็นผู้ที่เชื่อมั่นแนวทางนี้อย่างชัดเจน และผลของมันอาจนำไปสู่ยายอดนิยมที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งมโหฬาร ตลอดจนสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลแก่นักลงทุนรายแรกๆ การใช้เชื้อโรคจากลำไส้มาเป็นยา มีงานวิจัยกว่า 50,000 ชิ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ศึกษาผลกระทบของชีวนิเวศจุลชีพ เชื้อแบคทีเรียจากลำไส้หลายชนิดดูจะสามารถกระตุ้นหรือกดข่มปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ขณะที่บางชนิดดูจะช่วยต่อสู้กับจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรค งานวิจัยก้าวล้ำใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดความพยายามในการคิดค้นแนวทางการรักษา ที่จะช่วยลดความทุกข์เข็ญของมนุษย์ตลอดจนทำรายได้งามๆ ให้กับผู้บุกเบิกของวงการ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ถ่ายโอนเซลล์ชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้จากหนูอ้วนไปยังหนูผอม พบว่าหนูผอมที่เป็นตัวรับมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ในการศึกษาครั้งหนึ่งพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิด melanoma ที่มีชีวนิเวศจุลชีพที่หลากหลายที่สุดจะตอบรับกับภูมิคุ้มกันบำบัดได้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน หนูที่ได้รับการฉีดแบคทีเรียในลำไส้จากนักวิ่งมาราธอนเข้าไปจะวิ่งได้ระยะไกลขึ้น ยาตัวใหม่สำหรับคนเป็นโรคอ้วนเพียงอย่างเดียวก็น่าจะมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงตอนนี้ การบำบัดที่มาจากชีวนิเวศจุลชีพที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ การปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระเพื่อรักษาการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟฟิไซล์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ชาวอเมริกันล้มป่วยปีละ 500,000 คน และมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 คน ตอนนี้เงินหลายพันล้านเหรียญกำลังไหลเข้าสู่การผลิตยาชีวนิเวศจุลชีพ Gbola Amusa ผู้ที่เป็นทั้งแพทย์และหุ้นส่วนที่ Chardan ธนาคารเพื่อการลงทุนที่เน้นในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพใน New York ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 5 พันล้านเหรียญตั้งแต่ปี 2014 นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีในแวดวงเทคโนโลยีอย่าง Bill Gates, Marc Benioff ผู้ก่อตั้ง Salesforce และ Vinod Khosla นักลงทุนใน Silicon Valley ต่างก็ให้เงินสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำางานเกี่ยวกับชีวนิเวศจุลชีพ ขณะเดียวกัน Gates, Benioff และ Mark Zuckerberg ได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนงานวิจัยชีวนิเวศจุลชีพที่สถาบันต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัย Stanford มหาวิทยาลัย Washington ใน St. Louis และ University of California ใน San Francisco การแข่งขันของบริษัทต่างๆ เพื่อให้ FDA อนุมัติยาตัวแรกที่ทำจากแบคทีเรียในลำไส้เริ่มขึ้นแล้ว แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยังเพิ่มเริ่มต้นและยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ที่บริษัทและธนาคารเพื่อการลงทุน Oppenheimer ใน New York Mark Breidenbach กล่าวว่าความกระตือรือร้นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทด้านชีวนิเวศจุลชีพกำลังลดน้อยถอยลงเพราะ “ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ชีวนิเวศจุลชีพทำอะไรได้” Amusa มีความหวังมากกว่า “วิทยาศาสตร์กำลังพลิกโฉม” เขาบอก “หากพิสูจน์ได้เมื่อไร บริษัทชีวนิเวศจุลชีพเหล่านี้จะมีมูลค่าไม่ใช่แค่หลายร้อยล้านเหรียญ แต่เป็นพันล้านเหรียญ”
Mark Smith ผู้ก่อตั้ง Finch Therapeutics สตาร์ทอัพพัฒนายาชีวนิเวศจุลชีพ
ณ เมือง Somerville เป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัท Finch Therapeutics ซึ่งเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพพัฒนายาชีวนิเวศจุลชีพที่มาแรงที่สุด Mark Smith ผู้ร่วมก่อตั้ง วัย 33 ปี ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านจุลชีววิทยาที่ MIT เมื่อคนไข้ติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟฟิไซล์อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเขา “ผมต้องบอกเขาว่า ผมเป็นนักจุลชีววิทยาไม่ใช่หมอ” Smith เล่า ความทุกข์แสนสาหัสของคนไข้กระตุ้นให้ Smith ก่อตั้ง Open Biome ที่ชื่อว่า The Cambridge องค์กรไม่หวังผลกำไร ซึ่งเทียบได้กับธนาคารเลือด แต่ต่างกันที่มีหน้าที่เก็บอุจจาระมนุษย์แทน ขณะที่เขายังศึกษาอยู่ที่ MIT ในปี 2013 ที่ Massachusetts นับเป็นธนาคารอุจจาระแห่งแรกของโลก ธนาคารแห่งนี้ได้ดำเนินการจัดหาอุจจาระสำหรับการปลูกถ่ายกว่า 53,000 ครั้ง แก่โรงพยาบาลและคลินิก 1,200 แห่ง Smith ก่อตั้ง Finch ในปี 2016 โดยได้แรงบันดาลใจจากความต้องการการปลูกถ่าย Finch (ชื่อที่ตั้งตามนกฟินช์หลากสายพันธุ์ที่ Charles Darwin ค้นพบบนหมู่เกาะ Galápagos) เป็นหน่วยงานหวังผลกำไร เพื่อพัฒนายารักษาอาการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟฟิไซล์ ที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ทุกวันนี้ การปลูกถ่ายอุจจาระผ่านการส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยแพทย์อาจมีค่าดำเนินการสูงถึง 5,000 เหรียญ หัตถการนี้ไม่ได้รับการรับรองจาก FDA หรือได้รับการคุ้มครองจากบริษัทประกัน Smith กับพนักงาน 80 คนของเขา ทำงานบนพื้นที่ 2 ชั้นในนิคมอุตสาหกรรมที่เคยเป็นสำนักงานและพื้นที่เก็บของของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Harvard ชายรูปร่างสูงโปร่ง ผอมบาง กับนัยน์ตาสีฟ้าจัดต้อนรับขับสู้กับมุกตลกที่ย่อมมาพร้อมกับการเป็นผู้ประกอบการด้านอุจจาระมนุษย์อยู่เสมอ ในวันฮัลโลวีนเขาสวมชุดแฟนซีอิโมจิรูปอึ (“ผมเป็นกองทัพอึ”) ไปที่สำนักงานที่มีการตั้งชื่อเครื่องถ่ายเอกสารว่า “กระโถนโดนใจ” และ “ถ่ายทุ่น” แต่เขาระดมทุนได้จำนวนมากโข มีบรรดากองทุนร่วมลงทุนลงขันมาแล้ว 130 ล้านเหรียญ และ Finch ยังได้จับมือกับ Takeda ผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เพื่อพัฒนายารักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์น (crohn’s disease) ซึ่งมีผู้ป่วยรวมกัน 10 ล้านคนทั่วโลก และ Finch ยังพัฒนายารักษาโรคออทิสติกด้วย ตามหลักปฏิบัติดั้งเดิมนั้น นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลผ่านการทดลองกับหนู แต่ Finch ข้ามขั้นตอนของหนูและทดลองกับคนก่อน ด้วยการวิเคราะห์อุจจาระจากคนไข้มนุษย์ซึ่งหายดีแล้วหลังได้รับการปลูกถ่าย “เราต้องการดูว่าอะไรได้ผลกับคนไข้ และหาวิธีผลิตยาโดยการทำงานแบบบนลงล่าง” Smith กล่าว “วิธีนี้เรียกว่า กระบวนทดลองแบบย้อนกลับ” สำหรับหนึ่งในยารักษาการติดเชื้อครอสไทรเดียม ดิฟฟิไซล์ของ Finch นั้น พวกเขาสกัดเอาแบคทีเรียทุกชนิดในตัวอย่างอุจจาระมนุษย์จากผู้ป่วยที่หายจากอาการติดเชื้อ นำไปทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง และนำสิ่งที่ได้ในปริมาณเทียบเท่ากับการปลูกถ่ายอุจจาระในรูปเม็ดยา 1 เม็ด นอกจากนั้น บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายาที่ไม่ซับซ้อนเท่า โดยทำจากแบคทีเรียชนิดหลักๆ 5-10 ชนิด บริษัทคาดว่า จะได้ผลจากการทดลองขั้นที่ 2 ครั้งแรก (ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิผล) ของแคปซูลเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟฟิไซล์แบบสมบูรณ์ภายในปลายไตรมาส 2 ของปีนี้ “แม้ว่าการบำบัดด้วยชีวนิเวศจุลชีพที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาจะประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่วิธี” Smith กล่าว “แต่มันจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการสาธารณสุข” Chris Howerton นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพจาก Jefferies วาณิชธนกิจใน New York ให้คำตอบที่ฟันธงกว่า “ถ้างานวิจัยด้านชีวนิเวศจุลชีพทุกชิ้นถูกเปลี่ยนเป็นการบำบัดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วผลกระทบต่อตลาดยาจะครอบคลุมกลุ่มโรคสำคัญๆ ส่วนใหญ่ ซึ่งรวมกันแล้วมีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านเหรียญในปี 2018 ในสหรัฐฯ” เขากล่าว “ความเป็นไปได้จากการนำชีวนิเวศจุลชีพไปใช้นั้นมีมากมายมหาศาลและยั่วน้ำลายมากๆ” อ่านเพิ่มเติม: รศ. ญาณเดช ทองสิมา แผนสร้างเมืองนครธนบนพื้นที่กว่า 500 ไร่
คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่ "แบคทีเรียเพื่อนแท้ของมนุษย์" ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine