รศ. ญาณเดช ทองสิมา แผนสร้างเมืองนครธนบนพื้นที่กว่า 500 ไร่ - Forbes Thailand

รศ. ญาณเดช ทองสิมา แผนสร้างเมืองนครธนบนพื้นที่กว่า 500 ไร่

จากระเบียงหลังห้องบนชั้น 11 ของโรงพยาบาลนครธน เมื่อมองลงไปเบื้องล่างแลเห็นถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ภาคใต้ มีถนนสายย่อยๆ ตัดผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ

บนพื้นที่ใกล้ๆ กับอาคารโรงพยาบาล มีสำนักงานเขตบางขุนเทียน ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 สำนักงานที่ดินสาขาบางขุนเทียน โรงแรมพาร์ค วิลเลจ โรงเรียนจารุวัฒนานุกูล ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พระราม 2 โรงเรียนนานาชาติเบซิส ปั๊มน้ำมันบางจาก ห้างบิ๊กซี โรงเรียนวรรณสว่างจิต โชว์รูมรถเบนซ์ โชว์รูมรถเชฟโรเลต ฯลฯ 40 กว่าปีก่อน พื้นที่แถบนี้เป็นท้องนาการคมนาคมไม่สะดวก และขาดแคลนสาธารณูปโภค และสิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่มาจากความตั้งใจและการบริหารจัดการของ รศ. ญาณเดช ทองสิมา ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลนครธน จำกัด ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่บางขุนเทียนให้มีการคมนาคมที่สะดวก ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บิดามารดาคือสุดจิตต์-ถนอม ทองสิมา เป็นเจ้าของที่ดินย่านนี้กว่า 500 ไร่ คราวที่หน่วยงานภาครัฐจะตัดถนนธนบุรี-ปากท่อ (ปัจจุบันคือ ถนนพระราม 2) มีการย้ายแนวถนนอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่พ้นที่ดินของครอบครัวทองสิมา รศ. ญาณเดช ทองสิมา เริ่มบทบาทนักธุรกิจตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี โดยทำโครงการบ้านจัดสรรชื่อ “สุดจิตต์นิเวศน์” (จำนวนกว่า 500 หลังคาเรือน) เป็นรายแรกบนถนนพระรามที่ 2 และเป็นรายแรกๆ ของธุรกิจในย่านฝั่งธนบุรี ในนามบริษัท ทองสิมาเคหะกิจ จำกัด ซึ่งต่อมาได้จัดทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมบางขุนเทียน 1 (90 ไร่) นิคมอุตสาหกรรมบางขุนเทียน 2 (40 ไร่) รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินโครงการศูนย์ราชการบางขุนเทียนศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า (พระราม 2) พื้นที่ 100 ไร่ ศูนย์พาณิชยกรรมบางขุนเทียน (ห้างบิ๊กซี ห้างโฮมโปร สถานีบริการน้ำมันบางจาก) ทว่า กว่าจะเห็นผลลัพธ์เช่นวันนี้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ซึ่ง รศ. ญาณเดช ย้ำหลายครั้งว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหนื่อยมาก"  

- เศรษฐีที่ดินบางขุนเทียน-

หลังเรียนจบกลับมาญาติแนะนำให้สมัครเป็นอาจารย์ที่ มธ. และสอนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอยู่ 13 ปี เขียนบทความและหนังสือวิชาการ จนได้รับตำแหน่ง “รองศาสตราจารย์” ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็มาทำธุรกิจพัฒนาที่ดินของครอบครัว “ผมกลับจากสหรัฐปี 2516 ถ. พระราม 2 เปิดพอดี ก็ขับรถมาดู มาหาพระเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้านก็มาหา เราบอกว่าพ่อแม่มีที่ดินแถวนี้ ตอนนั้นไม่รู้ว่าตรงไหน ที่ดินหลายร้อยไร่ เซ็นทรัลก็เช่าเรา 100 ไร่ ตอนนี้ยังมีที่ดินเหลือมากกว่าร้อยไร่...บางส่วนขายให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ทำเป็นคอนโดสูงสร้างความเจริญให้เมือง จะได้มีประชากรเยอะๆ เป็น satellite city เป็นเมืองใหญ่” “ทั้งหมดเราแพลนไว้ตั้งแต่แรก ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยง่าย เวลาที่เหลือจากการสอนหนังสือก็มาทำงานนี้ควบคู่ไปด้วย เราคิดว่า property ที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมาทำอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด คนอื่นอาจขายที่ดินสักแปลงได้เงินไปซื้อรถเฟอร์รารี่ขับใช้ชีวิตสบายๆ แต่ผมคิดว่า สมบัตินี้พ่อแม่ได้มาอย่างลำบาก ควรเอามาพัฒนาต่อยอด 60-70 ปีก่อน ท่านซื้อแปลงละ 140-150 ไร่ 85 ไร่ หลายๆ แปลงรวมกัน” ความตั้งใจของ รศ. ญาณเดชคือ ต้องการใช้ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาที่ดินและชุมชนให้มีความสะดวกมากขึ้น เริ่มจากการตัดถนนเข้าชุมชนต่างๆ ในที่ดินตนเองหรือของชาวบ้าน และเชิญหน่วยงานต่างๆ มาตั้งสำนักงาน รับราชการได้ 13 ปี มีเหตุให้ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลทรัพย์สินและธุรกิจของครอบครัว  

-ทำบุญด้วยการสร้างโรงพยาบาล-

ความคิดในการสร้างโรงพยาบาลมาจาก “ถนอม” ผู้เป็นมารดา ซึ่งศรัทธาในพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ยังเป็นสาวทำบุญกับวัดต่างๆ อยู่เป็นประจำ ครั้นสูงวัยขึ้นก็อยากทำบุญกับโรงพยาบาล “ท่านคิดว่าทำโรงพยาบาลให้ดีก็เหมือนทำบุญ แม้จะเก็บสตางค์แต่ก็ช่วยชีวิตคนไข้ได้ เจตนารมณ์ของคุณแม่คือ อยากสร้างโรงพยาบาลดีๆ ให้สังคม ไม่ได้ต้องการกำไรเท่านั้นเท่านี้ คุณแม่บอกว่า ทำแล้วจะได้บุญ พวกเธอทั้งหลายจะมีความสุข ลูกๆ ก็สนับสนุน ทั้งที่ไม่มีใครเป็นหมอเลย แต่น้องเขย วิศาล สายเพ็ชร์ มีพี่ชายเป็นหมอคือ นายแพทย์เกตุ สายเพ็ชร ซึ่งขณะนั้นทำโรงพยาบาลบางโพ คุณแม่คุยว่าอยากทำโรงพยาบาล เรามีที่ดินทางโน้นช่วยดูแลด้านความรู้และเรื่องทางการแพทย์ ต้องขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่ให้กู้” โรงพยาบาลนครธนเปิดให้บริการครั้งแรกปลายปี 2539 ใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาท ปีถัดมา ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้บริษัทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านบาทจากนโยบายค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ กลายเป็น 50 บาท ช่วงนั้น รศ. ญาณเดช ยังเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. “ตอนนั้นคนดูแลคือ คุณหมอเกตุ ผมมาประชุมบอร์ดเดือนละครั้ง ต่อมาคุณหมอขอถอนตัวจากการเป็นผู้บริหาร เนื่องจากมีภารกิจมากทั้งโรงพยาบาลและคลินิกส่วนตัวผมมารับงานแทนปี 2540 กว่าๆ และเข้ามาเต็มตัวปี 2547 โรงพยาบาลมีหนี้เพิ่มจากการปริวรรตเงินตรา โดนไปพันกว่าล้าน ผมก็หนักเลย ไม่ใช่แพทย์ด้วย แต่ได้อานิสงส์จากการเคยเป็นผู้แทนฯ มีคอนเนคชั่น เราสุภาพ ก็คุยกับธนาคารดีๆ เขาทำแผนแฮร์คัต ลดหนี้ให้เยอะ ทำแผนชำระหนี้ 6 ปีแต่เราจ่ายได้มากกว่าและเร็วกว่ากำหนดชื่อเสียงดีขึ้น และเป็นลูกค้าชั้นดี หลังจากนั้นไม่มีหนี้แล้ว” นอกจากปัญหาเรื่องหนี้สิน ในช่วงแรกคนไข้ใช้บริการน้อย เพราะไม่กล้าเข้า เนื่องจากตัวอาคารสวยงาม มีลิฟต์ บันไดเลื่อน คิดว่าค่ารักษาแพง เพื่อให้มีรายได้เข้ามาเสริมสภาพคล่องจึงรับคนไข้ประกันสังคม ระหว่างปี 2542-2552 ด้านหนึ่งนั้นเพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสมาใช้บริการ “เราทำได้ดี เพราะจริงใจ ไม่ได้หากำไรมาก ปีแรกได้ผู้ประกันตน 70,000 ขยับเป็น 120,000 และ 150,000 ราย ซึ่งเต็มโควต้าเราให้บริการคนไข้ประจำกับคนไข้ประกันสังคมใกล้เคียงกันมาก ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ข้อดีคือ ทำให้ชื่อเสียงดี ส่วนที่ไม่ดีคือคนรวยก็มาใช้สิทธิ์ประกันสังคม แต่จากชื่อเสียงที่ทำไว้ พอเลิกรับคนไข้ประกันสังคม คนไข้ไปประกันสังคมที่อื่น ถ้าต้องจ่ายเงินก็มารักษาที่นี่... เรายุติประกันสังคมอย่างสวย ทำอย่างดีเหมือนเดิมจนนาทีสุดท้าย หลังจากนั้น ปรับปรุงเตียง เครื่องมือห้องผ่าตัด ใส่เทคโนโลยี ซีทีสแกน...พอคนรู้จักหมอ สัมผัสเครื่องมือ ได้เห็นความจริงใจของเราว่าประกันสังคมก็ทำดี ไม่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมก็ไม่แพงมาก
โรงพยาบาลนครธนมีศูนย์เฉพาะทางมาตรฐานสากล อาทิ ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์ศัลยกรรมที่ผ่าตัดเล็กด้วยกล้อง 3 มิติ
 

-ก้าวต่อไป-

โรงพยาบาลนครธนเป็นโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง ในช่วงแรกเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป ต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยมีศูนย์บริการต่างๆ อาทิ ศูนย์สมองและระบบประสาทศูนย์ศัลยกรรม ศูนย์ทางเดินอาหารและตับศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ฯลฯ ผู้ใช้บริการมาจากพื้นที่บางขุนเทียน จอมทอง บางแค หนองแขม ท่าฉลอม มหาชัย ครุใน คลองมอญ คลองสวน บางบัวทอง ระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตทุกปี โดยปี 2562 มีรายได้ 1,592 ล้านบาทเศษ กำไรสุทธิ 156.6 ล้านบาท พี่ใหญ่ของครอบครัวทองสิมาบอกว่า จากที่เคยชวนเศรษฐีบ้านเดียวกันมาร่วมลงทุนด้วย แต่อีกฝ่ายปฏิเสธเพราะเห็นว่าไม่ใช่หมอ มาตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งสนใจต้องการถือหุ้นด้วย ปี 2563 ตั้งเป้าขยายฐานกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นประชากรกลุ่มระดับกลาง (C-B) และกลุ่มชาวต่างชาติ เช่น พม่า จีน โดยในปี 2562 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ในช่วงเวลาเดียวกันกว่า 100% สำหรับแผนระยะกลาง (ปี 2562-2565) มีโครงการทำศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุแบบองค์รวม เป้าหมายต่อไปคือ การนำโรงพยาบาลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะดำเนินการได้ปลายปี 2564 “ภารกิจผมต้องดูโรงพยาบาลให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ ซึ่งไม่ยากแล้ว มีคนช่วยเทคโนโลยีช่วย โรคที่ทำไม่ได้ ยาก หรือลงทุนไม่ไหว ก็ส่งต่อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราจับมือกัน ส่วนอาคารสถานที่อุปกรณ์การแพทย์ ก็ทำตามความจำเป็น...เราซื้ออุปกรณ์ตามบริบทที่สังคมต้องการอะไรตั้งเป็นศูนย์ได้ เราก็ทำ ได้หมอดีๆ มาทุก area คนก็เชื่อถือ ผมบอกเพื่อนว่าอย่าคิดว่าอยู่ชานเมืองแล้วทำอย่างไรก็ได้เราต้องเทียบกับคนเก่ง คนดี คนมีชื่อเสียง” “ผมมาเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลเพราะตกกระไดพลอยโจน แต่ก็ทำเต็มที่ มีความตั้งใจ ไม่ก้าวก่ายเทคนิค ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน...ผมมาทำงานโรงพยาบาลเต็มตัวปี 2547 ไม่ง่ายนะ ก็ตั้งใจว่าต้องไปให้ได้ไม่งั้นเสียยี่ห้อ” รศ. ญาณเดช กล่าวในตอนท้าย  
คลิกอ่าน รศ. ญาณเดช ทองสิมา แผนสร้างเมืองนครธน ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine