“เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

“เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Jan 2021 | 05:30 PM
READ 2131

Forbes รวบรวมรายชื่อมหาเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ที่บริจาคทรัพย์สินส่วนบุคคลมูลค่าสูงที่สุด เพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา 

สำหรับในตอนที่ 2 นี้มีรายชื่อมหาเศรษฐีใจบุญจากหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจเทคโนโลยี ความงาม ปิโตรเลียมเเละก๊าซธรรมชาติเคมีภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ และกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น ที่ร่วมบริจาคเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ การสร้างอาคารให้กับมหาวิทยาลัย ตลอดจนการแก้ปัญหาความยากจน และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดย "เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ตอนที่ 2 จากการจัดอันดับโดย Forbes ได้แก่ เศรษฐีใจบุญ Steve และ Connie Ballmer มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 7.26 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.4 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Steve อดีตซีอีโอ Microsoft และภรรยา Connie บริจาคเงินมากว่า 53 ล้านเหรียญ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 ซึ่งถูกนำไปใช้ในการทดสอบวัคซีนและจัดหาอาหารให้กับนักเรียนผู้ได้รับผลกระทบ  นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังได้มอบเงินอีก 7 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนกลุ่มที่รณรงค์ควบคุมการใช้อาวุธปืนอย่าง Every Town For Gun Safety เช่นกัน และในปี 2014 Ballmer ได้มอบเงิน 50 ล้านเหรียญให้กับมหาวิทยาลัย University of Oregon ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของ Connie ขณะที่อีก 60 ล้านเหรียญได้ถูกส่งมอบให้กับภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของ Harvard ซึ่งเป็นที่ที่ Steve เคยร่ำเรียน พร้อมกับสมทบทุนอีก 40 ล้านเหรียญให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่นกัน และอีก 30 ล้านเหรียญให้กับองค์กรด้านการศึกษาและสุขภาพของเยาวชน เศรษฐีใจบุญ Leonard Lauder มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.2 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.4 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: ศิลปะ วิทยาศาสตร์ Leonard Lauder บุตรชายคนโตของ Estee Lauder เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง ได้มอบภาพงานสะสมทางศิลปะของตนที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญให้กับพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในปี 2013  ในทำนองเดียวกัน เขาและ Ronald น้องชายมหาเศรษฐีก็ได้ระดมทุนกว่า 150 ล้านเหรียญให้กับมูลนิธิ Alzheimer's Drug Discovery Foundation ที่ทั้งคู่ดำรงตำแหน่งประธานร่วมกัน เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนงานศึกษาวิจัยด้านอัลไซเมอร์ของบริษัทชีวเคมีและสถาบันการศึกษาใน 19 ประเทศ Donald Bren มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 15.3 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา การอนุรักษ์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ ได้มอบเงินมากกว่า 240 ล้านเหรียญให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อาทิเช่น Caltech และ University of California ที่ Santa Barbara และ Irvine  มากกว่านั้น ในปี 2010 เขายังได้มอบพื้นที่ 20,000 เอเคอร์ให้กับเขต Orange County ซึ่งส่วนหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะ Black Star Canyon Wilderness Park  ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ Bren เข้ามาดูแลกิจการ Irvine Company ในปี 1980s เขาได้มอบพื้นที่มากกว่า 50,000 เอเคอร์ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ เศรษฐีใจบุญ George Kaiser  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 5.4 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา สุขภาพ การแก้ไขปัญหาความยากจน มหาเศรษฐีจากธุรกิจน้ำมันและธนาคารผู้ใจบุญที่สุดในรัฐ Oklahoma บริจาคเงินส่วนมากเพื่อพัฒนาบ้านเกิดอย่างเมือง Tulsa ของเขา โดยในช่วงที่ผ่านมามูลนิธิ George Kaiser Family Foundation ได้บริจาคเงินกว่า 1.3 พันล้านเหรียญให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรในท้องถิ่นและหน่วยงานทางสังคม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนและสุขภาพชุมชน ในปี 2018 Kaiser ได้เปิดสวนสาธารณะขนาด 66 เอเคอร์ ที่ใหญ่ที่สุดในเมือง Talsa ที่ถูกสร้างด้วยเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ภายใต้ชื่อ The Gathering Place  “ถ้าคุณเกิดในครอบครัวที่ยากจน ย่อมมีโอกาสที่ลูกของคุณจะเติบโตมายากจนเช่นกัน ดังนั้นจงหาแนวทางที่จะมอบสิ่งที่เด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยมีให้กับเด็กที่ยากจน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน” Kaiser กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Forbes ในปี 2011 เศรษฐีใจบุญ Charles Koch มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 4.49 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา การแก้ไขปัญหาความยากจน ความยุติธรรมทางอาญา  มหาเศรษฐีเจ้าของ Koch Industries บริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ บริจาคเงินส่วนมากผ่านทางมูลนิธิ Charles Koch Foundation ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการศึกษาและความยุติธรรมทางอาญา และมูลนิธิ Stand Together Foundation ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจน ล่าสุด ในปี 2020 Stand Together ได้ริเริ่มโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ GiveTogetherNow และสามารถระดมทุนได้มากถึง 120 ล้านเหรียญจากองค์กรต่างๆ อาทิเช่น Google และ Stripe เพื่อส่งมอบเงินช่วยเหลือ 500 ล้านเหรียญให้กับ 240,000 ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ Julia Koch และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 4.49 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การวิจัยทางการแพทย์ ศิลปะและวัฒนธรรม ภรรยาของ David Koch (ผู้ซึ่งเสียชีวิตลงในปี 2019) อดีตรองประธาน Koch Industries บริจาคเงินส่วนมากเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ และงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ โดยในช่วงที่ผ่านมา David และเธอได้มอบเงินกว่า 700 ล้านเหรียญให้กับหลากหลายสถาบันทางการแพทย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสถาบันมะเร็ง Memorial Sloan Kettering Cancer Center ราว 200 ล้านเหรียญ  ขณะที่อีก 300 ล้านเหรียญได้ถูกส่งมอบให้กับองค์กรด้านศิลปะและวัฒนธรรม อาทิเช่น Lincoln Center for the Performing Arts ใน Manhattan ที่ได้รับเงินสนุบสนุน 100 ล้านเหรียญ ไม่เพียงเท่านี้ David และ Charles Koch น้องชายยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับสถาบันการศึกษาที่เคยร่ำเรียนมาอย่าง Massachusetts Institute of Technology และ Deerfield Academy Pierre Omidyar มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.16 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การแก้ปัญหาความยากจน สิทธิมนุษยชน การศึกษา Omidyar Group บริษัทผู้ก่อตั้ง eBay บริจาคเงินเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาทิเช่น โอกาสทางการศึกษาในแอฟริกาและอินเดีย ตลอดจนการบรรเทาผู้อพยพในซูดานทางตอนใต้และซีเรีย  ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 Omidyar และภรรยาได้บริจาคเงินมากกว่า 10 ล้านเหรียญ เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดย 1 ล้านเหรียญถูกส่งมอบให้กับทางการ Hawaii ซึ่งเป็นเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่  ขณะที่ Luminate หน่วยงานทางสังคมในเครือบริษัทมอบเงินบริจาคราว 400 ล้านเหรียญตั้งแต่ช่วงที่เริ่มก่อตั้ง ให้กับองค์การเพื่อความยุติธรรมทางสังคม อาทิเช่น Color of Change ที่ก่อตั้งหลังจากเหตุการณ์ Black Lives Matter ในเดือนมิถุนายน 2020 เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ Julian Robertson Jr. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 4.3 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: สิ่งแวดล้อม การศึกษา การวิจัยทางการแพทย์ Julian Robertson Jr. ผู้บุกเบิกกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยง (hedge fund) ที่สอดรับกับยุคสมัยใหม่ ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Robertson Foundation ในปี 1996 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่แวดล้อม การศึกษา และการวิจัยทางการแพทย์  โดยมูลนิธิของเขาร่วมกับโรงเรียน New York City Charter School Center เพื่อจัดโครงการ Robertson Scholars Leadership Program เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ Duke University และ UNC Chapel Hill นอกจากนี้ Robertson ยังได้ก่อตั้งอีกหลากหลายมูลนิธิ เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น Tiger Foundation, the Aotearoa and the Blanche และ Julian Robertson Family Foundation Ted Turner มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.2 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.3 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: องค์การสหประชาชาติ สิ่งแวดล้อม ในปี 1997 Ted Turner ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว CNN สร้างประวัติศาสตร์ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงิน 1 พันล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนสหประชาชาติ ซึ่งทำให้องค์การสหประชาชาติ ที่ไม่สามารถระดมทุนจากผู้บริจาคโดยตรงได้ สามารถรับเงินสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในภารกิจการรักษาสันติภาพ สาธารณสุข และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และเขาได้บรรลุคำมั่นสัญญาดังกล่าวในปี 2014 Turner ในฐานะผู้ที่บริจาคเงินมากกว่า 300 ล้านเหรียญผ่านทางมูลนิธิของตนเอง เพื่อนำไปต่อยอดการอนุรักษ์ทรัพยากรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ พื้นดิน หรือสิ่งมีชีวิตกล่าวว่า “การสมทบทุนเพื่อการดำเนินกิจกรรมของสหประชาชาติ เป็นการลงทุนที่ดีที่สุดตั้งแต่ที่เขาเคยทำมา” John และ Laura Arnold  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.3 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.24 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา ความยุติธรรมทางอาญา สุขภาพ Arnold อดีตผู้จัดการกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงและภรรยา ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบความยุติธรรมทางอาญา สุขภาพ และการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยในช่วงที่ผ่านมา Arnold Ventures ได้มอบเงินมากกว่า 57 ล้านเหรียญเพื่อสนับสนุนนโยบายต่างๆ อาทิเช่น ในปี 2020 เงินบริจาค 2 ล้านเหรียญได้ถูกส่งมอบให้กับ University of Cincinnati เพื่อที่จะ “ทดสอบแนวทางใหม่ๆ ในการกำหนดนโยบายที่สามารถบรรเทาความรุนแรง และสร้างความไว้ใจระหว่างชุมชนและตำรวจ” นอกจากนี้ พวกเขายังบริจาคเงินอีก 100 ล้านเหรียญให้กับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายาตามใบสั่งแพทย์ ที่มีราคาถูกและสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ขณะที่อีก 68 ล้านเหรียญและ 22 ล้านเหรียญถูกส่งมอบให้กับโครงการทางการศึกษาและโครงการด้านสุขภาพ ตามลำดับ Amos Hostetter Jr. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.6 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.2 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: ศิลปะ สภาพภูมิอากาศ การศึกษา Hostetter มหาเศรษฐีผู้บุกเบิกธุรกิจเคเบิลทีวี บริจาคเงินผ่านทางมูลนิธิของเขาที่ชื่อว่า Barr Foundation ใน Boston ที่ระดมทุนได้ราว 60 ล้านเหรียญต่อปี เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น การลดการปล่อยมลพิษจากอาคารและการคมนาคมขนส่ง และล่าสุดในปี 2020 ทางมูลนิธิได้ขยายการให้ความช่วยเหลือไปยังองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ขาดทุนทรัพย์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด Phil Knight และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 5.29 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.2 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา Knight ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ชุดกีฬา Nike ร่วมกับอดีตโค้ชของมหาวิทยาลัย University of Oregon ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินราว 800 ล้านเหรียญให้กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่ง 27 ล้านเหรียญจะนำไปใช้ในการปฏิรูปห้องสมุด ขณะที่อีก 500 ล้านเหรียญจะนำไปใช้ในการสร้างศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และ 100 ล้านเหรียญเพื่อก่อสร้างสนามบาสเกตบอลแห่งใหม่ในชื่อ Matthew Knight Arena ตามชื่อลูกชายของเขา  นอกจากนี้ เขายังบริจาคเงินจำนวนมากให้กับทางมหาวิทยาลัย Oregon Health & Science University และ Stanford ซึ่งเป็นที่ที่เขาศึกษาระดับปริญญาโท แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ America’s Top Givers: The 25 Most Philanthropic Billionaires เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ตอนที่ 1