“เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

“เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ตอนที่ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Jan 2021 | 03:30 PM
READ 4141

การจัดลำดับมหาเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 ได้รวมรวมรายชื่อผู้ใจบุญจำนวน 25 คน ที่บริจาคทรัพย์สินส่วนบุคคลมูลค่าสูงที่สุด เพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้มหาเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกันจำนวนมากต่างพร้อมใจกันสมบททุน เพื่อบรรเทาและยับยั้งผลกระทบผ่านทางช่องทางต่างๆ โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา MacKenzie Scott อดีตภรรยาของ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Amazon คือ ผู้ที่บริจาคเงินมากที่สุด ด้วยมูลค่าทั้งสิ้น 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ 500 องค์กรการกุศลทั่วประเทศ “ผมยังรู้สึกตกใจกับยอดเงินบริจาคที่ได้รับมาอยู่เลย” ซีอีโอของมูลนิธิแห่งหนึ่งใน North Carolina กล่าวกับสื่อในท้องถิ่นอย่างประหลาดใจ หลังจากได้รับเช็คเงินสดมูลค่า 10 ล้านเหรียญจาก Scott โดยในช่วงไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา Forbes ประเมินว่า เธอได้บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ ในสหรัฐฯ มากกว่าที่มหาเศรษฐีใจบุญระดับแนวหน้าทั้ง 5 คนของประเทศได้บริจาคมาทั้งชีวิตเสียอีก นอกจาก Scott แล้ว ยังมีเศรษฐีใจบุญอีกจำนวนมากที่ร่วมบริจาคเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อาทิเช่น Bill และ Melinda Gates ที่ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มาโดยตลอด ทั้งยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินเป็นจำนวน 1.75 พันล้านเหรียญ เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะที่ Michael Bloomberg อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์กมอบเงินบริจาคกว่า 330 ล้านเหรียญให้แก่กองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นโควิด-19 อย่างไรก็ดี การเยียวยาและลดผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเพียงด้านหนึ่งของยอดบริจาคที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ เพราะในทำนองเดียวกัน ก็มีมหาเศรษฐีจำนวนมากที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยภายในประเทศ อย่าง Mark Zuckerberg แห่ง Facebook และนักลงทุนชื่อดังอย่าง George Soros เช่นเดียวกับที่อีกหลายๆ ท่านได้สมทบทุนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย 25 “เศรษฐีใจบุญ” ชาวอเมริกัน ประจำปี 2020 จากการจัดอันดับโดย Forbes ได้แก่ เศรษฐีใจบุญ Warren Buffet  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 8.88 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 4.28 หมื่นล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: สาธารณสุข การแก้ไขปัญหาความยากจน นักลงทุนระดับตำนานผู้นี้ได้บริจาคเงินมากกว่าร้อยละ 99 ของทรัพย์สินส่วนตนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าการบริจาครวมทั้งสิ้นกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งโดยส่วนมากจะถูกส่งมอบให้กับมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation เป็นประจำทุกปี เพื่อให้การช่วยเหลือในด้านสุขภาพและการแก้ไขปัญหาความยากจนในสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนา  นอกจากนี้ เขายังมอบหุ้นส่วนที่ถือครองอยู่ในบริษัทกว่าพันหุ้นให้กับอีก 4 มูลนิธิที่ก่อตั้งโดยภรรยาและลูกๆ อีก 3 คน “การบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมทางสังคมที่ครอบครัวของผมได้ทำมาตลอด ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกผิด แต่เป็นเพราะความรู้สึกขอบคุณ”  เศรษฐีใจบุญ Bill และ Melinda Gates มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.207 แสนล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 2.98 หมื่นล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การแก้ไขปัญหาความยากจน มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 2 ทศวรรษ และสามารถระดมทุนได้ราวปีละ 5 พันล้านเหรียญ ได้เข้าสมทบทุนในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินเป็นจำนวน 1.75 พันล้านเหรียญ เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวในทุกพื้นที่ “ผู้คนทุกคนในทุกพื้นที่สมควรที่จะได้รับประโยชน์จากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2020” Melinda Gates กล่าวในเดือนธันวาคม 2020 เศรษฐีใจบุญ George Soros มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 8.6 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.68 หมื่นล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: ประชาธิปไตย การศึกษา การต่อต้านการแบ่งแยก สาธารณสุข Open Society Foundations ของ Soros ดำเนินงานใน 120 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์หลักประจำปี 2020 อยู่ที่การส่งเสริมประชาธิปไตย และปกป้องสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 140 ล้านเหรียญ จากทั้งหมด 1.2 พันล้านเหรียญ นอกจากประเด็นที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ทางมูลนิธิยังสนับสนุนด้านความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การต่อต้านการแบ่งแยก สิทธิมนุษยชน การฟื้นฟูความยุติธรรม และวารสารศาสตร์  ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เขาได้มอบเงินให้กับผู้ที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 37 ล้านเหรียญ ขณะที่อีก 220 ล้านเหรียญได้ถูกส่งมอบให้กลุ่มคนผิวสีในสหรัฐฯ หลังจากเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของ George Floyd ใน Minneapolis ที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ เศรษฐีใจบุญ Michael Bloomberg  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 5.49 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.11 หมื่นล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก และผู้ร่วมก่อตั้ง Bloomberg LP ผู้นี้บริจาคเงินมากกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อสมทบทุนในการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น การรณรงค์ให้ควบคุมยาสูบราว 1 พันล้านเหรียญในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา และในปี 2018 เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษาที่ได้ร่ำเรียนมาอย่าง Johns Hopkins University เป็นมูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญ ขณะที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 Bloomberg ได้มอบเงิน 330 ล้านเหรียญให้แก่องค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตั้งแต่สถาบันวิจัยทางการแพทย์ไปจนถึงการสนับสนุนมื้ออาหารให้กับบุตลากรทางการแพทย์ อีกทั้ง ในเดือนกันยายน 2020 ทีผ่านมา เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนทุกการศึกษาอีก 100 ล้านเหรียญเป็นระยะเวลา 4 ปี ให้กับโรงเรียนแพทย์ของกลุ่มคนผิวสี เศรษฐีใจบุญ Charles “Chuck” Feeney มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: ไม่ระบุ บริจาคทั้งสิ้น: 8 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: วิทยาศาสตร์ สิทธิมนุษยชน และเยาวชน Feeny มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่วางเป้าหมายไว้ว่าจะเสียชีวิตไปพร้อมกับความขัดสน คือ ผู้ร่วมก่อตั้งเชนร้านค้าปลีก Duty Free Shoppers ในปี 1960 ได้ร่วมบริจาคเงินในกิจการต่างๆ โดยไม่ประสงค์ออกนามมาโดยตลอด จนกระทั่งเขาได้คิดค้นโปรเจคที่ชื่อว่า “Givining While Living” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Bill Gates และ Warren Buffett ในการก่อตั้งโครงการ “The Giving Pledge” ในปี 2010 จากยอดบริจาคทั้งหมด 8 พันล้านเหรียญ ได้ถูกส่งมอบไปให้กับการสนับสนุนด้านการศึกษาราว 3.7 พันล้านเหรียญ โดย 1 พันล้านเหรียญในส่วนนี้มอบให้กับสถาบันการศึกษาที่เคยร่ำเรียนมา ล่าสุดในเดือนกันยายน 2020 Feeny และภรรยาได้ยุติการดำเนินมูลนิธิ The Atlantic Philanthropies ของตน หลังจากที่ได้บริจาคทรัพย์สมบัติส่วนตัวชิ้นสุดท้ายที่พวกเขามีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว MacKenzie Scott มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 5.52 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 5.83 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: ความไม่เท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ เพศสภาพ และเศรษฐกิจ เป็ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ Scott ได้สมทบทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรการกุศลต่างๆ ด้วยยอดบริจาคทั้งหมดที่มากกว่า The Gates Foundation ทำในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา  โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ที่เกิดการประท้วงกรณี Black Lives Matter ซึ่งรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงและคตินิยมเชื้อชาติ เธอเปิดเผยว่า ได้บริจาคเงินราว 1.7 พันล้านเหรียญให้กับ 116 องค์กรที่ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางชาติพันธุ์ เพศสภาพ หรือทางเศรษฐกิจ  ไม่เพียงเท่านี้ ในเดือนธันวาคม เธอก็ได้บริจาคเงินเพิ่มอีกราว 4.2 พันล้านเหรียญให้กับ 384 องค์กรใน 50 รัฐทั่วประเทศ โดยในที่นี้ทีมงานของเธอใน Puerto Rico และ Washington D.C. ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับองค์กรที่ดำเนินการด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร และความไม่เท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ Gordon และ Betty Moore มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.18 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 5.15 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Intel บริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ และภรรยาร่วมกันก่อตั้งองค์กรการกุศล ที่ขับเคลื่อนโดยมูลค่าหุ้นของ Intel และสามารถระดมทุนได้ราว 270 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งทางมูลนิธิได้ให้การสนับสนุนการยุติการทำลายระบบนิเวศน์ การออกแบบแและสร้างกล้องโทรทัศน์ Thirty Meter Telescope ใน Hawaii ที่คาดว่าจะช่วยให้นักวิจัยสามารถมองไปยังห้วงอวกาศได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น Eli และ Edythe Broad  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 6.9 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 2.8 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ ในปี 2020 มหาเศรษฐี เจ้าของธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและประกันภัย และภรรยา Edythe ได้มอบเงินบริจาคกว่า 136 ล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น การทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของสถาบัน Broad Institute ตลอดจนการสนับสนุนด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และศิลปะผ่านทางมูลนิธิ Broad Foundation  นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิ Broad Art Foundation ขึ้นในปี 1984 ที่มีผลงานศิลปะมากกว่า 8,500 ชิ้นจาก 500 พิพิธภัณฑ์ เศรษฐีใจบุญ Jim และ Marilyn Simons  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.35 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 2.7 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การวิจัย STEM Simons เคยเป็นศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ก่อนที่จะมาก่อตั้ง Renaissance Technologies ในปี 1982 ได้ตัดสินใจบริจาคเงินให้กับการวิจัยและการศึกษา STEM โดยในปี 1984 เขาและภรรยา Marilyn ได้ก่อตั้ง The Simons Foundation ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายครูมัธยมผู้มีศักยภาพด้าวคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสนับสนุนการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้กับหลายสถาบัน อาทิเช่น The New York Genome Center และ The Autism Research Institute เป็นต้น เศรษฐีใจบุญ Mark Zuckerberg และ Priscilla Chan มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 2.7 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: วิทยาศาสตร์ การศึกษา ความยุติธรรมทางอาญา และการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Facebook ผู้นี้เพิ่งทำการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 5 ปีขององค์กรการกุศล The Chan Zuckerberg Initiative (CZI) ในปี 2020  โดยในปีที่ผ่านมา เขาและภรรยา Priscilla Chan ได้ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลักๆ อย่างการเยียวยาและลดผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ทั้งยังได้ร่วมมือกับ Gates Foundation ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ใน California เป็นมูลค่าราว 100 ล้านเหรียญ  ในทำนองเดียวกันนี้ CZI ได้มอบเงินอีกจำนวน 400 ล้านเหรียญให้กับองค์กรไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด “เพื่อรับประกันว่าผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งทุกคนสามารถลงคะแนนเสียงได้อย่างปลอดภัย” อ้างอิงจากจดหมายประจำปีของ Zuckerberg และ Chan Michael และ Susan Dell มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 4.04 หมื่นล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 2.25 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การแก้ไขปัญหาความยากจน การศึกษา มูลนิธิ Michael & Susan Dell Foundation ได้บริจาคเงินกว่า 80 ล้านเหรียญให้แก่สถาบันทางการแพทย์ สถานศึกษา องค์กรไม่แสวงหากำไร และธุรกิจขนาดเล็กทั่วประเทศ และอีก 20 ล้านเหรียญให้กับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 นอกจากนี้ พวกเขายังได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสมทบทุน 100 ล้านเหรียญเป็นระยะเวลาตลอด 10 ปีให้กับ University of Texas เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา ซึ่ง ณ สถาบันแห่งนี้เป็นที่ที่ Dell เริ่มต้นขายคอมพิวเตอร์ในหอพักของเขา ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกขณะอายุ 19 ปี เศรษฐีใจบุญ Lynn และ Stacy Schusterman มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.4 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.84 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: การศึกษา ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาวยิว ภรรยาและลูกสาวของมหาเศรษฐีธุนกิจน้ำมัน Charles Schusterman คือ สตรีผู้อยู่เบื้องหลังองค์กรการกุศลของครอบครัว ที่ได้เพิ่มมูลค่าการบริจาคกว่า 2 เท่าในปี 2020 ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินราว 400 ล้านเหรียญ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มบุคคลผู้รายได้น้อยในสหรัฐฯ ผ่านทาง LISC หรือหน่วยงานที่ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ  นอกจากนี้ ทางองค์กรยังให้การสนับสนุน Feeding America ที่ทำงานร่วมกับธนาคารอาหารทั่วประเทศ และเป็นแหล่งเงินทุนให้กับความร่วมมือระหว่าง Propel บริษัทเทคโนโลยีและองค์กรไม่แสวงหากำไรอย่าง GiveDirectly ที่ส่งมอบเงินช่วยเหลือ 1 พันเหรียญให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 T. Denny Sanford มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.6 พันล้านเหรียญ บริจาคทั้งสิ้น: 1.8 พันล้านเหรียญ วัตถุประสงค์หลัก: สาธารณสุข การศึกษา มหาเศรษฐีจาก South Dakota ผู้นี้ได้บริจาคเงินกว่า 1 พันล้านเหรียญให้กับ Sanford Health หรือที่เคยรู้จักกันในชื่อ Sioux Valley Hospitals & Health System ซึ่งปัจจุบันมี 46 โรงพยาบาลและ 210 คลินิคอยู่ภายใต้การบริการจัดการ นอกจากนี้ ใรปีที่ผ่านมา Sandford ยังได้บริจาคเงินอีก 150 ล้านเหรียญให้กับ La Jolla National University ในรัฐ California เพิ่มเติมจากที่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาค 350 ล้านในปี 2019 แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ America’s Top Givers: The 25 Most Philanthropic Billionaires เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 ตอนที่ 1