สตาร์ทอัพหญิงผู้โด่งดังที่หวังรวบรวมผู้ประกอบการสตรี เพื่อสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพหญิงผู้โด่งดังที่หวังรวบรวมผู้ประกอบการสตรี เพื่อสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Apr 2018 | 02:42 PM
READ 10589

การที่ผู้ประกอบการสตรีไม่ค่อยได้รับความสนใจจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ของ Silicon Valley ทำให้บริษัท Rethink Impactของ Jenny Abramson มองเห็นโอกาสที่จะทำกำไรในธุรกิจนี้

Jenny Abramson วัย 40 ปี เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัท Rethink Impactโดยบริษัทแห่งนี้สามารถระดมทุนเงินได้ถึง 112 ล้านเหรียญเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อที่จะนำเงินไปลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพของผู้ประกอบการสตรีที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ ทั้งนี้ ตามรายงานข้อมูลของ CrunchBase พบว่า ในจำนวนบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด 100 อันดับแรกของสหรัฐฯ นั้น มีบริษัทที่มีหุ้นส่วนเป็นผู้หญิงแค่เพียงร้อยละ 8 เท่านั้น โดยในจำนวนนี้มีบริษัท 58 แห่งที่ไม่มีหุ้นส่วนกิจการเป็นผู้หญิงเลย และจากข้อมูลที่รวบรวมโดย Pitchbook พบว่า นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา บริษัทที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการสตรีมีเพียงร้อยละ 4.4 จากจำนวนธุรกิจที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก VC โดยคิดเป็นเม็ดเงินสนับสนุนจาก VC น้อยกว่าร้อยละ 2 กรณีศึกษาในเรื่องการลงทุนของ Rethink Impact นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอันมากเพราะหากธุรกิจสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นโดยสตรีเหล็กทั้งหลายมีปัญหาในการได้รับเงินทุนสนับสนุน นักลงทุนที่พร้อมจะให้โอกาสแก่พวกเธอย่อมมีโอกาสเลือกสรรกิจการดาวเด่นที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเลิศให้กับพวกเขา อันที่จริงเรามีรายงานสนับสนุนจากบริษัท First Round Capital ซึ่งได้จัดให้มีการทบทวนโครงการลงทุนระยะเริ่มแรกจำนวนประมาณ 300 โครงการของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2005-2015 โดยการทบทวนดังกล่าวพบว่า กิจการที่ร่วมก่อตั้งโดยผู้หญิงมีผลการดำเนินงานดีกว่ากิจการที่มีผู้ชายเป็นเจ้าของสูงถึงร้อยละ 63 ซึ่งต้องบอกว่านี่เป็นตัวอย่างจากผลประกอบการของบริษัทเงินร่วมลงทุนเพียงแค่รายเดียว ในความเป็นจริงเรายังมีผลการศึกษาอีกหลายชิ้นที่แนะนำการให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบการสตรีเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีการทำธุรกิจของ Abramson ไม่ใช่เรื่องของกำไรไปเสียทั้งหมด เป้าหมายที่สำคัญกว่าของเธอ คือ “การสร้างระบบนิเวศให้กับผู้ประกอบการหญิง” เมื่อฤดูร้อนปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับบรรดาผู้ประกอบธุรกิจใน Silicon Valley จนทำให้เธอและ Heidi Patel หุ้นส่วนของเธอที่ West Coast ส่งสาส์นเชิญให้ผู้หญิงเดินเข้ามาขอคำแนะนำ โดยเนื้อหาในสาส์นเชิญดังกล่าวมีใจความว่า “การที่คุณมีลูกน้อยหรืองานในความรับผิดชอบมากมายเป็นสิ่งที่เรามองว่าเป็นข้อดี เพราะนั่นหมายถึงการที่คุณต้องจัดการปัญหาสารพันในเวลาเดียวกันที่ทำงานของคุณไม่มีโต๊ะปิงปองอย่างนั้นหรือเรามองว่าไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะที่ทำงานของพวกเราก็ไม่มีอะไรแบบนั้นเหมือนกันหรือว่าคุณกังวลว่าเราจะรุมโจมตีคุณ อย่ากังวลไปเลย เราไม่ทำอะไรแบบนั้นเป็นอันขาดพวกเราเข้าใจความรู้สึกของคุณดี งานที่คุณทำอยู่หนักหนาสาหัสพอแล้ว และเราต้องการช่วยเหลือคุณ” นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา หุ้นส่วนคู่หูรายนี้และทีมงานของพวกเธอได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับสตรีที่เป็นเจ้าของกิจการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 700 ราย ซึ่งมีทั้งการพูดคุยทางโทรศัพท์และการติดต่อผ่านทางอีเมล พวกเธอตั้งเป้าหมายว่าจะติดต่อพูดคุยกับบริษัทต่างๆ ให้ได้ประมาณ 2,500-3,000 แห่งในช่วงอายุของกองทุน แม้ว่าท้ายที่สุด Rethink Impact จะตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัทแค่เพียง 25-30 แห่งเท่านั้น Heidi Patel ด้าน Heidi Patel วัย 42 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Stanford บอกว่า “เราพยายามบ่มเพาะบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุนสายพันธุ์ใหม่” เวลาทำงานส่วนใหญ่ของ Patel จะให้น้ำหนักไปกับการลงทุนที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม “อุตสาหกรรมของเราเพิ่งตกเป็นข่าวพาดหัวเกี่ยวกับการดำเนินการที่ผิดพลาด ฉันมองว่าเรามีโอกาสที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครทำอย่างจริงจังในเวลานี้” Jenny Abramson ไม่ได้เป็นคนเดียวที่มองเห็นโอกาสที่ผ่านเข้ามาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา The Wharton Social Impact Initiative ได้รายงานว่า กองทุนในสหรัฐอเมริกาจำนวน 47 รายที่ลงทุนโดยมีการพิจารณาประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ สามารถระดมเงินทุนได้ประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแหล่งทุนใหม่ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการหญิงเป็นกรณีพิเศษมีชื่อของ Rethink Impact ติดโผในฐานะนักลงทุนที่มีสายสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับผู้ประกอบการหญิง นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนอีก 2 รายที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงในครั้งนี้ ได้แก่ Sheila Johns ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Black Entertainment Television และ Sachiko Kuno ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทยา 2 แห่ง โดยพวกเธอทั้งคู่มีชื่อติดอันดับ “50 Richest Self-Made Women” ของนิตยสาร FORBES ส่วนนักลงทุนที่โด่งดังอีกราย คือ Jennifer Frist จากครอบครัวอภิมหาเศรษฐีตระกูลดังแห่งรัฐ Tennessee นับจนถึงปัจจุบัน Rethink Impact ได้ลงทุนในบริษัทต่างๆ ไปแล้วประมาณ 14 แห่งซึ่งประกอบด้วย Neurotrack ผู้ให้บริการตรวจคัดกรองออนไลน์แก่ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางสมองไปจนถึงคนชราที่มีอาการวิตกกังวล, Change.org เว็บไซต์สำหรับยื่นเรื่องร้องเรียน, Werk ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการหาตำแหน่งงานระดับบริหารและวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่น, Aclima ผู้ให้บริการออกแบบและใช้งานเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจจับ คุณภาพอากาศ และ Angaza ผู้ให้บริการอุปกรณ์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ชื่อ Pay-As-You-Go ซึ่งช่วยให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กันดารและไฟฟ้าเข้าไม่ถึงได้มีไฟฟ้าใช้งาน Jenny Abramson บอกว่า “พลังขับเคลื่อนได้เกิดขึ้นแล้ว” โดยเธอพูดถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการสตรีที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เมื่อเอ่ยถึงตรงนี้ดูเหมือน Jenny Abramson จะชะงักไปเล็กน้อยเมื่อคิดถึงเรื่องราวของผู้เป็นแม่ก่อนจะพูดต่อว่า “จะว่าไปแล้วมีคนกลุ่มหนึ่งคิดว่าพลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนแต่เรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดีสำหรับฉันคือขนาดธุรกิจของบริษัทเราในวันนี้ นี่อาจจะเป็นสัญลักษณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงกำลังจะมาถึงแล้วก็เป็นได้”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "คนเบื้องหลังผู้สร้างสรรค์สังคมน่าอยู่" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine