"รักษามะเร็ง" แบบเฉพาะคน - Forbes Thailand

"รักษามะเร็ง" แบบเฉพาะคน

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Jan 2020 | 07:00 AM
READ 6362

Eric lefkofsky ร่ำรวยจากสตาร์ทอัพด้านการเก็บเกี่ยวข้อมูล 5 แห่งโดย Groupon โดดเด่นที่สุด แต่แนวทางนี้จะใช้ รักษามะเร็ง ได้ไหม

Eric Lefkofsky เรียนวิทยาศาสตร์ครั้งสุดท้ายสมัยมหาวิทยาลัย แต่ขณะที่เขาเดินเรื่อยๆ ผ่านห้องแล็บของ Tempus บริษัทสตาร์ทอัพในเมือง Chicago ของเขา ท่าทางเขากลับดูเหมือนผู้เชี่ยวชาญ “สิ่งที่คุณจะเห็นก่อนอื่นคือ เซลล์ที่ย้อมติดสีม่วง” เขากล่าวพลางชี้ให้ดูสไลด์พยาธิสภาพของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เขาเดินผ่านหลอดใส่สารละลายผนังเซลล์และเครื่องวิเคราะห์ลำดับเบสในยีนราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “Tempus พยายามนำพลังของปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับงานสาธารณสุข” เขากล่าว “ขั้นแรกของกระบวนการทั้งหมดคือ ข้อมูล” การรวบรวมข้อมูลคือ ขั้นแรกในธุรกิจอื่นๆ ของ Lefkofsky ด้วย ชายวัย 49 ปีผู้นี้เปิดบริษัท 5 แห่งซึ่งแต่ละแห่งมีมูลค่าอย่างน้อย 250 ล้านเหรียญ และทุกแห่งประกาศจะปฏิวัติวงการโดยใช้บิ๊กดาต้า กิจการที่ดังที่สุดของเขาคือ Groupon ซึ่งแม้ราคาหุ้นจะน่าผิดหวัง แต่ Lefkofsky ก็มีทรัพย์สินประมาณ 2.7 พันล้านเหรียญ Tempus มีทฤษฎีว่าข้อมูลจำนวนมากจะช่วยให้แพทย์คิดวิธีรักษามะเร็งได้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนและช่วยให้การรักษาได้ผลมากขึ้น แพทย์ผู้รักษามะเร็งปอดอาจส่งตัวอย่างชิ้นเนื้องอกมาให้ Tempus เพื่อวิเคราะห์ลำดับเบสในยีน และ Tempus จะระบุจุดที่เกิดการกลายพันธุ์ในยีน ซึ่งทำให้เซลล์เติบโตและแบ่งตัวมากเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์รักษาได้ตรงจุดและได้ผลกว่าการทำคีโม ปัจจุบัน บริษัทที่มีพนักงาน 700 คนแห่งนี้ระดมทุนได้แล้ว 520 ล้านเหรียญ (Lefkofsky ลงทุนเอง 100 ล้านเหรียญ) และมีมูลค่าประเมินของกิจการสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนคาดหวังว่า แนวทางของเขาจะประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเริ่มจากมะเร็ง แล้วนำไปสู่การรักษาโรคเรื้อรังอย่างโรคซึมเศร้าและเบาหวานด้วย แต่การรักษาแบบเจาะจงยังเป็นศาสตร์ใหม่ และ Tempus ก็เพิ่งตีพิมพ์บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิไม่ถึง 20 ฉบับนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งงานวิจัยที่ทำเองและทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ ขณะที่คู่แข่งอย่างบริษัทวิเคราะห์ลำดับเบส Foundation Medicine ตีพิมพ์ผลงานไปแล้วกว่า 400 ฉบับใน 9 ปี แม้ต้นทุนการวิเคราะห์ลำดับเบสจะลดลงแต่ก็ยังอยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 5,000 เหรียญต่อครั้ง และ Tempus เสียเงินไปกับการทำสิ่งนี้ แต่ Tempus ก็ขายสิทธิการใช้งานคลังข้อมูลนิรนามให้แก่บริษัทยาบริษัทประกัน และหน่วยงานวิจัยได้ แม้ Lefkofsky จะไม่เปิดเผยรายได้ แต่เขากล่าวว่า บริษัทได้ค่าใช้งานเป็นตัวเลข 7 หลักจากบริษัทยารักษาโรคมะเร็งรายใหญ่ที่สุด 7 แห่งจาก 10 แห่ง Lefkofsky โหยหาจะเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เรียนที่มหาวิทยาลัย Michigan สาขาประวัติศาสตร์ ขณะเป็นนักศึกษา เขาหาเงินด้วยการขายพรม เมื่อปี 2001 เขาได้ร่วมก่อตั้ง InnerWorkings  จากนั้นได้ก่อตั้ง Echo Global Logistics  และ Mediaocean (ซอฟต์แวร์โฆษณา) ต่อมาพนักงานคนหนึ่งของ Lefkofsky คือ Andrew Mason เสนอไอเดียธุรกิจที่เน้นเรื่อง “การดำเนินงานร่วม” Lefkofsky จึงลงทุน 1 ล้านเหรียญ เพื่อเปิดบริษัทในปี 2008 ซึ่งกลายมาเป็น Groupon หนึ่งปีต่อมาบริษัทมีรายได้ 14.5 ล้านเหรียญ และทำรายได้ 1.6 พันล้านเหรียญในปี 2011 Lefkofsky ใช้เวลา 2-3 ปีลองแตะโครงการอื่นๆ ซึ่งรวมถึง Uptake (การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนายสำหรับอุตสาหกรรมหนัก) แต่เขากล่าวว่า “ผมรู้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า (กับ) ธุรกิจพวกนั้น ผมคงเข้าไปทำไม่นาน” ในปี 2014 แพทย์วินิจฉัยว่า Liz ภรรยาของ Lefkofsky เป็นมะเร็งเต้านม “ผมงงที่หมอใช้งานข้อมูลน้อยมากในการรักษาเธอ” เขาเล่า ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เกิด Tempus ขึ้นในที่สุด (ส่วน Liz นั้น “ก็ค่อยๆ รักษากันไป” Lefkofsky กล่าว) กิจการนี้ของ Lefkofsky ก็ต้องใช้ข้อมูล แต่ในช่วงแรกนักวิจัยส่วนหนึ่งยังลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูล John McPherson รองผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งครบวงจรของ UC Davis (UC Davis Comprehensive Cancer Center) กล่าวว่า “บริษัทอยากให้เราส่งตัวอย่างทั้งหมดจากผู้ป่วยทุกรายไปให้” ในอนาคต “แต่เราทำงานรัดกุมกว่านั้น” และเมื่อศูนย์ลองเปรียบเทียบบริการระหว่าง Tempus กับ Foundation Medicine ในเรื่องการตรวจมะเร็งในระบบทางเดินอาหารปรากฏว่า Tempus ทำผลงานได้ดี ในปี 2017 Tempus ทำสัญญากับสมาคมมะเร็งวิทยาของสหรัฐฯ (American Society of Clinical Oncology) เพื่อสิทธิในการเก็บและจัดระบบข้อมูลผู้ป่วย 1 ล้านราย Tempus กล่าวว่า ทุกวันนี้บริษัทร่วมงานกับแพทย์ด้านมะเร็งในสหรัฐฯ 30% และมีแพทย์จำนวนมากส่งข้อมูลผู้ป่วยและตัวอย่างชิ้นเนื้อมาให้วิเคราะห์ ซึ่ง Tempus หวังว่า จะได้ช่วยแพทย์วิเคราะห์ลำดับเบส 120,000 ตัวอย่างในปีนี้ แม้จะมีข้อมูลดังกล่าวในมือ แต่ Tempus ก็ยังเผชิญการแข่งขันอย่างหนัก ปีที่แล้วยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสอย่าง Roche ทุ่มเงิน 4.3 พันล้านเหรียญ เพื่อซื้อกิจการของ Foundation Medicine และบริษัทบิ๊กดาต้า Flatiron Health อีกทั้งสตาร์ทอัพอย่าง Concerto HealthAI ที่มีมหาเศรษฐี Romesh Wadhwani หนุนหลังก็มีช่องทางเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่ Tempus มีอยู่เช่นกัน McPherson กล่าวว่า แพทย์ที่ UC Davis เพิ่งส่งตัวอย่างให้ Tempus ประมาณ 100 ตัวอย่างเท่านั้นซึ่งน้อยกว่าที่ส่งให้ Foundation อยู่พอสมควร “ผมว่าพวกหมอคงงงกับปริมาณข้อมูลที่ได้กลับคืนมา (จาก Tempus)” McPherson กล่าวว่า แพทย์ที่รักษาผู้ป่วย “มักเลือกเส้นทางที่ง่ายกว่าเพื่อประหยัดเวลา แต่ก็มีหมอหลายคนที่ร่วมงานกับ Tempus ค่อนข้างใกล้ชิดในเรื่องงานวิจัย” Lefkofsky ยังมองธุรกิจนี้ในแง่ดีแบบสุดๆ “ผมรู้สึกว่าเส้นทางในอาชีพนำผมมาสู่จุดนี้” เขากล่าว “ผมอยากให้งานนี้เป็นมรดกที่ผมจะฝากไว้” เรื่อง: Noah Kirsch และ Michela Tindera เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine