กลยุทธ์มาตรฐานของการลงทุนในหุ้นนอกตลาดก็คือ ซื้อด้วยเงินที่หยิบยืมมาและหั่นต้นทุนอย่างไร้ความปรานี หากแต่กำไรมหาศาลจาการลงทุนใน PetSmart และ Chewy สอนให้ Raymond Svider จาก BC Partners ได้เรียนรู้ว่า บางครั้งการกล้าได้กล้าเสียมากขึ้นกลับกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
Raymond Svider ประธานกรรมการของบริษัทลงทุนในหุ้นนอกตลาดอย่าง BC Partners ยังจดจำความรู้สึกกดดันอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับตัวเขาในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสปี 2017 ได้เป็นอย่างดี การลงทุนมูลค่าสูงที่สุดของบริษัทซึ่งก็คือ ร้านค้าปลีกจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงอย่าง PetSmart กำลังเจอกับความผันผวน เทคโนโลยีอันล้าสมัยขององค์กรต้องยกเครื่องใหม่ ประกอบกับต้นทุนก็พุ่งสูงขึ้น
Svider ต้องแบ่งเวลาทำงานระหว่างออฟฟิศของ BC ที่ Madison Avenue ใน Manhattan กับสำนักงานใหญ่ของ PetSmart ใน Phoenix ซึ่งตัวเขาดำรงตำแหน่งรักษาการซีอีโอ ตราสารหนี้ของ PetSmart ก็มีการซื้อขายกันอยู่ที่ราคาร้อยละ 60 เศษของมูลค่าจริง
Svider เดินทางมาถึงสำนักงานใหญ่ใน Phoenix จึงได้รับทราบจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (CIO) ของ PetSmart ว่าธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีหนี้ท่วมนี้มีนโยบายห้ามว่าจ้างพนักงานใหม่ในทุกแผนกเพื่อคงเงินสดไว้ในบริษัท ทำให้ต้องใช้บริการจากผู้รับจ้างที่คิดค่าบริการสูงลิ่ว
“ผมไม่รู้เลยว่าบริษัทมีนโยบายห้ามว่าจ้างพนักงานใหม่” Svider ซึ่งยกเลิกนโยบายนั้นในทันทีและให้โอกาสซีไอโอว่าจ้างพนักงานใหม่ถึง 35 คนเล่าย้อนถึงเรื่องราวในอดีต “เราจำเป็นต้องมีทั้งความฉับไวและความยืดหยุ่น บางครั้งกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดเกินไปก็บังคับให้เราทำสิ่งที่ผิดพลาดเพียงเพราะเราพยายามทำตามกฎที่วางไว้”
ในตอนนั้น Svider แหวกกฎการลงทุนและธุรกิจเกือบทุกรูปแบบ นักซื้อกิจการด้วยเงินกู้ผู้มากฝีมือซึ่งเติบโตขึ้นใน Paris คว้าปริญญาโทสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจาก “สถานศึกษาอันทรงเกียรติ” แห่งหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจาก University of Chicago อย่าง Svider ปัจจุบันมีอายุ 59 ปี เคยรับงาน 2 ตำแหน่งพร้อมกัน โดยทำงานบริหารบริษัท PE มูลค่า (สินทรัพย์) 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ 2 วันต่อสัปดาห์ และใช้เวลาที่เหลืออีก 3 วันดูแล PetSmart ที่มีจำนวนร้าน 1,650 สาขา ซึ่ง BC ทุ่มเงินลงทุนมากถึง 8.7 พันล้านเหรียญในปี 2014
PetSmart ซึ่งมีหนี้ท่วม 6 พันล้านเหรียญจาก LBO รวมกับเงินปันผลอีก 800 ล้านเหรียญที่ Svider ดึงออกไปมุ่งหน้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงหันไปซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์กันหมด กลยุทธ์การลงทุนแบบมาตรฐานจะใช้วิธีการหั่นต้นทุนอย่างไร้ความปรานีเพื่อขุดค้นหาเงินมาจ่ายคืนเจ้าหนี้ หากแต่ Svider กลับเลือกที่จะวางเดิมพันเพิ่มอีกเท่าตัว
Svider พบช่องโหว่ในสัญญาเงินกู้ของ PetSmart ซึ่งเปิดโอกาสให้เขากู้เงินได้มากขึ้นอีก จนทำให้สามารถซื้อกิจการที่มีผลประกอบการขาดทุนของธุรกิจค้าปลีกอาหารสัตว์เลี้ยงผ่านออนไลน์อย่าง Chewy ได้สำเร็จ นำมาซึ่งความไม่พอใจของบรรดาเจ้าหนี้
จากมุมมองของคนอื่นๆ นี่เป็นเหมือนกับการล่มสลายอย่างไม่ทันตั้งตัวของธุรกิจดอทคอมอันดังกระฉ่อนอย่าง Pets.com แห่งศตวรรษที่ 21 หากแต่ Svider ทราบดีว่าเศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้ง Chewy อย่าง Ryan Cohen ทำได้เกินเป้าหมายทางการเงินทุกอย่างที่วางไว้หลายต่อ หลายปีก่อนหน้าที่ทั้งสองจะมีโอกาสได้พบหน้ากัน
ถึงแม้ว่า Chewy จะไม่ทำกำไร แต่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายในช่วงที่บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ Chewy ทำยอดขายได้มากกว่า Amazon ในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง นั่นทำให้ Chewy เป็นสุดยอดกลวิธีในการชุบชีวิตเดิมพันเจ้าปัญหาอย่าง PetSmart
Svider ซึ่งเริ่มต้นด้วยข้อเสนอมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ ลงเอยด้วยการทุ่มเงินสดจำนวน 3 พันล้านเหรียญให้กับ Chewy และเอาชนะคู่แข่งอย่าง Petco ได้ในเดือนเมษายน ปี 2017
ผู้คนที่กังขาพากันส่งเสียงโวยวาย หุ้นกู้ของบริษัทบอบช้ำ และเกิดคดีความฟ้องร้องกันวุ่นวายตามมา
หากแต่ในอีก 4 ปีต่อมาความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโคโรนาได้เปลี่ยนกลยุทธ์ที่แหกกฎเกณฑ์การลงทุนของ Svider ให้กลายเป็นหนึ่งในการทำกำไรก้อนโตที่สุดเป็นประวัติการณ์ในโลกของการลงทุนในหุ้นนอกตลาด
Chewy ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนมีมูลค่ากว่า 3.1 หมื่นล้านเหรียญ และมียอดขายทะยานขึ้นเกือบ 10 เท่าตามประมาณการของปี 2021 ที่ 9 พันล้านเหรียญ ส่วน PetSmart ก็กำลังลดการก่อหนี้ รีไฟแนนซ์หนี้จากการซื้อกิจการตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า นักลงทุนของ Svider รับทรัพย์ก้อนใหญ่ถึง 3 หมื่นล้านเหรียญ
“คุณต้องมีความเด็ดขาดและปรับตัวให้เร็วที่สุด เพราะในโลกธุรกิจทุกประเภทมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในแบบที่คุณคาดไม่ถึง ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญขั้นสุด” Svider ให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษสำเนียงฝรั่งเศสจากแมนชั่นใน Hamptons ซึ่งขณะนี้กลายเป็นสถานที่ทำงานนอกออฟฟิศของเขา Svider พำนักอยู่กับภรรยา ลูก 3 คน และแมวอีก 2 ตัวที่มีชื่อว่า Cashmere และ Pearl
Raymond Svider นักลงทุนมือฉมัง
นักลงทุนผู้ซึ่งศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองอย่าง Svider ก้าวเข้าสู่วงการหลังยุคเฟื่องฟูของการซื้อกิจการด้วยเงินกู้ในช่วงทศวรรษ 1980 ในปี 1989 หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท Svider ได้รับการทาบทามจากนักทำข้อตกลงธุรกิจระดับตำนานอย่าง Bruce Wasserstein และ Joe Perella 3 ปีต่อมา Svider ย้ายไปประจำสาขา Paris ของ Baring Capital Investors ซึ่งเป็นหน่วยซื้อกิจการขนาดเล็กของ Barings Bank ใน London
ในปี 1995 Nick Leeson เทรดเดอร์ตัวป่วนของ Barings บริหารพอร์ตขาดทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญ และทำให้ธนาคารเก่าแก่อายุ 300 ปีต้องล้มละลาย คู่แข่งอย่าง ING ซื้อ Barings ไปในราคาถูกแสนถูก นี่กลายเป็นโชคดีของ Svider ซึ่งทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ก่อตั้ง แผนก Baring Capital แยกตัวและตั้งขึ้นเป็นบริษัทใหม่ รวมถึงเปลี่ยนชื่อเป็น BC Partners
ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 Svider โยกย้ายไป London เพื่อหั่นข้อตกลงธุรกิจโทรคมนาคมทิ้ง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่างในตลาด และในปี 2007 เมื่อ BC Partners ขยายฐานไปในอเมริกาเหนือ Svider ก็กลายเป็นผู้คุมบังเหียน
ข้อตกลงธุรกิจสำคัญครั้งแรกในอเมริกาของบริษัทที่เกิดขึ้นภายในปีเดียวกันนั้นก็คือ การเข้าครอบครองกิจการของผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมที่มีหนี้ก้อนโตอย่าง Intelsat ซึ่งกลายเป็นข้อตกลงธุรกิจเจ้าปัญหาแทบจะในทันที จนกระทั่งบริษัทยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม Svider ทำเงินได้มากกว่าทำพลาดหลายต่อหลายเท่า
คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Svider ก็คือ ความสมัครใจพร้อมวางเดิมพันก้อนโตตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่งก็คือ GFL Environmental บริษัทจัดการของเสียใน Toronto ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการชาวแคนาดาอย่าง Patrick Divogi ในปี 2018 BC Partners อัดฉีดเงินเพื่อปรับโครงสร้างบริษัทแห่งนี้เป็นจำนวน 2 พันล้านเหรียญ BC Partners ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 40 ในบริษัทและมองหาโอกาสที่จะขยายตลาดในอเมริกาด้วยการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ
ในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา GFL อยู่ระหว่างวางแผนเสนอขายหุ้น IPO โดย Svider แนะนำให้ Divogi เดินหน้าต่อถึงแม้ว่าตลาดจะมีความผันผวนก็ตามที GFL ตั้งราคาหุ้น IPO ไว้ที่ 19 เหรียญต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาก่อนการระบาดของไวรัสตัวร้ายซึ่งอยู่ระหว่าง 20-21 เหรียญ GFL เป็นบริษัทเพียง 1 ใน 5 แห่งที่เสนอขายหุ้น IPO ในเดือนมีนาคม ปี 2020 Svider เชื่อว่าการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยให้ GFL ได้รับประโยชน์จากความไม่แน่ไม่นอนของตลาดที่จะเกิดขึ้น
หลังจากที่ราคาหุ้นหล่นลงไปอยู่ที่ 13 เหรียญต่อหุ้นในช่วงแรก ราคาหุ้นของ GFL ก็ดีดกลับและปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เนื่องจากบริษัทได้ซื้อทรัพย์สินจาก Waste Management ใน Houston และจากคู่แข่งรายอื่นๆ ปัจจุบันการถือหุ้นใน GFL ของ BC Partners มีมูลค่าเกือบ 5 พันล้านเหรียญ หรือเกือบ 3 เท่าของเงินลงทุนในยุคเริ่มแรก “Raymond มีความสามารถพิเศษไม่เหมือนใครในการหาทางลัดใน BS และให้ความสำคัญกับภาพรวม” Divogi กล่าว
ถึงแม้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาช้านานของการลงทุนในหุ้นนอกตลาดก็คือ การรับรู้กำไรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากแต่ Svider กลับดูเหมือนไม่สนใจจะบอกขาย Chewy เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาราคาหุ้นของ Chewy ได้ปรับลดลงจาก 96 เหรียญมาอยู่ที่ 75 เหรียญ และทำให้เงินหดหายไปราว 7 พันล้านเหรียญ เนื่องมาจากกระแสความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาชะลอตัวลง BC Partners ถือกรรมสิทธิ์ร้อยละ 70 ในหุ้นที่ปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 2.5 หมื่นล้านเหรียญ
Svider ยังมีกลเม็ดเด็ดพรายสู่การเป็นผู้กำชัยในตลาดสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงเหลืออยู่อีกอย่างหนึ่งนั่นก็ คือ การเสนอขายหุ้น IPO ของ PetSmart ซึ่งจะมีมูลค่าตามประมาณการอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ
รายได้ของบริษัทซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีแต่ปัญหาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 เป็น 2.3 พันล้านเหรียญ และในครึ่งปีแรกมีกระแสเงินสดอิสระอยู่ที่ 342 ล้านเหรียญ หุ้นกู้ของ PetSmart ซึ่งในอดีตเคยบอบช้ำ ปัจจุบันก็มีราคาซื้อขายสูงกว่าราคาพาร์
Svider ซึ่งกำลังให้ความสนใจตลาดสินค้าและบริการเพื่อดูแลสุขภาพยืนยันว่า ตลาดสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงยังคงมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
นี่หมายความว่าเขากำลังมองหาหนทางจากลาไปอย่างเร็วที่สุดพร้อมกับความมั่งคั่งใช่หรือไม่ Svider กล่าวตอบว่า “ไม่จำเป็นเลย เราไม่รู้สึกว่าเราต้องรีบร้อนแบบนั้น”
เรื่อง: Antoine Gara เรียบเรียง: ริศา ภาพ: Gabby Jones
อ่านเพิ่มเติม:- ‘Bilbo’ โกยเงินให้ Peter Jackson นับพันล้าน
- พีระภัทร ศิริจันทโรภาส “SHARGE” เปิดทางลัดติดสปีด EV
- ยินดีต้อนรับสู่ นิวยอร์ก มหานครแห่งกัญชา
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine