แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากเทรนด์พลังงานสะอาดทั่วโลก ได้ฉายชัดถึงโอกาสสตาร์ทเครื่องธุรกิจสถานีชาร์จ EV ยกระดับสมรรถนะร่วมเส้นทางขับเคลื่อนอนาคต พร้อมจับมือพันธมิตรเติมเต็มไลฟ์ที่เปลี่ยนแปลงปลดล็อกข้อจำกัดถนนปลอดมลพิษ
นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงเปลี่ยนอนาคตการใช้พลังงานทั่วโลก แต่ยังสามารถจุดประกายความคิดให้นักศึกษาไทยในต่างแดนเกิดแรงบันดาลใจและเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในระหว่างการเดินทางจากที่พักอาศัยไปยังมหาวิทยาลัย ขณะกำลังศึกษาปริญญาตรีในหลักสูตร Science, Economics and Finance ของ Bentley University ที่ Massachusetts สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะประเทศในโซนยุโรปที่สนับสนุนทางเลือกการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นยานยนต์แห่งอนาคตเพื่อลดมลพิษสิ่งแวดล้อม “จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสนใจใน EV charging เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยช่วงที่ต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่ Tesla กำลังเริ่มทำตลาดในอเมริกา ทำให้มีโอกาสได้ผ่านโชว์รูมของ Tesla ทุกวันประกอบกับเป็นคนที่ชื่นชอบรถยนต์อยู่แล้ว จึงได้จุดประกายความคิดในการทำธุรกิจ เกี่ยวข้องกับ EV โดยเฉพาะการเป็นผู้ให้บริการ EV charging เพราะคิดว่าเป็นธุรกิจที่น่าจะเติบโตขึ้นในอนาคตควบคู่ไปกับ EV" พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SHARGE กล่าวถึงความสนใจในการเริ่มต้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจากเทรนด์ความนิยมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และโอกาสจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ชาร์จรถ EV กว่า 80% ในโครงการที่พักอาศัย บ้านเดี่ยว และแหล่งไลฟ์สไตล์ ห้างสรรพสินค้า ตึกออฟฟิศ และศูนย์ประชุมต่างๆ ดังนั้น พีระภัทรจึงตัดสินใจเริ่มต้นก่อร่างธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน ปี 2561 โดยจัดจำหน่ายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ quick charge สำหรับที่พักอาศัย และให้บริการหัวชาร์จรถไฟฟ้าทั้งในโครงการที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ชั้นนำ รวมถึงให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานของ EV charging อันดับ 1 ของไทย นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการ total solution เชื่อมโยงผู้ใช้บริการด้วยแอปพลิเคชัน SHARGE ซึ่งพัฒนาขึ้นให้สามารถค้นหาและจองสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าทั้งของ SHARGE และครอบคลุมทุกสถานีที่ทุกแบรนด์สามารถใช้งานร่วมกัน การแจ้งข้อมูลเวลาการชาร์จให้ผู้ใช้งานคันต่อไปสามารถควบคุมเวลาเข้าชาร์จ รวมถึงค่าจองที่สามารถนำไปจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าในการชาร์จได้ “ก้าวแรกในการก่อตั้งบริษัทถือว่ามีความท้าทายและยากที่สุด เพราะจุดเริ่มต้นของ SHARGE เกิดขึ้นเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้น EV ยังถือว่าเป็นของใหม่ สังคมไทยยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับ EV มากนัก การรับรู้ยังจำกัดอยู่ในเฉพาะบางกลุ่ม แต่ในปัจจุบันถือว่าการตอบรับ EV ของคนไทยเริ่มดีขึ้นและมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการนำเข้า EV จากจีนและยุโรป รวมถึงสนับสนุนด้านภาษีการนำเข้า EV จากจีน ทำให้คนไทยเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความท้าทายเพราะยังถือเป็นธุรกิจที่ใหม่กับสังคมไทย”- Lifestyle Charging Ecosystem -
แม้จะพบปัญหาและอุปสรรคตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ท แต่พีระภัทรยังคงเชื่อมั่นในโอกาสที่รอวันฉายแสง จนกระทั่งได้รับแรงหนุนจากพันธมิตรธุรกิจที่เล็งเห็นเทรนด์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุนของ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) รวมถึง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ของไทยที่สนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรผู้ถือหุ้นรายใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและความพร้อมในการพัฒนาการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น “จากจุดเริ่มต้นของบริษัทจนถึงปัจจุบัน เราต้องการสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศต่อการเติบโตของรถ EV ในประเทศไทย ด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถ EV อย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบของการจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จสำหรับติดตั้งตามที่อยู่อาศัยและแหล่งไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพัฒนาสถานีชาร์จ (EV charging station) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” พีระภัทรกล่าวถึงการวางกลยุทธ์ Lifestyle Charging Ecosystem เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืนควบคู่กับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเน้นการจับมือพันธมิตรหลากหลายกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชันการชาร์จให้กับพันธมิตร เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งตามพฤติกรรมของผู้บริโภค 3 กลุ่ม ได้แก่ night, day และ on the go สำหรับ night เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่เน้น การชาร์จที่บ้าน ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 80% ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ส่วน day เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น การชาร์จตามศูนย์การค้าแหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ สถานศึกษา และอาคารสำนักงาน โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ซึ่งบริษัทได้จับมือกับศูนย์การค้า 9 แบรนด์ และลงทุนร่วมกับค่ายรถยนต์ 2 แห่งติดตั้งหัวชาร์จที่ศูนย์การค้าและโชว์รูม รวมถึง on the go เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัดหรือการท่องเที่ยว โดยมีสัดส่วนน้อยที่สุดประมาณ 5% “เราได้ร่วมมือกับบรรดาบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย 5 รายในการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จให้กับโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภท ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ทำให้ปัจจุบันมีหัวชาร์จครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 25,000 ครัวเรือน” ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสามารถให้บริการแบบ high power charging station ที่มีเครื่องชาร์จกำลังชาร์จสูง 350 กิโลวัตต์ ใช้ระยะเวลาในการชาร์จต่ำสุด 10 นาที ซึ่งถือเป็นการให้บริการที่เร็วที่สุดในประเทศไทย จากปัจจุบันที่ SHARGE มีสถานีบริการที่มีกำลังชาร์จสูง 120 กิโลวัตต์ และใช้เวลาชาร์จต่ำสุด 25 นาที “เรามีความแข็งแกร่งทั้งในแง่เงินทุนและการควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้งและเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ มีความคล่องตัวสูงพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง” พีระภัทรย้ำจุดแข็งของบริษัท- เร่งเครื่อง 3 พันล้านใน 5 ปี -
บนเส้นทางธุรกิจที่ได้รับการวางกลยุทธ์การขับเคลื่อนอย่างชัดเจน ด้วยโรดแมปสร้างการเติบโตด้านยอดขาย 3 พันล้านบาทใน 5 ปี เริ่มขยับเข้าใกล้เส้นชัยมากขึ้นหลังการจับมือกับ 4 พันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งช่วยสนับสนุนให้บริษัทสามารถขยายสถานีในทำเลศักยภาพ ทำให้ผู้ใช้ EV เข้าถึงง่าย และสามารถให้บริการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น “ปัจจุบันเรามี strategic partner ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชันการชาร์จ EV ให้กับพันธมิตรเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจง” อย่างไรก็ตามการให้บริการหลักยังคงเน้นกลุ่ม night ซึ่งต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จตามที่พักอาศัย เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ใช้มักจะชาร์จไฟฟ้าขณะจอดรถในที่พักอาศัยช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นการสร้างระบบนิเวศเพื่อช่วยกันผลักดันการใช้ EV ของไทยให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการช่วยให้ผู้ใช้ EV เข้าถึงที่ชาร์จได้เพียงพอถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันให้ EV เติบโต ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว “SHARGE ไม่ได้หวังเพียงแค่การเติบโตและความสำเร็จทางธุรกิจเท่านั้น แต่เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อน ecosystem ของธุรกิจ EV ในประเทศ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถ EV ให้ได้มากที่สุด โดยเราต้องการสร้างโมเดลในการปฏิรูปวงการที่อยู่อาศัย และสนับสนุนให้การใช้รถ EV ในไทยให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้รถ EV อยู่ที่การเข้าถึงหัวชาร์จ ดังนั้น หากภาคอสังหาฯ และค่ายรถยนต์ร่วมกันสนับสนุนเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเรือนกระจกในประเทศไทยก็มาจากภาคการขนส่งถึง 27%” พีระภัทรย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งในปัจจุบันได้มีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เรื่องมาตรการส่งเสริมการนำเข้า EV จากต่างประเทศ จะทำให้ราคารถยนต์นำเข้าที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทยมีราคาลดลงมาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่มีผลต่อเนื่องถึงการชาร์จ EV โดยคาดการณ์การเติบโตทางธุรกิจควบคู่กัน 10 เท่าในปี 2574 และจะเกิดการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จมากขึ้น ด้วยเป้าหมายการเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งกระแสสลับ (AC charging) และกระแสตรง (DC charging) เพิ่มมากขึ้นเป็น 213 สถานี หรือกว่า 1,200 หัวจ่ายในปี 2565 ภายใต้หลักการทำงานที่มุ่งเน้น “focus” การดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและทบทวนการทำงานทุกกระบวนการเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ “discipline” ความมีวินัย ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จทั้งการใช้ชีวิต และการบริหารองค์กรที่ต้องให้ความสำคัญกับแต่ละไมล์สโตนที่กำหนดไว้ รวมถึง “speed” ที่สามารถดำเนินการและชิงส่วนแบ่งตลาดได้อย่างรวดเร็วภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจนและวินัยในการทำงานหรือการใช้ชีวิต “การบริหารงานเราให้ความสำคัญกับ focus, discipline, speed เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดเล็ก เราต้องมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เราทำและขยับตัวอย่างว่องไว ให้ความเร็วในการออกสู่ตลาดเหนือกว่าผู้แข่งขันอื่นๆ เช่น ผมต้องแน่ใจว่าจะมีเวลาในการพูดคุยและการให้คำปรึกษาในทุกเรื่องกับทีมงานของผม และที่สำคัญผมต้องมองไปข้างหน้า วิเคราะห์และคาดการณ์ว่า วันถัดไป สัปดาห์ถัดไป SHARGE เราจะมุ่งเน้นในเรื่องใดเป็นพิเศษ นอกเหนือจาก milestones ที่วางไว้ หากทีมต้องทำงานเกินเวลาหรือในช่วงสุดสัปดาห์ ผมก็จะอยู่กับพวกเขาตลอด นี่คือ culture ที่ SHARGE” ภาพ: บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด อ่านเพิ่มเติม:- แสนสิริ เดินหน้าพันธกิจ NET-ZERO ในปี 2565
- พฤกษา ปรับทัพทุ่ม 3.5 พันล้านบาท ลงทุนสตาร์ทอัพ
- การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีฮ่องกง ประจำปี 2022
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine