จากวง E Street สู่ถนนทำเงินของ “Bruce Springsteen” - Forbes Thailand

จากวง E Street สู่ถนนทำเงินของ “Bruce Springsteen”

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jul 2022 | 08:00 PM
READ 3082

Bruce Springsteen ขายแคตตาล็อกเพลงของเขาได้เกือบ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในการทำข้อตกลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับการซื้อผลงานของนักดนตรี แต่ศิลปินฉายา The Boss นายใหญ่แห่งวงการอเมริการ็อกผู้นี้ก็ยังไม่ใช่คนบันเทิงรายได้สูงที่สุดแห่งปี 2021

เมื่อ 40 ปีก่อนหลังจาก Bruce Springsteen กลับจากทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐฯ และยุโรปสำหรับอัลบั้มฮิตอันดับ 1 ชุดแรกของเขา The River เขากลับไปบ้านไร่ที่เขาเช่าอยู่ในรัฐ New Jersey ไม่ไกลจากเมือง Freehold เมืองผู้ใช้แรงงานที่เขาโตมา แล้วก็เอาเงิน 10,000 เหรียญไปซื้อของฟุ่มเฟือยชิ้นแรก นั่นคือรถ Chevy Z28 Camaro รุ่นปี 1982 “ผมไม่เคยมีรถใหม่มาก่อนเลยในชีวิต” เขาเขียนถึงการให้รางวัลตัวเองครั้งนั้นไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติที่ตีพิมพ์ในปี 2016 ชื่อ Born to Run (เกิดมาเพื่อวิ่ง) “ผมไม่เคยซื้อของให้ตัวเองเป็นหมื่นเหรียญมาก่อน มันรู้สึกเหมือนตกเป็นเป้าสายตาอย่างกับผมกำลังขับ Rolls-Royce ทองคำอยู่เลย” แต่วันนี้ชายผู้เคยร้องเพลงว่า ได้พบกับดวงวิญญาณของ Tom Joad จะซื้อรถหรูเป็นขบวนก็ยังไหว เพราะเมื่อเดือนธันวาคม The Boss ขายงานต้นฉบับและสิทธิในการเผยแพร่เพลงที่เขาบันทึกเสียงไว้และเพลงที่เขาเขียนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอัลบั้มระดับแพลตินัม 11 ชุด และซิงเกิลระดับทองคำ 5 ชุด ด้วยราคาที่แหล่งข่าวบอกว่า เกือบ 500 ล้านเหรียญ Forbes จึงประเมินว่า เขามีรายได้รวมตลอดชีวิตไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญก่อนหักภาษี โดยผู้ซื้อคือ Sony Music Group บริษัทแม่ของ Columbia Records ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่เขาอยู่ด้วยมานาน ข้อตกลงครั้งใหญ่นี้ช่วยส่งให้เจ้าของรางวัล Grammy 20 สมัยได้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในทำเนียบคนบันเทิงรายได้สูงสุดแห่งปี 2021 ตามหลัง Peter Jackson ผู้กำกับ Lord of the Rings ซึ่งได้เงินสดไป 600 ล้านเหรียญจากการขายส่วนหนึ่งในบริษัทวิชวลเอฟเฟ็กต์ของเขาด้วยราคา 1.6 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤศจิกายน จนทำให้ Jackson กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน The Boss ไม่ใช่ขาร็อกคนเดียวที่การเงินกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ยังมีศิลปินรุ่นคลาสสิกคนอื่นๆ อีกที่อู้ฟู่เพราะขายแคตตาล็อกเพลงได้ในปีที่แล้ว ทั้ง Bob Dylan, Paul Simon และ Neil Young โกยเงินไปรวม 500 ล้านเหรียญก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งมากพอจะช่วยให้แต่ละคนได้เข้ามาอยู่ในอันดับของปีน “ข้อตกลงธุรกิจพวกนี้ไม่มีใครต้องสู้รบตบมือกัน” Jon Landau ซึ่งเป็นผู้จัดการของ Springsteen มาเกือบครึ่งศตวรรษกล่าว “ทุกคนได้ผลประโยชน์ในส่วนของตัวเอง” วันรับทรัพย์ครั้งมโหฬารเช่นนี้ วันรับทรัพย์ครั้งมโหฬารเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนจัดการมรดกพอๆ กับที่เกี่ยวข้องกับเพลงอมตะเพราะศิลปินเหล่านี้ ซึ่งอายุ 70-80 ปีกันหมดแล้วจะได้เงินรองรังมาให้อุ่นใจ และมีรายได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการทัวร์คอนเสิร์ต อีกทั้งยังเป็นวิธีหาเงินอย่างฉลาดในช่วงที่ตลาดเพลงกำลังคึกคัก โดยชิงขายก่อนที่ภาษีน่าจะขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ซื้อก็วางเดิมพันกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจคอนเทนต์ดิจิทัล และความต้องการเนื้อหายอดนิยมที่ไม่มีวันตกยุค “เพลงชั้นยอดกลายเป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ ซึ่งสร้างรายได้อย่างแน่นอนและมั่นคง” Merck Mercuriadis ผู้ก่อตั้ง Hipgnosis Songs Fund กล่าว กองทุนนี้จ่ายเงินไปแล้ว 2.5 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อเพลงจากศิลปินอย่าง Shakira, The Chainsmokers และใช่ มี Neil Young ด้วย Hipgnosis เป็นหนึ่งในนักลงทุนกลุ่มแรกที่โดดเข้ามาเล่นกับกระแสคลั่งแคตตาล็อกเพลง แต่ตอนนี้ค่ายเพลงใหญ่อย่าง Sony และ Universal ก็กำลังทุ่มเงินหลายพันล้านเพื่อซื้อเพลงโดยมีเงินสนับสนุนจากบริษัทไพรเวทอิควิตี้ซึ่งรวมถึง Apollo, Blackstone และ KKR ผู้ซื้อเหล่านี้ควักเงินจ่ายไปแล้วตั้งแต่ 15-30 เท่าของรายได้เฉลี่ย 3 ปีที่แคตตาล็อกเหล่านี้ทำได้ คลังเพลงไม่ใช่คอนเทนต์ประเภทเดียวที่ขายเหมาแล้วได้ราคาดีกว่าขายแยกมาก 2 ปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหญ่ใช้เงินไปแล้วประมาณ 3.7 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อสิทธิในรายการทีวีฮิตอย่าง Friends, Seinfeld, The Office และ Law & Order “ทุกวันนี้มีทางเลือกเยอะมาก” Tom Freston กล่าว เขาเป็นอดีตผู้บริหารของ Viacom ซึ่งเปิดไฟเขียวให้ทำ South Park (ดูในรายชื่อ) “แต่ผู้คนจะถูกดึงดูดเข้าหาสิ่งที่พวกเขารู้จัก” แม้จะยังมีคลังเพลงล้ำค่าเหลือให้ซื้ออีกเยอะ รวมถึงเพลงของ Rolling Stones, Pink Floyd และ The Eagles แต่สิ่งที่เรายังไม่รู้คือ คลังเพลงเหล่านั้นจะเกิดมาเพื่อทำกำไรด้วยหรือไม่   โดย: LISETTE VOYTKO และ STEVEN BERTONI เรียบเรียง: ROB LAFRANCO เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: DANNY CLINCH อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine