"ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล" เป็นที่รู้จักในบทบาทผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท คอสโม กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกกล่องบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์วางแสดงสินค้า นาฬิกา เครื่องประดับ สำหรับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก แต่หมวกอีกใบที่สร้างความสุขตลอด 70 ปีให้กับชายผู้นี้ คือการถ่ายภาพ ซึ่งภาพนับหมื่นภาพในวันนี้ ไม่สามารถประเมินค่าได้
ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล เป็นน้องคนสุดท้องของตระกูลมหาดำรงค์กุลรุ่นบุกเบิกธุรกิจนาฬิกาในประเทศไทยในนามบริษัท ศรีทองพาณิชย์ จำกัด ซึ่งตระกูลมหาดำรงค์กุลเริ่มตั้งหลักได้ จึงส่งชัยโรจน์ไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ London University ประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสเรียนสาขาถ่ายภาพที่ Saint Martin's School of Art ประเทศอังกฤษควบคู่ไปด้วย เนื่องจากรักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ “ผมต้องเรียนให้ได้ลำดับที่หนึ่งถึงห้าพี่ของผมถึงจะซื้อกล้องถ่ายรูปไห้” ชัยโรจน์เล่าถึงความหลังสมัยไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ และจากกล้องตัวนั้น ทำให้เขามีรายได้จากการถ่ายภาพเป็นครั้งแรกอย่างไม่ตั้งใจ จากการฝึกถ่ายภาพในพาร์ค 3 แห่งที่ประเทศอังกฤษ ได้แก่ London Fields, Hyde Park และ Kensington Park ซึ่งภาพเหล่านั้นถูกใจครอบครัวชาวอังกฤษที่มาพักผ่อนหย่อนใจในพาร์คจนต้องขอซื้อไปเก็บไว้ และถูกว่าจ้างให้ถ่ายภาพมากขึ้น จนทำให้ชัยโรจน์มีรายได้ที่มากพอจะซื้อรถสปอร์ตได้ 1 คันในสมัยนั้นการถ่ายภาพ คือความสุข
การถ่ายภาพกระตุ้นให้นักธุรกิจอย่าง ชัยโรจน์ ให้มีชีวิตชีวา ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เขาให้ความสำคัญและแบ่งสรรเวลาอย่างจริงจังไม่แพ้ธุรกิจหลักอย่าง บริษัท คอสโม กรุ๊ป ทุกสัปดาห์หลังเลิกจากงานประจำ เขาจะสะพายกล้องไปถ่ายภาพร่วมกับสมาคมช่างภาพ แต่ละสถานที่ที่ไป แม้จะยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่เคยหวั่น ชัยโรจน์ เล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งต้องเดินทางเข้าไปในป่าที่ลึกมากเพื่อจะให้ได้ภาพ แสง และมุมที่ต้องการเดินทางเข้าไปไกลมากจนเมื่อถ่ายภาพเสร็จไม่รู้ว่าจะเดินทางกลับออกมาได้อย่างไร “สำหรับผม การถ่ายภาพเหมือนได้ผ่อนคลาย ยิ่งภาพที่ได้เป็นภาพที่เรียกว่า Pictorial Art ก็จะยิ่งมีกำลังใจ หรืออย่างภาพชุดเห็ด ต้องใช้เวลาถ่ายถึง 4 ปี” ชัยโรจน์เล่าพร้อมกับหัวเราะกับความพยายามสมัยหนุ่มที่บุกตะลุยเข้าไปถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ ชัยโรจน์ กล่าวว่า สำหรับเขาการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ชอบ การถ่ายภาพเป็นสิ่งที่รัก การทำธุรกิจที่ชอบทำให้ตั้งใจทำงานออกมาให้ดีที่สุด การบริหารจัดการ การมอบหมายงานให้กับพนักงาน ทุกรายละเอียดต้องให้ความสำคัญ เวลาว่างก็ไปถ่ายภาพ กับกลุ่มสมาคมช่างภาพ ทำในสิ่งที่รักกับคนที่ชอบเหมือนๆ กัน ทำให้สนุก ได้ผ่อนคลาย และกระตุ้นให้มีพลังใจ พลังกายที่จะกลับมาทำงานต่อให้สำเร็จ ทุกวันนี้ ในวัย 85 ปี ชัยโรจน์ ยังเข้าบริษัทเกือบทุกวันเพื่อประชุมร่วมกับทีมบริหาร ซีอีโอ ของคอสโม กรุ๊ป และกรรมการบริหาร ประกอบด้วยทายาททั้ง 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เกรซ มหาดำรงค์กุล เกรซ เล่าว่า คุณพ่อ (ชัยโรจน์) มีความเป็นห่วงธุรกิจ ไม่เคยขาดการไปออฟฟิศ แม้กระทั่งช่วงโควิด และพูดเสมอว่าต้องการให้ลูกๆ ดูแลอาณาจักรธุรกิจของคอสโม กรุ๊ปให้เติบโตต่อไป ซึ่งตน พี่สาว และน้องชาย ก็ช่วยกันบริหารงาน แม้ช่วงโควิดจะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากสินค้าที่คอสโม กรุ๊ปผลิตเป็นสินค้าลักชัวรี แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและอยากสร้างความสุขให้คุณพ่อด้วยการจัดแสดงงานภาพหาดูยากที่สะสมไว้ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา และภาพส่วนหนึ่งถูกจัดแสดงไว้ที่บริษัท คอสโม กรุ๊ปจากงานอดิเรกสู่ช่างภาพระดับโลก
เส้นทางการถ่ายภาพของ ชัยโรจน์ นั้น ไม่ใช่แค่เป็นงานอดิเรกธรรมดา หลายภาพได้รับรางวัลระดับโลกซึ่งในวงการสมาคมถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศ ชื่อ ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ปรากฏบ่อยครั้งในฐานะผู้ได้รางวัล และร่วมนิทรรศการภาพถ่ายทั่วประเทศ อาทิ รางวัลประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศ ครั้งที่ 19 ปี 2543 รางวัลตุ๊กตาทองประเภทภาพสี ชื่อภาพ “เขิน” สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลภาพชุดยอดเยี่ยมในประเทศการประกวดภาพสไลด์ นานาชาติครั้งที่ 14 ในปี 2544 ตลอดจนได้รับรางวัลจากสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ ให้เป็น PSA : World Top Ten Photographer Ranking 1st of 2006 PT – Color Print รวมถึงได้รับมอบเกียรติคุณทางการถ่ายภาพมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PSA 5 Stars Photographer 2009 ของสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (PSA - Photographic Society of America) ซึ่งเป็นการประกวดภาพทั่วโลกสะสมคะแนนจากระดับดาวที่ 1-5 โดยชัยโรจน์เป็นเพียงหนึ่งในสองคนไทยที่ได้ถึงดาวที่ 5 ของสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริกา ชัยโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการถ่ายภาพที่เป็น Pictorial Art ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ ความหมายของภาพ Pictorial Art คือการถ่ายภาพที่มีวิจิตรศิลป์ งดงามและเล่าเรื่องได้ หมายถึงการการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพเดียว ภาพ Pictorial Art ที่เขาประทับใจมาก คือ ภาพพระธุดงค์ปักกลด และภาพที่สอง คือภาพเรือสุพรรณหงส์ในงาน APEC ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชานุญาตให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในช่วงกลางคืน “ภาพเรือสุพรรณหงส์มีผมคนเดียวที่ได้ภาพที่สมบูรณ์ที่สุด จากช่างภาพชาวไทยและต่างประเทศหลายสิบคนที่ไปถ่ายครั้งนั้นในการประชุม APEC จนกระทรวงต่างประเทศต้องมาขอซื้อให้เป็นภาพประวัติศาสตร์” ชัยโรจน์เล่าอย่างภูมิใจ นอกจากนี้ มีโอกาสได้ตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถ่ายภาพกรณียกิจต่างๆ เพื่อจัดทำหนังสือครบรอบ 72 พรรษา ซึ่งส่วนหนึ่งสำนักราชเลขาธิการ ได้ขอภาพถ่ายไปแสดงในงานนิทรรศการครบรอบ 90 พรรษาในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและเป็นความทรงจำที่ประทับใจของชัยโรจน์และตระกูลมหาดำรงค์กุลเป็นอย่างยิ่งถ่ายทอดวิชาถ่ายภาพ Pictorial Art
ทุกวันนี้ ชัยโรจน์สนุกกับการเป็นวิทยากรพิเศษถ่ายทอดความรู้ทางการถ่ายภาพ และแนะแนวการศึกษาให้นักเรียนมัธยมปลายตามโรงเรียน รวมไปถึงสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อสอนให้คนรุ่นหลังรู้จักและเข้าใจศาสตร์ของ Pictorial Art ขณะที่รูปภาพกว่าหมื่นภาพที่สะสมไว้กว่า 70 ปีที่ผ่านมา วางแผนมอบให้หอสมุดแห่งชาติเพื่อสาธารณประโยชน์ “ผมอยากให้ลูกหลานได้เห็นแบบเดียวกับที่เราเคยเห็น รถราง ตึกสองชั้น ไม่มีตึกสูง ภาพงานประเพณีอย่างวิ่งควายชลบุรี วัวเทียมเกวียน หรือภาพนครวัด เดี๋ยวนี้ไม่มีช่างแกะสลักได้ ผมนำออกมาจัดแสดง แล้ววันหนึ่งจะมอบให้หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเขามีที่เก็บรักษาอย่างดี เป็นการทำคุณประโยชน์ดีกว่าเก็บไว้เอง หลายภาพไม่ได้ออกสู่สายตาเลย ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ ณ เวลานั้น ซึ่งมันผ่านไปแล้ว เป็นประวัติศาสตร์แล้ว” ชัยโรจน์กล่าวทิ้งท้ายไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine