เรื่อง: Christopher Heiman เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
“มันก็ดูเหมือนกองขยะดีๆ นี่แหละครับ” David Steiner ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Waste Management กล่าว เขาหมายถึงโรงงานรีไซเคิลของบริษัทที่ Houston เครื่องจักร Rube Goldberg ขนาด 40,000 ตารางฟุตที่กำลังทำงาน ทั้งส่งเสียงดัง กลิ่นเหม็น และฝุ่นคลุ้งออกมา มันทำหน้าที่จัดการขยะวันละ 300 ตัน วัตถุต่างๆ ปลิวจากสายพานหนึ่งไปยังอีกสายพานหนึ่ง แม่เหล็กดูดกระป๋องโลหะออกมาขณะที่จอสกรีนคอยแยกกระดาษแข็งและกระดาษทั่วไป ส่วนเซนเซอร์ชนิดแสงส่งสัญญาณให้เครื่องเป่าลมทำงานเพื่อส่งขวดเข้าสู่รางของมัน
อันที่จริง 15% ของขยะที่ชาวเมืองทิ้งใส่ถังรีไซเคิลนั้นควรจะลงไปอยู่ในถังขยะทั่วไปมากกว่า คนงานสวมผ้ากันฝุ่นยืนเรียงขนาบข้างสายพานเพื่อคอยหยิบขยะพวกนี้ออกมา “ผู้คนมีเจตนาดีครับ” Steiner ยอมรับแต่การจัดมอบถังขยะรีไซเคิลที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมที่นับเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้คนรีไซเคิลกันได้ง่ายขึ้นนั้น อาจจะนำมาสู่ “ผลลัพธ์ที่ไม่เจตนา” ได้ พาลให้พวกเขาทุกคนก็คงอยากจับทุกอย่างไปรีไซเคิลกันหมด ถุงหิ้วพลาสติกนี่แหละตัวดีเลยพวกสายยางในสวนก็เหมือนกันมันเข้าไปพันรอบเครื่องจักร ทำให้งานติดขัด “ทำให้เครื่องหยุดทำงาน เป็นอุปสรรคต่อการรีไซเคิลของที่มีค่าจริงๆ” Steiner อธิบาย
ปัจจุบัน เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา เนื่องจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ รีไซเคิลเคยเป็นตัวอย่างของธุรกิจจากการทำความดีแล้วได้ดีนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังทำกำไรได้อีกด้วย ในปี 2014 เมื่อประเทศจีนยังคงต้องการนำเข้ากระดาษ อะลูมิเนียมและโลหะที่ผ่านการใช้งานไปเพียงเล็กน้อยจากเรา คุณอาจจะทำเงินได้เฉลี่ยอย่างน้อยๆ ก็ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการรีไซเคิลขยะจากที่อยู่อาศัยทั่วไป 1 ตัน นับว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายในกระบวนการแปรรูปซึ่งอยู่ที่ 80 ล้านเหรียญได้สบายๆ อีกทั้งยังเหลือคิดเป็นกำไรงามๆ ให้กับผู้ถือหุ้นของ Waste Management ด้วย
แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการลดลงตามไปด้วย อีกทั้งปริมาณน้ำมันที่มีอยู่เหลือเฟือยังทำให้การผลิตพลาสติกใหม่มีราคาถูกกว่าของรีไซเคิล ประเทศจีนถึงกับออกมาตรการที่เรียกกันว่า “Green Fence” เพื่อยกระดับมาตรฐานการนำเข้าวัสดุรีไซเคิลจากสหรัฐฯ ในปัจจุบัน หากวัสดุรีไซเคิลหลากหลายชนิดรวมกัน 1 ตันแล้วยังทำเงินได้สัก 80 เหรียญซึ่งเป็นมูลค่าเท่ากับต้นทุนการผลิตสิ่งของพวกนี้่ก็นับว่าหรูมากแล้ว Waste Management วางนโยบายสำหรับลูกค้าองค์กรเทศบาลเอาไว้ว่า “เมื่อราคาสูง เราจะจ่ายเงินเพื่อให้คุณรีไซเคิล แต่เมื่อราคาตกต่ำ เราจะต้องเรียกเก็บเงินจากคุณ” Steiner กล่าว
ในสมัยที่สินค้าโภคภัณฑ์กำลังรุ่งเรืองนั้น Waste Management เคยสร้างกระแสเงินสดหลังหักภาษีจากธุรกิจรีไซเคิลได้ราวปีละ 150 ล้านเหรียญ และลงทุนในการรีไซเคิลปีละ 100 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา บริษัทมีรายได้จากการรีไซเคิลลดลง 20% เหลืออยู่ที่ 1,200 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา (จากยอดขายรวมทั้งสิ้น 13,000 ล้านเหรียญ โดยมากแล้วมาจากการเก็บขยะตามปกติ) Steiner จึงต้องปิดปากแผลด้วยการหั่นลดโครงการริเริ่มเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ขาดทุน ขายธุรกิจเตาเผาขยะออกไปเป็นเงิน 2,000 ล้านเหรียญ และเก็บเครื่องรีไซเคิลไว้เพียง 22 เครื่องจากทั้งหมด 126 เครื่อง ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมาบริษัทขอเจรจาสัญญาใหม่กับเทศบาล 150 แห่ง “ตอนนี้เราทำเงินได้ 40-50 ล้านเหรียญและไม่ได้ลงทุนอะไรใหม่เลย” Steiner เผย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมองโลกในแง่ดีกันอยู่ โดยหุ้นของ Waste Management ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28% ในปีที่แล้ว ตัวอย่างเช่น Houston บริษัทนี้ขาดทุนปีละ 1 ล้านเหรียญ ระหว่างการเจรจาสัญญาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น Houston กำลังพิจารณาจะยกเลิกการรีไซเคิลทั้งหมดดีกว่ายอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษสุดท้ายแล้ว Houston ก็ตกลงทำสัญญาโดยจะจ่ายเงินให้กับ Waste Management ปีละ 3 ล้านเหรียญเป็นค่ารีไซเคิล แต่ขอยกเลิกบริการเก็บขวดแก้วออกไป (การบดแก้วให้ละเอียดมีค่าใช้จ่ายกว่า 100 เหรียญต่อตันและมีผู้สนใจซื้อเพียงไม่กี่คนเท่านั้น) หลุมฝังขยะมีค่าใช้จ่ายเพียง 27 เหรียญต่อตัน และขวดแก้วที่ฝังกลบไว้นั้นก็ไม่ได้ส่งสารเคมีเป็นพิษอะไรออกมาด้วย แต่ถ้าหากนำแก้วไปรีไซเคิล Houston จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกปีละ 1 ล้านเหรียญเมื่อไม่มีขวดแก้วแล้ว Waste Management ก็หันมาจดจ่ออยู่กับวัสดุมูลค่าสูงได้ง่ายขึ้น
ปีที่แล้ว EPA ได้ทำการศึกษา “พลังงานที่ฝังตัวอยู่” ของวัสดุนานาชนิดตลอดจนอัตราการประหยัดพลังงานหากนำวัสดุเหล่านั้นมารีไซเคิล พระเอกของงานคืออะลูมิเนียม เพราะในการผลิตโลหะชนิดนี้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก แต่ในการแปรรูปให้กลับมาเป็นกระป๋องใบใหม่กลับใช้ไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กระป๋องอะลูมิเนียมทุกๆ 1 ตันบรรจุพลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน 26 บาร์เรล มูลค่าพลังงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากราคาเศษอะลูมิเนียม 1 ตัน ซึ่งมีราคาสูงถึง 1,200 เหรียญ ส่วนวัสดุอื่นๆ ที่รีไซเคิลแล้วคุ้มประกอบไปด้วย ลวดทองแดง ซึ่ง 1 ตันมีพลังงานเท่ากับน้ำมัน 14 บาร์เรล พลาสติกผสมเท่ากับ 7 บาร์เรล คอมพิวเตอร์ PC เท่ากับ 5 บาร์เรล กระป๋องโลหะเท่ากับ 4 บาร์เรล และหนังสือพิมพ์เท่ากับ 3 บาร์เรลเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า แก้วมีมูลค่าพลังงานเท่ากับน้ำมันครึ่งบาร์เรลเท่านั้น
เท่ากับปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการขับรถไปยังบ่อขยะเลยทีเดียว แม้กระทั่งในโครงการ Ubergreen California เศษแก้วมี “มูลค่าติดลบ” ตันละ 6 เหรียญ ข้อมูลจาก Container Recycling Institute ระบุว่า California มีศูนย์รีไซเคิล 800 แห่งที่ต้องปิดตัวลงไปนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด แต่แน่นอนว่า เมืองที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเอามากๆ บางแห่งก็ไม่สนใจสัญญาณตลาดดังกล่าว ในโครงการนำร่องโครงการหนึ่ง New York City ยอมจ่ายเงิน 1,200 เหรียญต่อตันเป็นค่าเก็บขยะจากครัว รวมแล้วคิดเป็น 16,000 ตันนับตั้งแต่ปี 2014 “ถ้าคุณอยากได้อัตราการแปลงขยะสูงๆ และพร้อมที่จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เราก็ช่วยได้ครับ” Steiner บอก
“เราสามารถเปลี่ยนขวดของคุณกลับไปเป็นน้ำมันได้ จากนั้นก็เผาน้ำมันเพื่อให้พลังงานหรือจะให้เทใส่ในหลุมกลบขยะก็ได้ มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม กับความสัมพันธ์ของราคา ยิ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มากก็ยิ่งแพงมาก”
ในเวลานี้ ขยะมูลฝอยถูกนำไปฝังกลบมากกว่านำมารีไซเคิลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ Steiner ก็ไม่ได้วิตกกังวลอะไร Waste Management ลงทุนปีละ 400 ล้านเหรียญต่อปีในบ่อขยะ 249 แห่ง ซึ่งมีความสะอาดมากกว่าบ่อขยะในยุคก่อน และยังออกแบบเพื่อให้สามารถดักจับก๊าซมีเทนที่ออกมาจากขยะเน่าได้ด้วย บริษัทสร้างก๊าซจากบ่อขยะมากพอที่จะให้พลังงานแก่บ้านได้ถึง 470,000 หลัง เขาวาดฝันว่าจะมีสักวันที่บ่อขยะจะได้รับการแปรสภาพเป็น “เหมือง” ผลิตโลหะและพลาสติกออกมาได้มากกว่านี้และมีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราฝังกลบล้วนมีมูลค่าทั้งนั้น อาจจะมีสักวันที่เราก็แค่ลงมือขุดมันขึ้นมาและเข็นมันออกไป ถ้าถึงวันที่เราผลิตน้ำมันได้มูลค่า 200 เหรียญและประเทศจีนมีเศรษฐกิจโต 7% ก็อาจจะคุ้มค่าก็ได้นะครับ” Steiner กล่าว
คลิ๊กอ่านบทความทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559