กลไกเบื้องหลังสู่มหาเศรษฐีใหม่จากวงการ ไพรเวท อิควิตี้ - Forbes Thailand

กลไกเบื้องหลังสู่มหาเศรษฐีใหม่จากวงการ ไพรเวท อิควิตี้

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jul 2020 | 10:57 AM
READ 3936

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีคนรวยดังขึ้นเรื่อยๆ แต่มีกลุ่มนักเจรจาธุรกิจหัวใส จากวงการไพรเวท อิควิตี้ ใน Wall Street ได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการสร้างมูลค่าแก่ธุรกิจ และหลบเลี่ยงภาษีอย่างเงียบๆ สิ่งนี้ได้สร้างมหาเศรษฐีใหม่เป็นจำนวนมาก

The Gores Group หนึ่งใน ไพรเวท อิควิตี้ กำลังหาทางปิดข้อตกลงทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดในชีวิต ได้แก่เงินปันผล 10 หลักจากบริษัท Platinum Equity จาก Beverly Hills ที่ Alec Gores ไปลงทุนในบริษัทนอกตลาด ข้อตกลงทางธุรกิจดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างเงียบๆ ปราศจากการประโคมข่าว หรือแถลงกับสื่อมวลชน มีการประมาณการกันว่า Alec Gores ใช้เงินจากหุ้น Platinum ร้อยละ 15 ไปกับบริษัท Dyal Capital Partners ซึ่งจะทำเงินจำนวน 1 พันล้านเหรียญให้กับเขาในระยะเวลา 4 ปี ธุรกรรมนี้ทำให้ Alec Gores (ผู้ที่ตอนนี้มีสินทรัพย์คิดเป็นมูลค่า 5.6 พันล้านเหรียญภายหลังธุรกรรมดังกล่าว) รับเงินก้อนโตเข้ากระเป๋าและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่บริษัทของเขาที่เขายังคงเป็นผู้ควบคุมและสามารถเลี่ยงภาษีได้พร้อมๆ กัน แต่ไม่ใช่มีแค่เขาคนเดียวที่ทำเช่นนี้ ข้อมูลจาก PitchBook เปิดเผยว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดไม่น้อยกว่า 60 แห่งที่ใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ นั่นคือขายหุ้นสามัญออกไปในจำนวนที่เล็กน้อยมากในมูลค่าที่ดึงดูดใจ เฉพาะปีนี้มีการระดมทุนจากข้อตกลงในลักษณะนี้แล้วกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ ครึ่งหนึ่งมาจาก Dyal บริษัทลูกของ Neuberger Berman บริษัทจัดการกองทุนรายใหญ่จาก New York ที่เหลือเป็นการดำเนินการจากบริษัทอื่นๆ รวมถึงจากกลุ่ม Blackstone Group, Goldman Sachs และ Jefferies รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของสหรัฐฯ  

Clearlake Capital

สำนักงานของ Gores ใน Santa Monica รัฐ California ที่นี่ José E. Feliciano และ Behdad Eghbali นั่งบริหาร Clearlake Capital บริษัทขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์ไม่มากไม่น้อยคือ 1 หมื่นล้านเหรียญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ Feliciano เติบโตที่เมือง Bayamón ที่มีหนังหมูทอดขึ้นชื่อในเปอร์โตริโก ก่อนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Princeton ส่วนอีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง Eghbali เกิดที่ประเทศอิหร่าน เขาเดินทางมาสหรัฐฯ ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวในปี 1986 เมื่ออายุได้ 10 ขวบกับพ่อแม่ของเขาที่ต้องการเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในสงครามอิหร่าน-อิรัก เมื่อเรียนจบเป็นบัณฑิต ทั้ง Feliciano และ Eghbali ตรากตรำทำงานที่ TPG Capital ซึ่งเป็นบริษัท PE ที่เก่าแก่ ก่อนจะจับมือกันก่อตั้ง Clearlake Capital ในปี 2006 จากคำบอกเล่า บริษัทของพวกเขามักจะเข้าซื้อหุ้นบริษัทซอฟต์แวร์ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่มีใครรู้จักมากนัก และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ตัวอย่างเช่นกองทุนปี 2012 ของ Clearlake มีอัตราผลตอบแทนภายในสุทธิต่อปีสูงถึงร้อยละ 42.7 ดังนั้น ในขณะที่การซื้อขายหุ้นกำลังเติบโตอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว Clearlake จึงเตรียมพร้อมสำหรับสงครามการเสนอราคา Feliciano และ Eghbali ได้บริษัท Dyal และ Goldman Sachs มาร่วมทัพในหุ้นส่วนที่ประเมินมูลค่า Clearlake ที่ 4.2 พันล้านเหรียญ ทำให้ Feliciano วัย 46 ปี และ Eghbali วัย 43 ปี กลายเป็นมหาเศรษฐีวงการลงทุนหุ้นนอกตลาดที่อายุน้อยที่สุด เหตุผลทางธุรกิจสำหรับข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นเหล่านี้มีมากมายรวมถึงการที่มีเงินสดหลั่งไหลเข้าสู่บริษัท PE เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนใหม่ สถาบันต่างๆ มักยืนกรานให้บริษัทยอมรับความเสี่ยงด้วยการนำเงินมาลงในกองทุน อย่างไรก็ตามสภาพคล่องอาจเป็นปัญหา โดยเฉพาะกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจได้ไม่นาน การขายหุ้นสามัญดังกล่าวเป็นการสร้างกระแสเงินสด ทำให้บริษัทมีทุนถาวรและช่วยแก้ปัญหาการส่งผ่านอำนาจการบริหารงานที่ซับซ้อน แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดข้อตกลงเหล่านี้ นั่นคือหลบเลี่ยงการชำระภาษี  

การลดหย่อนภาษีที่น่าขัน

ปัจจุบันบริษัท PE ได้รับการลดหย่อนภาษีชนิดที่น่าขันที่สุดในอเมริกา จากผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งอนุญาตให้บรรดาผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ชำระภาษีจากโบนัสส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากการซื้อขาย แทนที่จะเสียภาษีโดยคิดคำนวณจากรายได้ที่ได้รับ การผ่อนผันนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ให้ความสำคัญของความสามารถในการจัดการลงทุนของพวกเขาจึงได้จัดสรรผลประโยชน์ให้เท่าเทียมกับนักลงทุนของบริษัทที่ได้กำไร ทั้งนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่พวกเขาได้เป็นหนามยอกอกของนักการเมืองมาแรมปี ในปี 2016 แม้แต่ Donald Trump ก็ได้แสดงการคัดค้านรูปแบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นการเปิดช่องให้ผู้บริหารบริษัท PE สามารถชำระภาษีในอัตราต่ำกว่าผู้มีรายได้อื่นๆ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ช่องทางภาษีดังกล่าวที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง (Stephen Schwarzman แห่ง Blackstone ถึงกับเปรียบเปรยความพยายามของประธานาธิบดี Obama ในการกำจัดผลประโยชน์ทางภาษีชนิดนี้ว่า ไม่ต่างกับการที่ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์) และยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับล่าสุด แต่ข้อตกลงทางธุรกิจใหม่ๆ ก็ยังเดินหน้าต่อไป พวกเขายังสามารถแปลงค่าธรรมเนียมการจัดการร้อยละ 2 (ซึ่งแยกจากอัตรามาตรฐานการมีส่วนในผลกำไรร้อยละ 20) จากรายได้ปกติไปเป็นกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับ วิธีการนั้นสามารถพิจารณากรณี Gores เป็นตัวอย่าง เมื่อเขาขายหุ้นส่วนน้อยแก่ Dyal เขายังได้มอบสิทธิในค่าธรรมเนียมการจัดการส่วนหนึ่งแก่ Dyal การทำเช่นนั้นทำให้รายได้ปกติกลายมาเป็นของกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ช่วยลดอัตราภาษีที่ต้องจ่ายสำหรับรายได้ปกติจากร้อยละ 37 ไปเป็นร้อยละ 23.8 เท่ากับเป็นการผัดผ่อนการชำระภาษีออกไปหลายปี “คำบอกเล่าแบบเป็นทางการ (ที่บอกกับหุ้นส่วนในวงจำกัด) ที่มักจะได้ยินคือ เราไม่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการจัดการ เราแค่หาเงินจากส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน” Ludovic Phalippou ศาสตราจารย์จาก Oxford ผู้เขียนหนังสือ Private Equity Laid Bare กล่าว “สิ่งนี้บอกว่า ผมไม่เพียงทำเงินจากส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน แต่ยังทำเงินมหาศาลจากค่าธรรมเนียมการจัดการด้วย”
คลิกอ่านฉบับเต็ม กลไกเบื้องหลังสู่มหาเศรษฐีใหม่จากวงการ ไพรเวท อิควิตี้ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine